บ้านอยู่อาศัยเป็นปัจจัยพื้นฐานจำเป็นสำหรับชีวิตมนุษย์ในการสร้างความรู้สึกสงบ ผ่อนคลาย ช่วยแยกตัวออกจากคนแปลกหน้าและสิ่งแปลกปลอมเมื่อไม่ต้องการพบความเครียด พร้อมสร้างความเป็นส่วนตัวที่จะทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ ดังนั้น ทำเลที่ตั้งของบ้านพักอาศัยจึงมักอยู่ชานเมืองที่ไม่มีความวุ่นวาย ใกล้ชิดธรรมชาติ หรือถ้าอยู่บริเวณในเมืองก็จะแยกตัวออกด้วยการอยู่ในซอยลึกหน่อย หรือได้รับการออกแบบให้มีพื้นที่กันชนที่สามารถอยู่ได้อย่างสงบสมกับเป็นที่อยู่อาศัย
ความสงบผ่อนคลายสำหรับที่อยู่อาศัยมีปัจจัยสำคัญคือเรื่องคุณภาพเสียง การจะพักผ่อนหย่อนใจมีชีวิตส่วนตัวอยู่กับบ้านก็ต้องมีที่เงียบๆ แยกตัวออกจากความวุ่นวายและเสียงในบริเวณใกล้เคียง มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) ระบุไว้ว่า ย่านที่อยู่อาศัยไม่ควรมีระดับเสียงเกิน 50 เดซิเบล และในห้องนอนไม่ควรมีระดับเสียงเกิน 30 เดซิเบล จึงจะมีคุณภาพของการอยู่อาศัยที่ดี มีความสงบ ไม่มีเสียงรบกวนจนไม่สามารถหลับนอน หรือมีกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจผ่อนคลายความเครียดในที่อยู่อาศัยได้ ส่วนพื้นที่ที่ติดกับถนนสายหลักหรือเส้นทางรถไฟฟ้าสายต่างๆ แม้ว่าจะมีความสะดวกสบายในการเดินทาง แต่ก็แลกมากับการมีระดับเสียงเกินกว่า 70 เดซิเบลซึ่งเกินกว่ามาตรฐานของการเป็นย่านที่อยู่อาศัยคุณภาพดีไปมากทีเดียว การวางผังเมืองจึงต้องมีการจัดวาง Zoning ต่างๆ เพื่อกิจกรรมหลักในแต่ละพื้นที่ไม่รบกวนซึ่งกันและกัน จึงได้มีการแยกย่านที่อยู่อาศัยออกจากพื้นที่พาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม ทำให้แต่ละกิจกรรมสามารถดำเนินการของตนเองได้โดยมีโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ สนับสนุนอย่างมีประสิทธิภาพและไม่ส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจกรรมอื่น ๆ ที่มีความต้องการบรรยากาศแตกต่างกัน
เมื่อทำการค้นหาข้อมูลจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม พบว่าแผนที่ระดับเสียงในกรุงเทพมหานครที่ได้มีการวัดไว้ล่าสุดคือปี 2544 (รถไฟฟ้า BTS เปิดปี 2542) แทบจะทุกย่านในกรุงเทพมหานครมีเสียงดังเกิน 50 เดซิเบล (แผนที่เสียงของกรมส่งเสริมคุณภาพแวดล้อม) ที่จะพอเป็นย่านที่สงบ และเหมาะแก่การเป็นย่านอยู่อาศัยอยู่บ้าง คือช่วงกรุงเทพตอนเหนือแถบคลองสามวา วัดความดังอยู่ที่ต่ำกว่า 55 เดซิเบล เพราะพื้นที่เดิมเป็นไร่นาและสวนผลไม้ ทำให้การเจริญเติบโตของพื้นที่ยังไม่มากนัก รวมทั้งยังมี เขตอื่นๆ อย่างตลิ่งชัน บางแค บางขุนเทียน และมีนบุรี ที่ยังพอมีพื้นที่สงบถัดจากถนนใหญ่เข้าไปบ้าง และในปี 2559 รายงานการศึกษา ทดลองพัฒนาแผนที่มลพิษทางเสียง เลือกพื้นที่นำร่อง 3 บริเวณ ได้แก่ บริเวณสยามสแควร์ บริเวณถนนสี่พระยา-ถนนสุรวงศ์ และ บริเวณสวนลุมพินี พบว่า ค่าความดังเฉลี่ยของบริเวณสยามแควร์อยู่ที่ 71-93 เดซิเบล และจุดที่มีความดังสูงสุดอยู่ที่บริเวณใต้สถานีบีทีเอสสยาม บริเวณสวนลุมพินีมีค่าความดังเฉลี่ยอยู่ที่ 63-83 เดซิเบล โดยเฉพาะบริเวณถนนราชดำริ มีความดังเฉลี่ยสูงที่สุด สำหรับพื้นที่นำร่องบริเวณสี่พระยา – สุรวงศ์ มีค่าความดังเฉลี่ยอยู่ที่ 74-96 เดซิเบลโดยบริเวณที่มีค่าความดังเฉลี่ยสูงที่สุด คือบริเวณถนนสี่พระยา จะเห็นว่า พื้นที่ที่ใกล้กับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่อย่างถนนหลักหรือรถไฟฟ้าก็จะส่งผลต่อความดังเฉลี่ยที่มากขึ้นนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานครไม่ได้มีพื้นที่ใหญ่มากนัก อีกทั้งผู้คนก็ยังต้องทำกิจกรรมหลายประเภทที่ต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานแบบเดียวกัน จึงทำให้เห็นการพาณิชยกรรมอยู่ร่วมกับที่อยู่อาศัยจำนวนมาก เพราะต่างต้องการสาธารณูปโภคพอๆ กัน อีกทั้งคุณภาพเสียงยังไม่ได้รับการกำหนดให้เป็นหนึ่งในมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับตามกฎหมาย โดยบังไม่ได้มีกฎหมายหรือกฎกระทรวงมาช่วยรับประกันคุณภาพเสียงของที่อยู่อาศัยแต่อย่างใด ทำให้แต่ละโครงการทำไปตามวิจารณญาณของตนเอง เช่น จัดวางองค์ประกอบในผังบริเวณให้ส่วนพักอาศัยอยู่ถัดออกมาจากถนนสายหลัก การใช้พื้นที่เว้นว่างเป็นสวนหรือลานจอดรถ รวมถึงการเล่นระดับเพื่อเป็นพื้นที่กันชนจากมลภาวะทางเสียง และการใช้วัสดุกันเสียงรบกวนจากภายนอก แน่นอนว่า ย่อมเป็นต้นทุนที่โครงการต้องจ่ายเพิ่ม จึงส่งผลมาถึงราคาขายต่อผู้บริโภคต่อไป แถมยังไม่ได้รับประกันว่าจะมีระดับเสียงที่ได้ตามมาตรฐานอีกด้วย
มองหาบ้านเงียบสงบ เพื่อที่อยู่อาศัยของคุณ เพิ่มเติมได้ที่ Baania.com
เขียนโดย : รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา
หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อีเมล : [email protected]