หากพูดถึง “รส” ย่อมหมายถึงการรับรู้ด้วยลิ้นสัมผัส และ “อาหาร” ก็คือต้นกำเนิดของรสนั้นๆ “พื้นที่ทำอาหาร” จึงถือเป็นพื้นที่สำคัญที่จะให้ผู้ปรุงอาหารได้บรรเลงฝีไม้ลายมือเพื่อสร้างอารมณ์ภิรมย์ของคนในบ้านจากการลองลิ้มชิม “รส”
พื้นที่ทำอาหาร หรือ “ครัว” นั้น หากมองกันดีๆ แล้ว เวลาที่เราๆ ท่านๆ อยู่บ้าน ระยะเวลาการใช้งานห้องครัวสูสีกับการใช้งานห้องนอนเลยทีเดียว ทั้งเป็นที่สนทนาประสาแม่บ้าน ไปจนถึงมุมส่วนตัวตอนค่ำสำหรับคนนอนดึก หรือแหล่งรวมพลคนรักการกิน ที่ต้อนรับเพื่อนฝูงของคุณภรรยา และแน่นอน…ห้องออฟฟิศของแม่ครัวประจำบ้าน
แล้วสำหรับบ้านเรา ครัวจำเป็นหรือไม่ ครัวแบบไหนอย่างไรถึงจะเหมาะกับวิถีตะวันตกอย่างชาวสยาม
ครัวนั้นเป็นที่สร้างสรรค์อาหาร หรือที่ผลิตเมนูจานโปรด เป็นที่มาของ “รส” แต่ในทางกลับกัน เราๆ ท่านๆ รู้กันไหมว่าครัวต่างหากที่เป็นผลิตผลที่มาจากอาหาร
เพราะการจะสร้างครัวนั้นต้องประกอบด้วยเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ เช่น เตา ไม่ว่าจะเตาไฟ เตาแก๊ส เตาถ่าน หรือเตาไฟฟ้า แล้วข้อกำหนดของการเลือกเตาแต่ละแบบนั้นนมาจากอะไร คำตอบก็คือ “เมนู” นั่นเอง
เคยได้ยินไหมครับ “ยอดฝีมือย่อมไม่เลือกอาวุธ” แต่ประโยคนี้อาจใช้ไม่ได้กับผู้ใช้งานครัวแบบจริงจัง เพราะอุปกรณ์หรือตำแหน่งการจัดวางนั้นสำคัญพอๆ กับวัตถุดิบชั้นเลิศเลยทีเดียว
หลายท่านที่ซื้อบ้าน หรือออกแบบบ้านใหม่ โจทย์ที่จำเป็นจะต้องตั้งขึ้นมาคือ คนในบ้านเราชอบรสชาติแบบใด เมนูนั้น ๆ จะเป็นโจทย์ตั้งต้นสำหรับการออกแบบครัวที่เหมาะสม กระชับ และสวยงาม
หลายครั้งที่โจทย์การออกแบบครัวเป็นโจทย์ที่น่าตื่นเต้นท้าทายสำหรับสถาปนิก นักออกแบบ หรือคู่สามีภรรยาที่เพิ่งจับจองเรือนหอหลังใหม่สำหรับชีวิตครอบครัวระยะยาว เพราะมักจะเกิดปัญหาถกเถียงกันเสมอ เช่น “จะเอาอะไรในครัวบ้าง” “เอาไปจะได้ใช้เหรอ” “ถ้าจะใช้แล้วไม่มีจะทำยังไง ไปยืมข้างบ้านเหรอ” คำตอบสุดท้ายที่น่าหนักใจที่สุดก็คือ “ตามใจเธอ ยังไงก็ได้”… สุดท้ายจึงกลายเป็นว่าครัวจะเป็นพื้นที่ทับซ้อนทางความต้องการที่ไม่ชัดเจน เบลอๆ ลางๆ ที่ออกแบบให้ลงตัวยากที่สุดห้องหนึ่งเลยทีเดียว
กลับมาสู่หลักการคิดที่ว่าเมนูอาหารต่างหากคือจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับคนที่จะอยากได้ครัวดังใจฝัน ตัวอย่างเช่น หากเราเข้าใจว่าเค้กไม่สามารถอบให้อร่อยได้ด้วยไมโครเวฟ เครื่องอบขนมก็จะผุดขึ้นมาในลิสต์ทันที หรือหากเราเข้าใจว่าคนจีนชอบผัดผักบุ้งไฟแดง เตาไฟฟ้าก็คงจะไม่น่าจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการวางแผนล่วงหน้าสำหรับเมนูโปรด ก็คือ “มิติ” หรือ “Dimension” ซึ่งจะล่องลอยตลบอบอวลขึ้นมาทันทีในพื้นที่ว่างที่กำลังจะบังเกิดเป็นครัว กว้าง x ยาว x สูง x ตื้น x ลึก x หนา x บาง วัสดุต่างๆ จะตามมาในทันที อุปกรณ์สร้างสรรค์รสชาติจะไม่มีคำว่าไม่พอใช้ หรือเกินพอดีอย่างแน่นอน
ดังนั้น “รสที่เลิศล้ำ” กับ “พื้นที่ใช้สอยที่ล้ำเลิศ” จะไม่เป็นสิ่งที่แยกขาดออกจากกัน หรือกลืนไม่เข้าคายไม่ออกอีกต่อไป…เห็นด้วยไหมครับ?
เขียนโดย: อัทธา พรสุมาลี
ปริญญาโท: สถาปัตยกรรม MArch ,Design Research Laboratory ,Architectural Association school of Architecture (AA), London
ปริญญาตรี: สถาปัยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปัจจุบัน: สถาปนิก บริษัท ฟอร์กซ์ ดีไซน์ สตูดิโอ จำกัด
(Design director, Co-founder ForX Design Studio.Co.,Ltd.)
อาจารย์พิเศษ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย
(Course Master and Lecturer, Urban and regional Planning, Chulalongkorn university)
Contact Info
www.facebook.com/ForxDesignStudio
บทความที่เกี่ยวข้อง: