ภ.บ.ท.5 ที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่าภาษีดอกหญ้านั้น มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ภาษีบำรุงท้องที่ และ ภ.บ.ท.5 เป็นแค่หนังสือรับรองการเสียภาษี ของผู้ครอบครองที่ดิน ให้กับหน่วยงานท้องถิ่น หรือ อบต. เท่านั้น ไม่ใช่เอกสารสิทธิ์แสดงความเป็นเจ้าของที่ดินแต่อย่างใด เพราะ ภ.บ.ท.5 ไม่ได้ออกโดยกรมที่ดิน จึงเป็นเพียงหลักฐานยืนยันรับรองการเข้าไปครอบครองที่ดินเพื่อทำประโยชน์ ทำไร่ทำนา ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ วันนี้เราจะพาไปรู้จักกับ ภ.บ.ท.5 ว่าคืออะไร มีรายละเอียดอะไรบ้าง กับบทความรู้จักกับ ภ.บ.ท.5 ภาษีดอกหญ้า มีที่มาที่ไปอย่างไร
ผู้ที่ครอบครองที่ดินเพื่อทำประโยชน์ ต้องมีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ ภ.ท.บ.5 ในทุกปี ที่ดินที่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ มีตั้งแต่พื้นราบ ภูเขา หรือพื้นที่ที่มีน้ำ และต้องไม่ใช่ที่ดินที่ได้รับยกเว้นภาษี โดยให้ทำการการยื่นแบบแสดงรายการที่ดิน ภ.บ.ท.5 ต่อเจ้าหน้าที่ในเขตที่ดินที่ตั้งอยู่ โดยอัตราการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ ภ.บ.ท.5 มีดังนี้
1. อัตราภาษีบำรุงท้องที่ ภ.บ.ท.5 นั้นได้กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติ แบ่งเป็น 34 อัตรา
2. ราคาปานกลางของที่ดินเกินไร่ละ 30,000 บาทแรก เสียภาษี 70 บาท
3. ส่วนที่เกินราคา 30,000 บาท ให้เสียภาษี 10,000 บาทต่อ 25 บาท
4. ที่ดินที่ใช้ประกอบการกสิกรรมประเภทไม้ล้มลุกให้เสียภาษีกึ่งอัตราด้วยตนเอง ไม่เกินไร่ละ 5 บาท ที่ดินที่ทิ้งให้ว่างเปล่า ไม่ทำประโยชน์ให้เสียเพิ่มขึ้น 1 เท่า
1. บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าของที่ดิน
2. สำเนาทะเบียนบ้าน
3. ใบเสร็จรับเงินที่ชำระภาษีครั้งสุดท้าย (ถ้ามี)
4. แบบแสดงรายการที่ดิน (แบบ ภ.บ.ท.5)
กรณีเจ้าของที่ดินไม่สามารถไปได้ด้วยตนเอง สามารถมอบอำนาจให้บุคคลอื่นไปดำเนินการแทนได้ โดยผู้รับมอบอำนาจต้องนำหนังสือมอบอำนาจ พร้อมบัตรประจำตัวประชาชน และหลักฐานตามด้านบนไปแสดง โดยการชำระค่าภาษีบำรุงท้องที่ไม่มีการเสียค่าธรรมเนียม
เจ้าของผู้ครอบครองที่ดินอาจจะต้องเสียเงินเพิ่ม นอกจากที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ ภ.บ.ท.5 จากกรณีดังต่อไปนี้
1. ไม่ทำการยื่นแบบแสดงรายการที่ดินภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้เสียเพิ่มร้อยละ 10 ของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ เว้นแต่กรณีเจ้าของที่ดินได้ยื่นแบบแสดงรายการที่ดิน ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะได้แจ้งให้ทราบถึงการละเว้นนั้น ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 5
2. ยื่นแบบแสดงรายการที่ดินไม่ถูกต้อง ทำให้จำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีลดน้อยลง ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 10 ของภาษีบำรุงท้องที่ เว้นแต่กรณีที่ได้มาขอแก้ไขแบบแสดงรายการที่ดินให้ถูกต้อง ก่อนเจ้าหน้าที่แจ้งการประเมิน
