Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

“ทัศนัย บูรณุปกรณ์” มุ่งพัฒนาเวียงพิงค์ สู่เมืองคุณภาพชีวิตที่ดี

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

หลายปีที่ผ่านมาเมืองเชียงใหม่มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้เชียงใหม่กลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภาคเหนือตอนบน และไม่อาจปฏิเสธได้ว่าความเจริญทำให้บริบท วิถีชีวิตของเชียงใหม่เปลี่ยนไป การพัฒนาทั้งด้านวัฒนธรรม, สิ่งแวดล้อมและ, คุณภาพชีวิตของประชาชนเริ่มได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของเมือง

ทั้งนี้เทศบาลนครเชียงใหม่ นับเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการบริหารจัดการเมืองเชียงใหม่ โดยการบริหารงานในสมัยที่ 2 ของ “คุณทัศนัย บูรณุปกรณ์” นายกเล็กแห่งสภาเจดีย์ขาว กับการสานต่อนโยบายและพร้อมผลักดันนโยบายใหม่ มีอะไรที่น่าสนใจติดตามได้ในHBGฉบับนี้

การดำเนินงานในสมัยที่ผ่านมาและแผนในการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ในสมัยที่ 2 เป็นอย่างไร?

4 ปีที่ผ่านมา ได้ยึดหลักการพัฒนาเมืองเชียงใหม่มุ่งเน้น 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ, สังคม, วัฒนธรรมและ, สิ่งแวดล้อม เนื่องจากในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเน้นการพัฒนาในด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ คนมีรายได้สูงขึ้น คนยากจนน้อยลง แต่ขณะเดียวกันอีก 3 ด้านที่เหลือนั้นพัฒนาได้ไม่เต็มที่

การดำเนินการงานในสมัยที่ผ่านมามีการพัฒนาในหลายๆ ด้าน ทั้งการเพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะ 4 แห่ง, การปรับปรุงนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน บนถนนท่าแพและถนนช้างคลาน, การเปิดพิพิธภัณฑ์แสดงประวัติศาสตร์ล้านนาเพิ่ม 2 แห่งและการฟื้นฟูและพัฒนาคลองแม่ข่าโดยการมีส่วนร่วมกับประชาชน

ส่วน 4 ปีต่อจากนี้ การยังคงจะใช้แผนพัฒนา 4 ด้านนี้ไปพร้อมๆ กับ 9 นโยบายที่หาเสียงไว้ ได้แก่ 1.เพิ่มความปลอดภัย ด้วยการโซนนิ่งพื้นที่ และติดตั้งกล้องวงจรปิด, 2.คุณภาพชีวิต สังคม สิ่งแวดล้อม เชียงใหม่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นจะต้องมีทุนตรวจสุขภาพทุกปี และสานต่อเชียงใหม่เมืองสะอาด ลดขยะเปลี่ยนเป็นพลังงาน เพิ่มคุณภาพคลองแม่ข่า, 3.ส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น ตอนนี้หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา ทำเสร็จแล้ว และจะทำนครเชียงใหม่ ตรงเขตเป็นเมืองเก่าเมืองมรดกโลก, 4.โครงสร้างพื้นฐาน เน้นสายไฟฟ้าลงใต้ดินที่ ถ.ท่าแพ ถ.ช้างคลาน, 5.แก้ปัญหาอุทกภัย ทั้งนี้พยากรณ์อากาศจะต้องคาดการณ์ได้เพื่อคุ้มครองเชียงใหม่จากอุทกภัย, 6.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการชุมชน, 7.เศรษฐกิจนครเชียงใหม่คือการท่องเที่ยว โดยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้มากขึ้นและอยู่นานขึ้น, 8.ด้านการศึกษา ให้เด็กเป็นศูนย์กลางการเรียน เพิ่มการเรียนภาษาจีน นอกจากภาษาอังกฤษและส่งเสริมประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและ, 9.ขนส่งมวลชน ถ้ารวมจำนวนยานยนต์ คนเชียงใหม่มีน้อยกว่ารถ เพิ่มความสะดวกของขนส่งมวลชน ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว

เทคบาลนครเชียงใหม่

เทศบาลนครเชียงใหม่จัดโซนนิ่งในการพัฒนาเมืองอย่างไร?

จังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 50,000 ตารางกิโลเมตร จำนวนประชาการที่มีสำมะโนครัว ประมาณ 1.5 ล้านคน ส่วนพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่มีพื้นที่ประมาณ 40 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 14ตำบล ได้แก่ ตำบลหายยา, ตำบลช้างม่อย, ตำบลศรีภูมิ, ตำบลวัดเกต, ตำบลช้างคลาน, ตำบลพระสิงห์, ตำบลสุเทพบางส่วน, ตำบลป่าแดดบางส่วน, ตำบลฟ้าฮ่าม, ตำบลหนองป่าครั่ง(บางส่วน), ตำบลท่าศาลา(บางส่วน), ตำบลป่าตัน, ตำบลหนองหอย(บางส่วน)และ, ตำบลช้างเผือก(บางส่วน)

จำนวนประชากรที่มีสำมะโนครัวอยู่พื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่ประมาณ 1.4 แสนคน หากรวมประชากรแฝงอพยพมาอาศัยมีไม่ต่ำกว่า 3 แสนคน จะเห็นได้ว่าพื้นที่ไม่ถึงร้อยละ 1 ของพื้นที่จังหวัดทั้งหมดประชากรอยู่ร่วมกว่าร้อยละ 10 นี่เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ว่า ทำไมเทศบาลนครเชียงใหม่จึงมีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการเมืองให้เป็นระบบระเบียบ ซึ่งนโยบายทั้ง 4 ด้าน ได้นำมาเป็นกรอบในการจัดการกับกลุ่มประชากรที่มาอยู่รวมกันในเมืองนี้และเคารพในกติกาในการอยู่ร่วมกัน

เชียงใหม่ในอนาคตมีแนวโน้มความหนาแน่นประชากรเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประชากรแฝงเนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองที่ผู้คนเข้ามาแสวงหาโอกาสเสมอทั้งมาทำงาน, เรียนหนังสือ เพราะเป็นเมืองเศรษฐกิจรองจากรุงเทพมหานคร            เทศบาลนครเชียงใหม่มีเป้าหมายที่จะพัฒนาเมืองเชียงใหม่ให้มีความเจริญ แต่ความเจริญดังกล่าวจะต้องไม่ทำลายวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น

สิ่งที่ดำเนินการแล้วคือ การอนุรักษ์เขตเมืองเก่า มีเทศบัญญัติกำหนดมาตรการควบคุมการพัฒนาพื้นที่ในเขตคูเมืองโบราณและพื้นที่อื่นๆ ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ควบคุมความสูงของอาคารไม่เกิน 12 เมตร รูปลักษณ์ สีสันของอาคารในเขตเมืองเก่าที่มีเอกลักษณ์ความเป็นล้านนา นอกเขตเมืองเก่าคุมความสูงไม่เกิน 23 เมตร

นอกจากนั้นเชียงใหม่ยังเป็นเมืองท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ต้องการเห็นถึงวัฒนธรรม วิถีชีวิตของความเป็นล้านนาดังนั้นเราต้องช่วยรักษาไว้ เราจึงมีหน้าที่ทำให้เมืองดีขึ้นกว่าเดิม แล้วส่งให้กับคนรุ่นต่อไป จึงเกิดเทศบัญญัติขึ้นมาใหม่เพราะอยากให้เป็นเมืองที่มีคุณภาพ คนอยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี และส่งต่อเมืองที่งดงามแห่งนี้ให้คนรุ่นต่อไป

คุณทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเล็กแห่งสภาเจดีย์ขาว

มีการเตรียมตัวก่อนการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างไร?

