“เมืองป่วย” คืออะไร แบบไหนถึงเรียกว่า “ป่วย” เป็นเรื่องที่ทุกคนในสังคมต้องทำความเข้าใจเพื่อร่วมกันปลดล็อคปัญหา
กรุงเทพฯ ติดอันดับเมืองที่รถติดมากเป็นอันดับ 12 ของโลก และ เป็นเมืองที่เผชิญกับปัญหารถติดมากที่สุดในเอเชีย
ติดอันดับ 9 ของเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ของโลก
ข้อจำกัดการอยู่อาศัยในเมืองเฉลี่ยอยู่ที่ 30 ตารางเมตรต่อคน
แหล่งงานกับที่พักอาศัยเริ่มห่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ
พื้นที่สีเขียวเพื่อการใช้ชีวิตลดน้อยลง
ทำอย่างไรให้ “คนไม่ป่วย เมืองไม่ป่วย” ทางแก้เริ่มต้นได้ที่ หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันออกแบบเมืองให้น่าอยู่มากขึ้น
“ออกแบบเมือง” แก้ “เมืองป่วย”
“เมืองเดินได้” อีกหนึ่งโครงการที่ ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ผลักดันให้เกิดขึ้น เนื่องจากกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่สภาพทางเดินและสิ่งแวดล้อมไม่เอื้อต่อการเดิน คนส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะใช้รถยนต์ในการเดินทางนำมาซึ่งการฝุ่นควันและมลพิษให้เมือง
ข้อดีจากแนวคิด “เมืองเดินได้” ส่งผลดีแล้วกับหลายเมืองสำคัญๆ ยกตัวอย่างเมืองปารีส ฝรั่งเศส เป็นอีกเมืองที่ต้องเจอกับปัญหามลภาวะ ฝุ่นละออง โดยที่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาเมืองมากขึ้นจนนำมาสู่การพัฒนาเมืองที่ให้เอื้อต่อการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนเมือง เช่น ปรับทางเดินบริเวณทางด่วนริมแม่น้ำ การพัฒนาทางเท้าบนย่านชอปปิ้งถนนฌ็องเซลิเซ่ การเพิ่มไฟส่องสว่างเพิ่มความปลอดภัยให้กับคนที่ใช้การเดินเท้าสัญจรในเมือง รวมถึงในอีกหลายๆ มิติที่เมืองปารีสได้ทำล้วนเป็นแรงจูงใจให้คนที่อยู่อาศัยในเมืองนี้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจนนำมาซึ่งสุขภาพที่ดีและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นอกจากออกแบบทางเดินเท้าที่กว้างขึ้น เพิ่มแสงสว่างให้กับเมือง การออกแบบเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการเดินกับแหล่งวัฒนธรรม ถนนสายสำคัญและพื้นที่สาธารณะก็สำคัญด้วย เพราะสุดท้ายแล้วการพัฒนาเมืองเป็นเรื่องของทุกคน ตั้งแต่ระบบการบริหารจัดการที่ให้อำนาจท้องถิ่น ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดัน และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนที่อยู่ในเมืองนั้นๆ
“บ้าน-แหล่งงาน” ยิ่งใกล้ ชีวิตยิ่งดี
ราคาที่ดินในเมืองราคาพุ่งทำให้การสร้างที่อยู่อาศัยของดีเวลลอปเปอร์เต็มไปด้วยข้อจำกัด อยากสร้างบ้านราคาไม่สูงทุกคนเอื้อมถึงก็เป็นเรื่องยากขึ้นทุกวัน ทางออกคือการเบนเข็มไปหาที่ดินทำเลไกลออกไปจากกลางเมือง อาทิ ปทุมธานี อยุธยา
เมื่อราคาบ้านห่างเมืองพอซื้อไหวสำหรับกลุ่มคนทำงานก็ต้องแบกภาระเรื่องการเดินทางที่พุ่งสูงในแต่ละเดือน
“บ้าน-แหล่งงาน” ที่ไม่สมดุลก่อให้เกิดปัญหาตามมา คุณภาพชีวิตของคนเมืองหมดเวลาไปกับการเดินทาง ค่าใช้จ่ายพุ่ง รวมถึงปัญหาสุขภาพ
ประเด็นปัญหาดังกล่าวแก้ได้ที่การบริหารจัดการ พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ให้ข้อเสนอแนะว่า ควรมีการจัดโซนนิ่ง “บ้าน-แหล่งงาน” ไว้ด้วยกัน เช่น กำหนดรัศมีการเดินทางไว้ที่กี่กิโลเมตร
จากนั้นแหล่งงานพิจารณาจากบัตรประชาชนหรือบ้านว่าอยู่ที่ไหนซึ่งเป็นข้อมูลที่ชัดเจนอยู่แล้ว แนวทางนี้จะช่วยการลดปัญหาได้หลายเรื่อง ทั้งคุณภาพชีวิตคนทำงานดีขึ้น ปัญหามลภาวะและฝุ่นจะลดลงจากที่ไม่ต้องเดินทางข้ามเขต เป็นต้น
“นครสวรรค์” โมเดลเมืองสุขภาวะดี
การขยายตัวของเมืองนครสวรรค์นำมาซึ่งปัญหามลพิษทางอากาศ การจราจรติดขัด ปริมาณขยะ น้ำท่วม ความแออัดของที่อยู่อาศัย ฯลฯ เป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้บริหารเทศบาลหันมาโฟกัสการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน
จิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ นายกเทศมนตรีนครนครสวรรค์ ย้อนมองอุปสรรคของการพัฒนาเมืองตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาถึงวันนี้ เรื่องใหญ่คือ ท้องถิ่นยังไม่เป็นอิสระเต็มร้อย ทิศทางการบริหารมาจากส่วนกลาง งบประมาณขาดความสอดคล้องกับการดำเนินการตามบริบทพื้นที่ ซึ่งหากจะให้ดีต้องกระจายอำนาจไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อสร้างความมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ เช่น การฝังกลบขยะเพื่อลดมลพิษ การจัดการน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่แม่น้ำ การพัฒนาระบบน้ำสะอาด จนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 รางวัลอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืน (ด้านน้ำ) ในปี 2557
อย่างที่บอก การที่จะรักษาให้เมืองหายป่วย คงต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย และที่สำคัญต้องอาศัยเวลา และความอดทน เพราะเมืองนี้ป่วยมานาน และคงต้องใช้เวลารักษาเยียวยากันอีกหลายปี