3. ชี้แนวเขตแจ้งที่ดินไม่ถูกต้องต่อเจ้าหน้าที่สำรวจ ทำให้จำนวนเงินเสียภาษีบำรุงท้องที่ลดลง ให้เสียเงินเพิ่มอีก 1 เท่า ของภาษีบำรุงท้องที่ที่ได้ประเมินเพิ่มเติม
4. ไม่ชำระภาษีบำรุงท้องที่ภายในเวลาที่กำหนด ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 24 ต่อปี ของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ เศษของเดือนนับเป็น 1 เดือน ทั้งนี้ ไม่ต้องนำเงินเพิ่มตามข้อ 1 ข้อ 2 หรือข้อ 3 มาคำนวณ เพื่อเสียเงินเพิ่ม โดยเงินเพิ่มให้ถือว่าเป็นภาษีบำรุงท้องที่
1. กรณีเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินในวันที่ 1 มกราคม ของปีที่มีการตีราคาปานกลางที่ดิน
- ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษี หรือผู้ครอบครองที่ดิน ต้องยื่นแบบแสดงรายการที่ดิน (ภ.บ.ท.5) พร้อมหลักฐานต่อเจ้าหน้าที่ประเมินภายในเดือนมกราคม
- เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบคำนวณภาษี แล้วจึงแจ้งการประเมิน (ภ.บ.ท.9 หรือ ภ.บ.ท.10) ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษี หรือผู้ครอบครองที่ดิน ทราบว่าจะต้องเสียภาษีจำนวนเงินเท่าไหร่ ภายในเดือนมีนาคม
- ผู้มีหน้าที่เสียภาษี หรือผู้ครอบครองที่ดิน ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ภายในเดือนเมษายนของทุกปี เว้นแต่จะได้รับใบแจ้งการประเมินหลังเดือนมีนาคม ให้ชำระภาษีภายใน 30 วัน นับจากได้รับแจ้งการประเมิน
2. กรณีเจ้าของที่ดิน หรือเป็นผู้ครอบครองรายใหม่ หรือมีจำนวนที่ดินเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- เจ้าของที่ดินที่มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนที่ดิน หรือเป็นผู้รับโอนที่ดิน ต้องยื่นแบบแสดงรายการที่ดิน หรือยื่นคำร้องขอเปลี่ยนแปลงจำนวนที่ดินต่อเจ้าหน้าที่ ภายในเวลา 30 วัน นับจากวันที่ได้รับโอน หรือมีการเปลี่ยนแปลงที่ดิน โดยใช้แบบ ภ.บ.ท.5 หรือ ภ.บ.ท.8 แล้วแต่เป็นกรณี
- เจ้าหน้าที่รับแบบแสดงรายการที่ดิน หรือแบบคำร้องแล้ว จะออกใบรับไว้ให้เป็นหลักฐาน และจะแจ้งให้ทราบว่า จะต้องเสียภาษีในปีต่อไปเป็นจำนวนเท่าไหร่
3. กรณีเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ในที่ดิน อันเป็นเหตุให้การลดหย่อนภาษีเปลี่ยนแปลงไป หรือมีเหตุอย่างอื่นอย่างใดที่ทำให้อัตราเสียภาษีบำรุงท้องที่เปลี่ยนแปลง
- ให้เจ้าของผู้ครอบครองที่ดิน ยื่นคำร้อง ภ.บ.ท.8 พร้อมแนบหลักฐานที่ต้องใช้แสดง ต่อเจ้าหน้าที่ภายใน 30 วัน นับจากวันที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ในที่ดิน
- เจ้าหน้าที่ได้รับแบบแสดงรายการที่ดิน หรือคำร้องแล้ว จะออกใบรับไว้ให้เป็นหลักฐาน และจะแจ้งให้ทราบว่า จะต้องเสียภาษีในปีต่อไปเป็นจำนวนเท่าไหร่
- การขอชำระภาษีบำรุงท้องที่ในปีถัดไป จากปีที่มีการประเมินราคาปานกลางที่ดิน ให้นำใบเสร็จรับเงินของปีก่อนไปชำระภายในเดือนเมษายนของทุกปี
ส่วนการขอเงินคืนจากการเสียภาษีบำรุงท้องที่ ให้ผู้ที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ โดยที่ไม่มีหน้าที่ต้องเสีย หรือผู้ที่เสียภาษีเกินกว่าที่ควร มีสิทธิ์รับเงินคืนภายในระยะเวลา 1 ปี โดยยื่นคำร้องขอคืนกับเจ้าหน้าที่ภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้เสียภาษีบำรุงท้องที่
แม้ ภ.บ.ท.5 จะไม่ใช่เอกสารสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของที่ดินโดยสมบูรณ์ แต่ก็สามารถสร้างบ้าน อาคาร หรือโรงเรือน บนที่ดินได้ โดยการยื่นคำร้องขออนุญาตปลูกสร้างอาคารที่ อบต. ในเขตที่ดินนั้นตั้งอยู่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่มาตรวจสอบ เมื่อได้ใบอนุญาตก่อสร้างจาก อบต. ก็นำไปดำเนินการขอออกเลขที่บ้านกับทางอำเภอ และดำเนินการขอใช้ไฟฟ้า ประปา ต่อไป ส่วนบ้านที่สร้างบนที่ดิน ภ.บ.ท.5 ให้ถือเป็นทรัพย์สิน สามารถนำไปใช้ในการจำนองได้
การครอบครองที่ดิน ภ.บ.ท.5 สามารถทำการซื้อขายได้ แต่จะเป็นการซื้อขาย แบบโอนกรรมสิทธิ์ในการครอบครองที่ดินเท่านั้น ไม่ใช่การซื้อขายเพื่อเป็นเจ้าของที่ดิน เป็นการสละเจตนาครอบครองที่ดิน โอนเปลี่ยนมือ โอนขาย ชำระราคา ส่งมอบการครอบครอง เปลี่ยนชื่อผู้อยู่ในใบเสียภาษี เป็นหนังสือสัญญาที่ใช้ยืนยันกัน ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายการครอบครอง ไม่สามารถใช้สัญญาฉบับนี้เป็นเอกสารยืนยันการเป็นเจ้าของได้ เพราะไม่ได้ทำสัญญาตามประมวลกฎหมายที่ดิน โดยการเปลี่ยนชื่อผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่ ภ.บ.ท.5 ทำได้ที่ อบต. ที่ที่ดินผืนนั้นตั้งอยู่ โดยเจ้าหน้าที่จะเป็นผู้เซ็นรับทราบ และลงชื่อเป็นพยานในสัญญา โดยขั้นตอนการเปลี่ยนชื่อผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่ ภ.บ.ท.5 ไม่มีการเก็บภาษีการโอนสิทธิ์หรือค่าธรรมเนียม
เอกสารภาษีบำรุงท้องที่ ภ.บ.ท.5 เป็นเพียงใบเสร็จในการเสียภาษี ไม่ใช่การรับรองสิทธิ์โดยกรมที่ดิน จึงมีความเสี่ยงได้ว่าที่ดินดังกล่าวอาจทับซ้อนกับที่ผืนอื่น หรือทับซ้อนกับที่สาธารณประโยชน์ เขตปฏิรูปที่ดิน หรือเขตป่าสงวนฯ หากเกิดกรณีข้อพิพาททางกฎหมาย เอกสาร ภ.บ.ท.5 จะไม่สามารถใช้ยืนยัน หรือคัดค้านการถูกยึดที่ดินจากรัฐได้ หรืออาจมีความคลาดเคลื่อนเรื่องขนาดที่ดินจากที่ระบุไว้ในเอกสาร เพราะเอกสาร ภ.บ.ท.5 ระบุเพียงที่ดินโดยประมาณ ไม่ได้มาจากการรังวัดตามหลักการของกรมที่ดิน สามารถตรวจสอบความชัดเจนของที่ดิน โดยขอตรวจสอบกับกรมป่าไม้ หรือกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ว่าที่ดินผืนนั้น ๆ มีพื้นที่ทับซ้อนหรือไม่ หรือตรวจสอบกับกรมที่ดินว่า ที่ดินผืนดังกล่าวเป็นที่ดินมีกรรมสิทธิ์ของบุคคลใด โดยสามารถตรวจสอบพิกัด ระวางที่ดิน ซึ่งระบุบน ภ.บ.ท.5
ผู้ครอบครองที่ดิน ภ.บ.ท.5 ที่เรียกว่าภาษีดอกหญ้า หรือภาษีบำรุงท้องที่ จะสามารถขอออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินได้ ก็ต่อเมื่อกรมที่ดินประกาศให้ผู้ครอบครองที่ดินนำเอกสาร ภ.บ.ท.5 ไปออกเอกสารสิทธิ์ ในการครอบครองเป็นเจ้าของที่ดินเท่านั้น หลักฐานใบเสร็จในการเสียภาษี ภ.บ.ท.5 จึงจะนำมาใช้เป็นเอกสารประกอบคำร้อง ขอออกเอกสารสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นที่ดิน ภ.บ.ท.5 ที่ครอบครองทำประโยชน์อยู่นั้น ต้องไม่อยู่ในเขตที่ดินของกรมป่าไม้ เขตทหาร เขตป่าสงวนฯ หรือทับซ้อนกับเขตที่ดินของผู้อื่น