กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ประกอบด้วย4 จังหวัดได้แก่ เชียงใหม่, ลำพูน, ลำปางและแม่ฮ่องสอน มีพื้นที่ครอบคลุมกว่า 50,000 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับกลุ่มประเทศอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง ลาว, พม่า, จีน ที่สามารถเชื่อมโยงการค้า-การลงทุนสู่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งยังเป็นกลุ่มที่มีบทบาทด้านเศรษฐกิจมากที่สุดในภาคเหนือโดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ เป็นจังหวัดที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด ส่งผลให้รัฐบาลทุ่มเม็ดเงินของโครงการ 2 ล้านล้านให้กลุ่ม 4 จังหวัดไม่น้อย เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง, รถไฟทางคู่สายใหม่, ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนที่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่จะมาถึงในปี 2558 นี้
หอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 นับหน่วยงานที่มีบทบาทในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจการค้าการลงทุนของกลุ่มจังหวัดรวมกัน โดยมีคุณณรงค์ คองประเสริฐ เป็นประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ซึ่งทีมงาน HBG ฉบับนี้ได้มีโอกาสพูดคุยเกี่ยวกับทางการพัฒนาเศรษฐกิจของภาคเหนือรวมถึงจังหวัดเชียงใหม่ไว้อย่างน่าสนใจ
ภาวะเศรษฐกิจของภาคเหนือและจังหวัดเชียงใหม่เป็นอย่างไร
จากสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศกำลังอยู่ในช่วงชะลอตัว เนื่องจากกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ได้แก่ ด้านการลงทุนภาครัฐชะลอตัว รัฐบาลมีความไม่มั่นคงสูงเนื่องจากปัญหาเรื่องการเมือง การลงทุนจากต่างประเทศ และการลงทุนของภาคเอกชนก็ชะลอตัวเพื่อรอดูความชัดเจนของรัฐบาล การลงทุนทางอ้อมเช่นในตลาดหุ้นทำให้เงินไหลออกนอกประเทศกว่าแสนล้านต่อปี
ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนกำลังซื้อลดลง เนื่องจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประชาชนมีการบริโภคค่อนข้างมากจากปัจจัยเสริมนโยบายภาครัฐเช่นรถยนต์คันแรก ทำให้ปัจจุบันเกิดปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่สูงขึ้น เชื่อว่าเป็นเงินกู้ในระบบอยู่ประมาณร้อยละ 20 ส่วนเงินนอกระบบอีกประมาณร้อยละ 30-40 เมื่อหนี้สินต่อครัวเรือนสูงขึ้น ประกอบกับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่สูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อภาครัวเรือนลดลง สิ่งเหล่านี้เป็นหลายกลไกที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยชะลอตัว
สำหรับในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ภาวะชะลอตัวน้อยกว่าภูมิภาคอื่นๆ เพราะโครงสร้างด้านเศรษฐกิจมีความหลากหลาย ไม่ได้พึ่งพาสินค้าหรืออุตสาหกรรมชนิดใดชนิดหนึ่ง ทำให้การชะลอตัวไม่ได้รับผลกระทบกับทุกกลุ่มธุรกิจ อาทิ ด้านการท่องเที่ยว หลังจากเปิดเส้นทางสาย R3A พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนเข้ามาในเชียงใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี เดิมปี 2555 มีประมาณ 150,000 คน ปี 2556 เพิ่มขึ้นร้อยละ 80 หรือประมาณ 270,000 คน และในปี 2557 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 30 หรือกว่า 350,000 คน
ด้านการส่งออกโดยเฉพาะการสินค้าภาคเกษตรและเกษตรแปรรูปดีอย่างต่อเนื่องอีกทั้งธุรกิจด้านสุขภาพ การศึกษา และการค้าชายแดนที่ยังมีแนวโน้มสดใสและหากในอนาคตมีการเปิดจุดผ่อนปรนชายแดนกิ่วผาวอก อำเภอเชียงดาวและจุดผ่อนปรนห้วยต้นนุ่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นเส้นทางแนวพื้นที่เศรษฐกิจเชื่อมไปยังประเทศพม่า คาดว่าจะมีบทบาทต่อเศรษฐกิจของภาคเหนือ จะส่งผลให้เศรษฐกิจของภาคเหนือตอนบน 1 ดีขึ้นไปด้วย
คุณณรงค์ คองประเสริฐ เป็นประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน
สภาวะการลงทุนในจังหวัดเชียงใหม่เป็นอย่างไร
เชียงใหม่ถือเป็นจังหวัดที่มีโครงสร้างเศรษฐกิจที่ดีประกอบด้วยด้านการท่องเที่ยวร้อยละ 30, อสังหาริมทรัพย์ร้อยละ 15, ค้าปลีก-ส่งร้อยละ 15, อุตสาหกรรมร้อยละ 15, การเกษตรร้อยละ 15 และ ด้านการศึกษาอีกร้อยละ 10 ที่ผ่านมาการลงทุนของภาคเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ห้างสรรพสินค้าพรอมเมนาดา, ห้างเม-ญ่า, เซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่รวมไปถึงคอนโดมิเนียมต่างๆ กว่า 60 แห่ง
ปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจกำลังชะลอตัวจากสถานการณ์ทางการเมือง ดังนั้นนโยบายที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น นโยบายรถไฟความเร็วสูง หรือสำนักพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) ที่ดูแลศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ ล้วนอยู่ในแผนงบประมาณ 2 ล้านล้านบาทเกิดความไม่แน่นอน ส่งผลให้ภาคเอกชนชะลอการลงทุนรอความชัดเจน
ด้านอสังหาริมทรัพย์ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเชียงใหม่ตื่นตัวในการลงทุนมีการขออนุญาตก่อสร้างและกำลังดำเนินการก่อสร้าง ทั้งคอนโดมิเนียม, หมู่บ้านจัดสรร, ร้านค้าปลีก-ค้าส่งขนาดใหญ่, ห้างสรรพสินค้า หากสถานการณ์ทางการเมืองจบลงอย่างเร็วภายในช่วงไตรมาสที่ 1 หรือ 2 คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวในช่วงไตรมาสที่ 3 หรือ 4 นี้
ผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์ของจังหวัดเชียงใหม่ หอการค้าฯ ทำงานร่วมกับภาครัฐมาโดยตลอด ส่วนของผังเมืองควรใช้ในการควบคุมการเจริญเติบโตของเมืองในทิศทางที่ถูกต้อง แต่ไม่ควรไปควบคุมจนทำให้เสียโอกาสที่จะพัฒนา ดังนั้นต้องมีการสร้างความสมดุล
สำหรับที่ดินโดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ พบว่าราคาที่ดินเทียบแล้วถูกกว่าค่าก่อสร้าง หากเทียบกับเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ และภูเก็ตที่ราคาที่ดินจะสูงกว่าค่าก่อสร้าง อีกทั้งยังมีความพร้อมของระบบสาธารณูปโภคและระบบโลจิสติกส์ที่สะดวกสบาย ในอนาคตอาจมีคนจากประเทศพม่า, ญี่ปุ่นหรือผู้สูงอายุที่ไม่ชอบความแออัดของกรุงเทพฯ เข้ามาใช้ชีวิตแบบ Long Stay ในจังหวัดเชียงใหม่เพิ่มมากขึ้นก็ได้
การพัฒนาด้านเศรษฐกิจของเชียงใหม่ในสายตาภาคเอกชนเป็นอย่างไร
ที่ผ่านมาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานตลอดจนโครงการขนาดใหญ่หรือเมกะโปรเจ็กต์ที่มีความสำคัญจะได้รับความสนใจเมื่อมีความจำเป็นแล้วเท่านั้น เช่น สนามบินแห่งใหม่ มีโอกาสหรือไม่ที่จะขยาย เนื่องจากสนามบินแห่งเก่าค่อนข้างแน่นและอยู่ใกล้ตัวเมืองมากเกินไป เราไม่ได้หมายความว่าต้องรีบทำ แต่ควรต้องมีการศึกษาได้แล้ว เนื่องจากใช้เวลาในการเตรียมการพอสมควร
ส่วนถนนเชียงใหม่-ลำพูน ปัจจุบันเป็นถนน 4 ช่องจราจรนั้นอาจไม่เพียงพอเพราะรถติด เรามีโอกาสหรือไม่ที่จะขยายถนนเส้นนี้ หรือจะเป็นไปได้ไหมที่เราจะมีการเชื่อมโยงด้านวัฒนธรรม การศึกษา ด้านสาธารณสุขกับประเทศพม่าประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพในการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจของ AEC ในอนาคต ซึ่งควรจะริเริ่มขึ้นได้แล้ว
จังหวัดเชียงใหม่มีความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีนและ รัสเซียแล้วหรือยัง เราอาจจะต้องมีเรียนภาษาจีนหรือภาษาอังกฤษให้มากขึ้น เชียงใหม่จะต้องปรับให้เป็นเมืองแห่งการบริการมากกว่าขายสินค้าในอนาคต เราไม่ควรใช้เรื่องต้นทุนที่ต่ำ แต่ควรเน้นให้การขายเป็นเรื่องของการบริการให้มากขึ้น และควรเสริมศักยภาพในสิ่งที่ดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นด้านการท่องเที่ยว
ในปี 2557 หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ได้ผลักดันให้จังหวัดเชียงใหม่ทวงคืนความเป็นแชมป์ด้านวัฒนธรรมที่สำคัญในเรื่องของ ลอยกระทง, มหาสงกรานต์ล้านนา, ไม้ดอกไม้ประดับ เพราะถึงเวลาแล้วที่ควรจะปรับปรุงด้านการท่องเที่ยวและด้านการตลาดเพื่อดึงนักท่องเที่ยวกลับคืนมาแม้เศรษฐกิจไม่ดีคนอาจจะไม่เดินทางไปที่ยวต่างประเทศ ดังนั้นควรใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส ทำให้เชียงใหม่มีรายได้จากท่องเที่ยวมากขึ้น อีกทั้งศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ ที่หอการค้าฯ มีส่วนในการผลักดันมากว่า 18 ปี ลงทุนด้วยงบประมาณกว่า 3 พันล้านบาท ควรมีการบริหารจัดการโดยเฉพาะด้านการตลาดจากผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์จริงๆ อยากเห็นกิจกรรมในระดับนานาชาติมาลงที่เชียงใหม่ อย่างน้อยปีละ 2-3 ครั้ง จะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็ว
แม้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัวประกอบกับปัญหาการเมืองที่ผันผวนความร่วมไม้ร่วมมือและสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งของภาคเอกชนจะเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยผ่าวิกฤตเหล่านี้ไปได้ และที่สำคัญยิ่งนักธุรกิจจะต้องเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเองควบคู่ไปด้วย เพื่อเตรียมความพร้อมและพัฒนาขีดความสามารถทางธุรกิจให้ทัดเทียมนานาประเทศเมื่อเปิด AEC...