ช่วงเวลานี้จะเห็นคนออกมาประกาศขายบ้านและที่ดินกันเป็นจำนวนมาก ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพราะตั้งแต่มีเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประกาศออกมาทำให้เจ้าของบ้านและที่ดินเกิดความกังวลใจในภาระค่าใช้จ่าย เรามาเจาะลึกในรายละเอียดหลักๆ เรื่องนี้กันดูนะครับ
คนธรรมดาอย่างเราๆ เอาเรื่องใกล้ตัวก่อนคือ ภาษีของบ้านพักอาศัย ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือที่พักอาศัยหลัก และที่พักอาศัยหลังอื่น
ที่พักอาศัยหลัก หมายถึง ที่พักอาศัยที่เราเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และเป็นเจ้าบ้านในทะเบียนบ้าน ซึ่งสามารถมีได้หลังเดียว ที่พักอาศัยอื่นๆ หมายถึง ที่พักอาศัยที่เราเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์
ภาระภาษีที่พักอาศัยหลัก อันนี้ดูไม่น่ากังวลใจเพราะถ้ามูลค่าทรัพย์สินตามราคาประเมินต่ำกว่า 50 ล้านบาทไม่ต้องเสียภาษี (ในประเทศไทยมีบ้านที่ราคาประเมินเกินกว่า 50 ล้านบาท อยู่ประมาณ 8,500 หลัง) อันนี้ถ้าใครต้องเสียคงไม่ต้องเป็นห่วง
แต่ที่น่าสนใจสำหรับคนที่เป็นนักลงทุนอยู่บ้างคือที่พักอาศัยหลังอื่น เพราะการเก็บจะเริ่มจากบาทแรกของมูลค่าทรัพย์สินเลย คือถ้าต่ำกว่า 5 ล้านบาท อัตราภาษีจะอยู่ที่ 0.03% และขยับไปตามช่วงระดับราคา แต่ถ้าเราให้เช่าถือเป็นการใช้เพื่อการพาณิชย์จะมีอัตราภาษีเพดานที่ 2% แบ่งตามมูลค่าทรัพย์สิน
แต่ในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง มีหลักการประเมินโดยที่ดินประเมินราคาตามราคาประเมินของภาครัฐ สิ่งปลูกสร้างแบ่งการประเมินตามประเภทสิ่งปลูกสร้าง บ้านตึก บ้านตึกครึ่งไม้ บ้านไม้ ซึ่งสามารถหักค่าเสื่อมได้ตามอายุการใช้งาน และตามประเภท แต่สิ่งที่จำเป็นต้องรู้คือ เราควรเก็บหลักฐานการสร้างบ้านเพื่อไว้แยกประเภทและบอกอายุเพื่อหักค่าเสื่อมไว้ด้วย
ดูข้อมูลแล้วไม่น่าจะต้องกังวลใจมาก เพียงแต่ต้องเตรียมตัวและหลักฐานให้พร้อม เพราะยังไงก็ต้องประกาศใช้แน่ๆ ไม่เกินปี 2561–2562 มีตารางแนบท้ายให้ดูรายละเอียดกันด้วย สำหรับคนที่มีบ้านหลายหลังก็ไม่ต้องกังวลนะครับ เพราะคิดอัตราภาษีเป็นหลังต่อหลังไม่เอามูลค่าทรัพย์สินมารวมกัน เว้นแต่คนที่อยู่ในบ้านแต่ละหลังจะมาเจอกันโดยไม่ตั้งใจ อันนี้เกิดเรื่องแน่นอนครับ!