เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีกระแสเรื่องรถเมล์ไทยหลายเรื่องถูกนำเสนอออกมากอย่างต่อเนื่อง ทั้งการวิพากษ์วิจารณ์การบริการของรถเมล์และระบบขนส่งสาธารณะของไทย ของบุคคลมีชื่อเสียงในวงการบันเทิง และข่าวการเปลี่ยนเลขสายรถเมล์ใหม่ ในเส้นทางปฏิรูป 269 เส้นทาง
เราจึงทำการรวบรวมข้อมูลเรื่องการร้องเรียนการบริการของรถเมล์ในกรุงเทพฯ มาแจกแจงให้ดู รวมทั้งรายละเอียดของการเปลี่ยนแปลงเลขสายรถเมล์ใหม่ มาให้ทุกคนอ่านครับ สายรถเมล์ที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุดจะตรงกับที่คุณเดาไว้หรือไม่ และคุณคิดว่าการตัดสินใจเปลี่ยนระบบเลขสายรถเมล์ใหม่จะมีผลดีหรือผลเสียกับประชาชนผู้ใช้บริการมากกว่ากัน ไปดูข้อมูลพร้อมๆ กันครับ
10 อันดับสายรถเมล์ที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุด
** ข้อมูลเดือนตุลาคม 2559 ถึงเดือนมีนาคม 2560 ของสายด่วนร้องเรียน โทร. 1584 กรมการขนส่งทางบก
อันดับ 1 ในการถูกร้องเรียนบ่อยครั้งที่สุดถึง 153 ครั้ง เป็นใครไปไม่ได้นอกจาก สาย 8 แฮปปี้แลนด์-สะพานพุทธ ในตำนาน จำนวนครั้งที่โดนร้องเรียนค่อนข้างโดดมากกว่าสายอื่นๆ อันดับที่ 2 คือ สาย 71 สวนสยาม-วัดธาตุทอง อันดับที่ 3 คือ สาย 1 ถนนตก-ท่าน้ำท่าเตียน อันดับที่ 4 คือ รถตู้สาย 15 ตลาดมีนบุรี-จตุจักร และ ตลาดมีนบุรี-บางบัวทอง อันดับที่ 5 คือ ปอ. 29 หัวลำโพง-ม. ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต อันดับที่ 6 คือ ปอ. 40 สายใต้เก่า-ลำสาลี อันดับที่ 7 คือ สาย 122 สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร)-ซอยรามคำแหง 39 (วัดเทพลีลา) อันดับที่ 8 คือ สาย 40 สายใต้ใหม่-หัวลำโพง อันดับที่ 9 คือ สาย 108 เดอะมอลล์ท่าพระ-แยกรัชโยธิน และอันดับที่ 10 คือ สาย 81 สะพานพระปิ่นเกล้า-อ้อมน้อย
5 ประเด็นการบริการของรถเมล์ที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด
** ข้อมูลเดือนตุลาคม 2559 ถึงเดือนมีนาคม 2560 ของสายด่วนร้องเรียน โทร. 1584 กรมการขนส่งทางบก
ประเด็นที่ถูกร้องเรียนไปที่สายด่วนของกรมการขนส่งทางบก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการขับรถอันตราย และไม่ทำตามกฎระเบียบที่ควรเป็น จึงสร้างความลำบากในการเดินทางให้แก่คนโดยสาร เช่น ขับผ่านไปเลยไม่หยุดรับ หรือวิ่งไม่ถึงจุดหมายปลายทาง
องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ เผยเลขสายรถเมล์ใหม่ เริ่มใช้สิงหาคมนี้
อีกประเด็นหนีไม่พ้นเรื่องที่เป็นกระแสมาหลายอาทิตย์ และยังคงมีการถกเถียงกันอย่างต่อเนื่อง คือการประกาศเปลี่ยนเลขสายรถเมล์ใหม่ ของกรมการขนส่งทางบก โดยเติมตัวอักษรภาษาอังกฤษไปด้านหน้า แล้วค่อยตามด้วยตัวเลข เช่น รถเมล์สาย 24 เปลี่ยนเลขสายใหม่เป็น B39 และขณะนี้กำลังทยอยทดลองใช้ในเส้นทางนำร่อง ซึ่งก็เป็นที่วิพากย์วิจารณ์กับอย่างกว้างขวางถึงข้อเสียของการเปลี่ยนแปลงนี้
นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม รักษาการผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวว่า สาเหตุที่ชื่อรถเมล์สายใหม่ต้องมีอักษรภาษาอังกฤษนำหน้า เนื่องจากมีการยุบรวมเขตการเดินรถขสมก.จาก 8 เขต เหลือ 4 โซน 4 สี เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการและจดจำของผู้ใช้บริการแบ่งโซนวิ่งรถเมล์เป็นสี ตัวย่อภาษาอังกฤษโดยรถเมล์วิ่ง ทั้ง 4 สี จะมีตัวภาษาอังกฤษแบ่งเป็นโซน คือ