สิ่งที่เป็นห่วงคือเรื่องของคนที่มาอยู่รวมกันจำนวนมากจะอยู่กันอย่างไร เพราะหากมีการเปิดเสรีทางการค้าการลงทุนมากเท่าไหร่ การจัดการบ้านเมืองก็ต้องเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น ทั้งเรื่องความปลอดภัย ที่เราเตรียมการไว้คือระบบกล้องวงจรปิดเพื่อป้องกันเหตุร้าย, ด้านสุขภาพ มีการตรวจสุขภาพประชาชนในเขตเทศบาลเพื่อจะได้รักษาทันท่วงที หากใครเป็นโรคที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตฉับพลันหรือการพัฒนาสวนสุขภาพสำหรับคนเมือง, ด้านสิ่งแวดล้อมของเมืองมีการปรับปรุงระบบระบายน้ำและลดปัญหาขยะล้นเมือง รวมไปถึงการรักษาเมืองเก่าและวิถีชีวิตของคนล้านนาให้คงอยู่ สิ่งเหล่านี้ก็คือแนวทางการพัฒนาใน 4 ด้าน ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น

ดังนั้นในบทบาทของเทศบาลนครเชียงใหม่ เราจะพยายามควบคุมให้เมืองเราเป็นเมืองที่อยู่แล้วปลอดภัย อยู่แล้วมีการพัฒนาโดยที่ไม่ไปกระทบต่อวัฒนธรรมและวิถีชีวิตหรือต้องพัฒนาไปพร้อมกับการอนุรักษ์ควบคู่กันไป

เทศบาลนครเชียงใหม่มีนโยบายหรือข้อแนะนำในการพัฒนา อสังหาริมทรัพย์อย่างไรบ้าง?

ภาพความเจริญเติบโตของเชียงใหม่จากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ดี แสดงให้เห็นถึงความเป็นเมืองที่มีการพัฒนา สิ่งที่เทศบาลนครเชียงใหม่จะสามารถสนับสนุนในด้านอสังหาริมทรัพย์ได้นั้น ก็คือเรื่องระเบียบการในการขออนุญาตก่อสร้างที่จะต้องมีความรวดเร็วขึ้นเพื่อให้ธุรกิจสามารถขับเคลื่อนได้ โดยจะดูเรื่องการใช้ประโยชน์ของอาคารเป็นหลัก

การออกเทศบัญญัติควบคุมเมืองเก่าเพื่อรักษาวัฒนธรรมความเป็นเมืองเชียงใหม่ให้คงอยู่ อีกทั้งยังเป็นการวางแผนการจัดการระบบโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น ถนน, ระบบระบายน้ำ, การจัดเก็บขยะ, รวมถึงระบบรักษาความปลอดภัย ในการรองรับการพัฒนาเมืองให้เหมาะสมกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นและเข้าถึงแหล่งที่อยู่อาศัยนั้นๆ

การออกเทศบัญญัติอาจไม่ใช่ยาวิเศษที่จะแก้ปัญหาได้ทั้งหมด แต่จะช่วยลดปัญหาลง หากเรามีการจัดโซนนิ่งที่ดีจะส่งผลให้การวางแผน การจัดการเมืองดีไปด้วย อาทิเช่น จัดแบ่งเป็นย่านโรงแรม ย่านที่อยู่อาศัย จะทำให้สามารถทราบได้ว่าขยะจะเป็นประเภทไหนมาจากที่ไหนและควรบริหารจัดการอย่างไร การวางแผนเรื่องสิ่งแวดล้อมเรื่องคุณภาพชีวิตก็จะดีขึ้นด้วย

อนาคตที่วาดหวังให้เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองที่น่าอยู่ ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ต้องอาศัยปัจจัยหลายๆด้าน คนหลายๆ ฝ่ายร่วมมือกัน โดยยึดหลักแนวทางปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน แม้จะมีเสียงส่วนน้อยในส่วนมากที่มองเห็นต่าง แต่อย่างไรการพัฒนาก็ต้องดำเนินต่อไปอย่างดีที่สุด อีกหนึ่งบททดสอบนายกเล็กแห่งนครเชียงใหม่คนนี้ กับการกุมความหวังของประชาชนให้ถึงฝั่งฝันได้อย่างตั้งใจ.....

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร