ถ้าเป็นไปตามตำราฝรั่ง ทุกชุมชนจะต้องมีห้องสมุดประชาชน เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับแสวงหาความรู้จากการอ่านหนังสือ แต่ด้วยสังคมไทยไม่ใช่สังคมฝรั่ง อีกทั้งไม่เคยปกครองโดยฝรั่ง ชุมชนจึงมีวิวัฒนาการต่างออกไป กลายเป็นแบบไทยที่ไม่เหมือนใคร (ในโลกนี้)
เคยเล่าไปแล้วเรื่องห้องสมุดพุทธสถานที่เต็มไปด้วยหนังสือเก่าและตำราธรรมะ ห้องสมุดยูซิสที่เป็นหนังสือภาษาอังกฤษรูปสวย และหนังสือภาษาไทยโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ ซึ่งทั้งสองแห่งนี้ล้วนเป็นห้องสมุดตามแบบแผนฝรั่ง
แต่ผมยังมีห้องสมุดแบบไทยอีกแห่งหนึ่งที่มีหนังสือมากกว่าและทันสมัยกว่า ที่สำคัญเต็มไปด้วยหนังสือพิมพ์ นิตยสาร นวนิยายและการ์ตูน เพราะห้องสมุดแห่งนี้คือร้านขายหนังสือ อยู่ใต้โรงภาพยนตร์ บังเอิญเจ้าของร้านใจดี ปล่อยให้เด็กชายตัวเล็กๆ แวะเวียนไปเปิดอ่านหนังสือได้ตามที่อยาก
กิจกรรมของผมหลังรับประทานอาหารเย็นคือ ไปเดินเล่นหน้าโรงภาพยนตร์ที่อยู่ไม่ไกลจากบ้าน ใช้เวลาอ่านหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือการ์ตูน สักชั่วโมงสองชั่วโมง แล้วจึงกลับบ้านมาทำการบ้านและนอน เป็นกิจกรรมประจำทำเป็นปกติ ซึ่งบังเอิญไปตรงกับสิ่งที่ครูพร่ำสอน เรื่องคุณประโยชน์ของการอ่านหนังสือและการรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ (ฮา)
ครั้นเมื่อมีโอกาสเดินทางไปหลายประเทศก็พบว่าทั้งเด็กและผู้ใหญ่ล้วนทำแบบเดียวกัน คือแวะเวียนอ่านหนังสือฟรีตามร้านทั่วไป ร้านหนังสือบางแห่งถึงกับจัดที่นั่งให้อ่าน ใครจะอ่านจนจบเล่มโดยไม่ซื้อก็ยังได้ แต่ถ้าอ่านไปบ้างแล้วติดใจซื้อกลับบ้านก็ยิ่งดี มุมนิตยสารจะมีคนเปิดอ่านฟรีกันหนาแน่น โดยไม่มีใครว่าอะไร ไม่มีการห่อพลาสติกปิดสนิท เพราะในระบบฝากขายนั้น หนังสือ หนังสือพิมพ์และนิตยสารที่ขายเหลือสามารถส่งคืนได้อยู่แล้ว
เลยกลายเป็นว่ากิจกรรมอ่านหนังสือฟรีที่โรงภาพยนตร์ในวัยเด็กนั้นเป็นเรื่องดีมีประโยชน์และเป็นเรื่องสากล (ฮา)
เมื่อพูดถึงร้านหนังสือแล้ว คงต้องพูดถึงโรงภาพยนตร์บ้าง โรงภาพยนตร์ศรีนครพิงค์ในอดีต เหมือนจะเป็นศูนย์กลางกิจกรรมกลางคืนของคนเชียงใหม่ พื้นที่โดยรอบโรงภาพยนตร์นอกจากเป็นลานจอดรถยนต์บางส่วนแล้ว ยังมีพื้นที่เหลือสำหรับแผงลอยรถเข็นที่เปิดบริการขนมและอาหารนานาชนิด แบบว่ามีศูนย์การค้าหรือสวนอาหารในโรงภาพยนตร์ ไม่ต่างไปจากปัจจุบันที่มีโรงภาพยนตร์ในศูนย์การค้า
ในเมื่อช่วงเวลากลางวันนั้นไม่ค่อยมีคนมาชมภาพยนตร์ ร้านค้าจึงเปิดบริการตอนเย็นๆ ไปถึงดึก จนกลายเป็นความคึกคักยามราตรีที่มีผู้คนแวะเวียนมาประจำแม้จะไม่ประสงค์ชมภาพยนตร์
เช่นเดียวกันเมื่อมีโรงภาพยนตร์ก็ต้องมีการฉายภาพยนตร์ และต้องมีการเขียนป้ายโฆษณาภาพยนตร์ นักเขียนประจำโรงภาพยนตร์จึงกลายเป็นติวเตอร์สอนศิลปะ ยามว่างจากการเรียนและการเล่นผมมักจะไปด้อมๆ มองๆ บรรดาศิลปินนิรนามทำงาน นอกจากจะเขียนภาพขนาดใหญ่ได้อย่างสวยงามแล้ว ยังวาดได้เหมือนหรือหลายครั้งสวยกว่าตัวจริงในภาพยนตร์
โรงภาพยนตร์ศรีนครพิงค์จึงเป็นทั้งครัวสำหรับอาหารมื้อดึก ห้องสมุดสำหรับแสวงหาความรู้ และสถานศึกษาทางด้านศิลปะ ด้วยเหตุนี้ผมไม่เคยต่อว่าลูกศิษย์ ถ้าเขาจะวนเวียนอยู่ตามศูนย์การค้า ที่มีทั้งโรงภาพยนตร์ ศูนย์อาหารและร้านหนังสือ เพราะอาจารย์ก็เคยทำมาแล้ว (ฮา)
เสียดายว่าวันเวลาที่ผ่านไป เมื่อกระแสโทรทัศน์มาแรง โรงภาพยนตร์ศรีนครพิงค์ จึงเหมือนกับโรงภาพยนตร์เดี่ยวทั่วประเทศ กิจการไม่คึกคัก สู้โรงภาพยนตร์หมู่ในศูนย์การค้าไม่ได้ เป็นเหตุให้กิจกรรมโรยราไปตามกาลเวลา จนถึงขั้นเลิกกิจการเปลี่ยนมาเป็นเพียงลานจอดรถที่ทำรายได้ดีกว่า
ผู้เขียน : ปริญญา ตรีน้อยใส
นามปากกาของ ศ.ดร.บัณฑิต จุลาสัย
เจ้าของหนังสือด้านสถาปัตยกรรม ถูกยกย่องจาก Dictionnaire de L'Architecture du XXe Siecle, Editions Hazan, Paris 1996
เป็น 1 ใน 3 สถาปนิกไทยประจำคริสต์ศตวรรษที่ 20