1) ย่านรังสิต บางเขน มีนบุรี จะใช้ภาษาอังกฤษ ตัว G มาจากคำว่า Green สีเขียว
2) ย่านปากน้ำ คลองเตย สาธุประดิษฐ์ ใช้ตัว R มาจาก Red สีแดง
3) ย่านพระประแดง บางแค ศาสายา เป็นตัว Y มาจาก Yellow สีเหลือง
4) ย่านนนทบุรี ปากเกร็ด หมอชิต2 ดินแดง สวนสยาม เป็นตัว B มาจาก Blue สีน้ำเงิน
แต่หากมีอักษรตัว E ตามหลัง ย่อมาจาก Expressway ก็จะหมายถึงรถเมล์ที่ขึ้นทางด่วน เช่นสาย G2E รังสิต-หัวลำโพง (ทางด่วน) หรือสาย 34 เดิม และหากมีอักษรตัว A ซึ่งมาจากคำว่า Airport ต่อท้าย ก็จะเป็นรถเมล์ที่วิ่งเข้าสู่สนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรรภูมิ เช่น สายA1 สนามบินดอนเมือง-จตุจักร
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเปลี่ยนผ่านชื่อสายรถเมล์ จะมีการเขียนชื่อรถเมล์สายเดิมควบคู่กับชื่อรถเมล์สายใหม่ ไปอย่างน้อย 1 ปี เช่นสาย 2 เดิม ที่เปลี่ยนเป็นสาย R1 ปากน้ำ-ท่าเรือสะพานพุทธ จะเขียนเป็นสาย 2 (R1) ส่วน สาย 178 เดิม ที่เปลี่ยนเป็นสาย B50 แฮปปี้แลนด์-ลาดพร้าว จะเขียนเป็น สาย 178 (B50) เป็นต้น
* ข่าวจาก thairath.co.th และ nationtv.tv
เลขสายรถเมล์ใหม่ที่เผยแพร่ออกมาทางเพจ รถเมล์ไทย.คอม มีดังนี้
* ภาพจากรถเมล์ไทย.คอม
ทดลองวิ่งก่อน 8 เส้นทาง เริ่ม 15 ส.ค. - 15 ก.ย. นี้
นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) เปิดเผยว่า ขบ.เตรียมเปิดทดลองเดินรถ 8 เส้นทางเป็นระยะเวลา 1 เดือนตั้งแต่ 15 ส.ค.-15ก.ย. ตั้งแต่เวลา 06.30 น. – 18.30 น โดยนำรถโดยสารมาวิ่งให้บริการเส้นทางละ 5 คัน ประกอบด้วย รถเมล์สายใหม่ 8 เส้นทางเริ่มทดลองวิ่ง 15 ส.ค.-15ก.ย.นี้ พร้อมเร่งเปิดประมูลเส้นทางนำร่อง 10 สาย
1. สายที่ G21 รังสิต - ท่าเรือพระราม 5 (เทียบเคียงสาย 114 อ.ต.ก. 3 – แยกลำลูกกา)
2. สายที่ G59E มีนบุรี – ท่าเรือสี่พระยา (ทางด่วน) (เทียบเคียงสาย 514 มีนบุรี – ถ.รัชดาภิเษก – สีลม)
3. สายที่ R3 สวนหลวง ร.9 – สถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ (เทียบเคียงสาย 11 อู่เมกา บางนา – มาบุญครอง)
4. สายที่ R41 ถนนตก – แฮปปี้แลนด์ (เทียบเคียงสาย 22 อู่โพธิ์แก้ว – สาธุประดิษฐ์)
5. สายที่ Y59 สถานีรถไฟชุมทางตลิ่งชัน – กระทุ่มแบน (เทียบเคียงสาย 189 สนามหลวง – กระทุ่มแบน)
6. สายที่ Y61 หมู่บ้านเศรษฐกิจ – สถานีขนส่งจตุจักร (เทียบเคียงสาย 509 สถานีขนส่งจตุจักร – บางแค)
7. สายที่ B44 วงกลมพระราม 9 – สุทธิสาร (เทียบเคียงสาย 54 วงกลมรอบเมืองห้วยขวาง)
8. สายที่ B45 หมู่บ้านเอื้ออาทรบึงกุ่ม – ท่าเรือสะพานพุทธ (เทียบเคียงสาย 73 อูโพธิ์แก้ว – สะพานพุทธ)
* ข่าวจาก posttoday.com
ทุกคนมีความคิดเห็นอย่างไรบ้างกับทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องรถเมล์ มาแชร์กับเราที่แบบสอบถามนี้กันครับ goo.gl/Q55Jqc
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก:
กรมการขนส่งทางบก, thairath.co.th, Fanpage รถเมล์ไทย.คอม, nationtv.tv, posttoday.com
บทความแนะนำ