Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ทล.เผย “มอเตอร์เวย์เชียงใหม่-เชียงราย” หากเป็นไปตามแผน 7 ปีแล้วเสร็จ

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

กรมทางหลวงได้จัดทำแผนกลยุทธ์การพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของไทย เพื่อศึกษาและกำหนดโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่เชียงใหม่ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญที่ได้รับการสนับสนุนให้มีการพัฒนาด้านการคมนาคมอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดโครงการลงทุนพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายเชียงใหม่-เชียงราย ที่กำลังทำการศึกษาด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อเลือกแนวเส้นทางที่เหมาะสม เป็นเรื่องที่ชาวเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงให้ความสนใจ ทีมงาน HBG จึงเกาะติดความคืบหน้าของโครงการแผนพัฒนาทางหลวงเชียงใหม่ปีงบประมาณ 2558 จาก “คุณก้องเกียรติ จันทร์หิรัญ” ผู้อำนวยการ สำนักทางหลวงที่ 1 (เชียงใหม่)

การดำเนินงานในปีงบประมาณ 2557 และแผนปีงบประมาณ 2558 เป็นอย่างไร

ในปีงบประมาณ 2557 สำนักทางหลวงที่ 1 (เชียงใหม่) ได้ดำเนินการตามแผนงานในการดูแลรักษาปรับปรุงพัฒนาเส้นทางสายหลักและจุดตัดทางแยกทั้งหมด 210 โครงการ งบประมาณกว่า 1,400 ล้านบาทดำเนินการแล้วเสร็จทุกโครงการ สำหรับปีงบประมาณ 2558 มีการสนอแผนพัฒนาทางหลวงทั้งหมด 537 โครงการ ประกอบไปด้วยโครงการเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวงย่านชุมชนและแหล่งท่องเที่ยว บำรุงเส้นทางที่ชำรุดหรือเสื่อมสภาพ พร้อมดูแลอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยบนทางหลวง งบประมาณรวม 3,600 ล้านบาท

ทั้งนี้งบประมาณจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ พระราชบัญญัติงบประมาณแผ่นดินและงบกระตุ้นเศรษฐกิจขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จกว่า 100 โครงการหรือประมาณร้อยละ 30 โดยใช้งบประมาณส่วนพระราชบัญญัติงบประมาณแผ่นดิน ส่วนโครงการที่เหลือรอการอนุมัติจากงบประมาณส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจ หากโครงการใดที่ยังไม่ดำเนินการภายในปีงบประมาณนี้จะดำเนินการในปีงบประมาณถัดไป

สำหรับแผนพัฒนาทางหลวงสายหลักที่จะดำเนินการภายในปีงบประมาณ 2558 คือโครงการขยายและปรับปรุงทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1095 สายเชียงใหม่-แม่มาลัย-ปาย-แม่ฮ่องสอน ถนนสายหลักที่เชื่อมการเดินทางระหว่างเมือง ปัจจุบันถนนบางช่วงเกิดความเสียหายและมีความคับแคบด้วยขนาด 2 ช่องจราจร ทำให้การเดินทางและการขนส่งสินค้ามีอุปสรรค

สำนักทางหลวงที่ 1 (เชียงใหม่) จึงเสนอโครงการดังกล่าวต่อกรมทางหลวง และได้พิจารณาเห็นชอบให้ขยายถนนเป็น 3 ช่องจราจรในย่านชุมชนและบริเวณทางลาดชัน จำนวน 17 จุด มีความยาวตั้งแต่ 3.8-8.7 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งหมดประมาณ 100 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 800 ล้านบาท ขณะนี้ทำการประกวดราคาหาผู้รับจ้างเรียบร้อยแล้วรอการอนุมัติงบจากรัฐบาล คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในเดือนมิถุนายน 2558และสิ้นสุดโครงการเดือนธันวาคม 2558 รวมระยะเวลาดำเนินการ 210 วัน

“คุณก้องเกียรติ จันทร์หิรัญ” ผู้อำนวยการ สำนักทางหลวงที่ 1 (เชียงใหม่)

ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานของสำนักงานทางหลวงที่ 1 (เชียงใหม่)

จากงบประมาณที่มีจำกัดในแต่ละปี กรมทางหลวงต้องกระจายงบประมาณที่ได้รับจากรัฐบาลไปยังสำนักทางหลวงทั้ง 18 แห่งทั่วประเทศ โดยพิจารณาถึงความจำเป็นเร่งด่วนของแต่ละโครงการ ซึ่งสัดส่วนการของบประมาณของแต่ละแห่งจะไม่เท่ากัน ดังนั้นแผนงานที่เสนอเข้าไปของบประมาณอาจพิจารณาให้บางส่วน ส่วนแผนงานที่ยังไม่ได้ดำเนินการในปีงบประมาณนั้นจะนำไปพิจารณาปีงบประมาณถัดไป

อีกสาเหตุหนึ่งที่สำคัญคือปัญหาการเมือง ที่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลทำให้หลายโครงการหยุดชะงักเพื่อรอการอนุมัติใหม่ บางโครงการต้องทำการศึกษาใหม่เนื่องจากข้อมูลการศึกษาเดิมไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน ทำให้เสียงบประมาณหลายครั้งและการดำเนินงานไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เกิดความล่าช้าไม่ต่อเนื่อง

ความคืบหน้าแผนการลงทุนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายเชียงใหม่-เชียงราย

กรมทางหลวงเคยศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายเชียงใหม่-เชียงราย ตามแผนแม่บททางหลวงพิเศษระหว่างเมืองที่องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) เคยศึกษาเมื่อปี 2545 ผลการศึกษาพบว่ายังไม่คุ้มค่ากับการลงทุนจึงชะลอโครงการนี้ไป

ต่อมาในปี 2554 กรมทางหลวงได้จัดทำแผนกลยุทธ์การพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของประเทศไทยขึ้น เพื่อศึกษาและกำหนดระบบโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน และเตรียมพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยได้ปรับปรุงแผนแม่บท-แผนดำเนินงานการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

ทั้งนี้ในมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่เมื่อ 15 มกราคม 2555 ณ จังหวัดเชียงใหม่ มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเชียงใหม่-เชียงราย เส้นทางที่จะกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค เชื่อมโยงระหว่างเมืองศูนย์กลางภาคเหนือไปยังประเทศเพื่อนบ้านในพื้นที่สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ประกอบด้วยไทย พม่า ลาวและจีนตอนใต้ ส่งผลให้การพัฒนาด้านเศรษฐกิจเกิดความเจริญอย่างรวดเร็ว

กรมทางหลวงเล็งเห็นความสำคัญ จึงได้จัดงบประมาณกว่า 30 ล้านบาทจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา คือบริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท วี เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท พรี ดีเวลลอปเมนท์ คอนซัลแตนท์ จำกัด ทำการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อคัดเลือกแนวเส้นทางรูปแบบที่เหมาะสมและการออกแบบเบื้องต้น โดยเริ่มศึกษาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม2557 และจะสิ้นสุดในเดือนพฤศจิกายน 2558 รวม 18 เดือน โดยให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม (Public Participation) ตลอดระยะเวลาการศึกษาของโครงการ

ความคืบหน้าของผลการศึกษาและแนวเส้นทางที่เหมาะสมของโครงการ

จากการสอบถามเพิ่มเติมไปยังส่วนแผนงานกรมทางหลวงได้เปิดเผยกับทีมงาน HBG ว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปแนวเส้นทางที่เหมาะสมของโครงการได้ แต่ได้กำหนดแนวเส้นทางที่พิจารณาความเหมาะสมร่วมกับข้อมูลด้านผังเมือง การใช้ประโยชน์ที่ดิน การจราจรและสิ่งแวดล้อม สามารถกำหนดแนวเส้นทางเบื้องต้นได้ 2 แบบ ได้แก่ แนวเส้นทางที่ 1 ช่วงจังหวัดลำปาง เป็นเส้นทางแนวเหนือ-ใต้ตามแนวภูมิประเทศระหว่างร่องเขา วิ่งแนวใกล้เคียงกับทางหลวงหมายเลข 1157 เริ่มต้นที่ตำบลแม่สุก อำเภอแจ้ห่มมาทางทิศใต้ ผ่านตำบลแจ้ซ้อน, เมืองปาน, บ้านขอ, ทุ่งกว๋าว, บ้านค่า, บ้านเอื้อม, บ้านเปา, หนองหล่ม, ปงยางคก, ปงแสนทอง, ลำปางหลวง, ท่าผาสิ้นสุดที่ตำบลศาลา อำเภอเกาะคา รวมระยะทาง 75.70 กิโลเมตร

แนวเส้นทางที่ 2 ช่วงเส้นทางจังหวัดเชียงราย เป็นเส้นทางแนวเหนือ-ใต้ตามแนวภูมิประเทศระหว่างเทือกเขาที่อยู่ด้านทิศตะวันตกและหนองหลวงที่อยู่ด้านทิศตะวันออก เริ่มที่ตำบลดอนศิลา อำเภอเวียงชัยมาทางทิศใต้ ผ่านตำบลห้วยสัก, ดอยลาน, แม่อ้อ, สันมะเค็ด, ดอยงาม, เวียงห้าว, หัวง้ม สิ้นสุดที่ตำบลทานตะวัน อำเภอพาน รวมระยะทาง 41.47 กิโลเมตร

จากนั้นได้กำหนดแนวเส้นทางเลือกของโครงการทั้งแนวตะวันออก-ตะวันตก (EW) และแนวเหนือ-ใต้ (NS) อย่างละ 3 แนวทางเลือกเพื่อนำมาพิจารณาเปรียบเทียบ โดยกำหนดเกณฑ์การคัดเลือก 3 ด้าน ได้แก่ ด้านวิศวกรรมและจราจร ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน และด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยทางเลือกที่ได้คะแนนสูงสุดจะเป็นแนวเส้นทางของโครงการ คาดว่าผลการคัดเลือกจะสามารถสรุปได้ภายในเดือนมิถุนายน 2558

เมื่อได้ผลการศึกษาและแนวเส้นทางที่เหมาะสมแล้วจะส่งให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาเพื่ออนุมัติโครงการ ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี หากได้รับการอนุมัติจะเข้าสู่กระบวนการออกแบบรายละเอียดโครงการประมาณ 1 ปี และส่งให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาอีกครั้ง ก่อนดำเนินการก่อสร้างอีกประมาณ 3 ปี รวมระยะเวลาดำเนินการประมาณ 6-7 ปี

ปัจจุบันเชียงใหม่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุน ดังนั้นการคมนาคมภายในจังหวัดและระหว่างจังหวัดจึงต้องมีความพร้อม สามารถรองรับการขยายตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการพัฒนาโครงการต่างๆ จะต้องศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เพื่อสะท้อนความต้องการ ข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็น ให้การพัฒนาสอดคล้องกับความต้องการอย่างแท้จริง

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร