ถ้าพูดถึงแบรนด์ Toyota สำหรับบ้านเราคงคุ้นเคยกับยี่ห้อของผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำ แต่จริงๆแล้ว Toyota ยังมีการพัฒนานวัตกรรมในด้านอื่นๆที่เป็นประโยชน์กับโลกมนุษย์ด้วย อย่าง Toyota Thailand เองก็มีความมุ่งมั่นในด้านอนุรักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อม ผ่านโครงการ "โตโยต้าเมืองสีเขียว" (Toyota Green Town) หรืออย่างทาง Toyota Global เอง ก็มีโครงการ "Partner Robot" ที่มีการพัฒนาหุ่นยนต์ร่วมกับพาร์ทเนอร์ต่างๆเพื่อให้หุ่นยนต์เข้ามาช่วยเหลือให้มนุษย์ใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น
และยิ่งปัจจุบันทั่วโลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ Baania เลยขอหยิบเอาหุ่นยนต์ของ Toyota ที่พัฒนามาเพื่อผู้ใช้ที่เป็นผู้สูงอายุมาแนะนำให้รู้จักกัน เพื่อให้เรามองเห็นว่าอนาคตที่เราจะมีหุ่นยนต์ใช้ในทุกบ้านอาจจะไม่ใช่เรื่องที่เพ้อฝันอีกต่อไป
Toyota ออกแบบหุ่นยนต์สำหรับผู้สูงอายุในชื่อว่าน้อง "Pocobee" หุ่นยนต์ตุ๊กตาแร๊คคูนที่ถูกออกแบบมาให้เป็นเพื่อนคุยสำหรับผู้สูงอายุ ช่วยให้ผู้สูงอายุได้รับความสนุกสนานยามที่ต้องอยู่คนเดียวในบ้าน มันสามารถพูดคุยเรื่องราวต่างๆ ตอบโต้ผู้สูงอายุด้วยสีหน้าและท่าทาง พูดถึงความทรงจำต่างๆที่บันทึกไว้ และเป็นเหมือนเครื่องช่วยเตือนกิจกรรมประจำวันที่ผู้สูงอายุต้องทำในแต่ละวันได้
Pocobee ถูกออกแบบมาให้สามารถแสดงอารมณ์และท่าทางดีใจหรือเสียใจผ่านแววตาและท่าทางต่างๆ สามารถพูดโต้ตอบด้วยโทนเสียงที่แสดงอารมณ์แตกต่างกัน ทั้งยังสามารถทำความเข้าใจถึงเรื่องที่พูดถึงและแสดงการตอบรับกลับไปได้อย่างถูกต้อง การใช้งานนั้นไม่จำเป็นต้องจับหรือสัมผัสก่อน สามารถอุ้มหรือวางไว้ในระยะ 1 เมตรซึ่งเป็นระยะที่หุ่นยนต์จะได้ยินเสียงของผู้ใช้และทำงานได้ปกติ ตัวลำโพงยังสามารถจดจำเสียงของผู้ใช้ได้และสามารถได้ยินเสียงของผู้ใช้โดยตัดเสียงรบกวนรอบข้างทิ้งไปได้ ตัวหุ่นยนต์สูง 27 เซนติเมตร หนักประมาณ 1 กิโลกรัม ปัจจุบันยังรองรับแค่ภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น ซึ่งต่อไปคงมีการพัฒนาให้สามารถใช้ภาษาสากลรวมทั้งภาษาอื่นๆด้วย
มาถึงหุ่นยนต์อีกตัวหนึ่งที่ Toyota ได้พัฒนาและออกแบบหุ่นยนต์ที่สามารถช่วยเหลือมนุษย์ได้ มันมีชื่อว่า "Toyota's Human Support Robot" หรือเรียกสั้นๆว่า HSR โดยมันได้ถูกนำไปทดลองใช้กับผู้ป่วยและผู้สูงอายุในบ้านและโรงพยาบาล การทำงานส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมทั่วไปที่สามารถช่วยเหลือผู้ใช้ที่นอนอยู่บนเตียงหรือช่วยหยิบจับสิ่งของที่พื้นที่โดยผู้ใช้ไม่ต้องก้มเก็บเองซึ่งเสี่ยงต่อการปวดหลัง
HSR สามารถหยิบจับสิ่งของบนพื้นและหยิบของบนเคาน์เตอร์ได้ ด้วยความสูงของมันที่สามารถยืดหดได้ 100-135 เซนติเมตร และแขนสามารถยืดได้ 60 เซนติเมตร สามารถหยิบจับของที่กว้างได้มากที่สุด 130 มิลลิเมตร โดยการใช้มือจับที่เป็นเหมือนนิ้ว 2 นิ้ว และมีปุ่มดูดสุญญากาศสำหรับหยิบจับของแบนๆอย่างรูปถ่ายจากพื้นได้ และเมื่อไม่มีการใช้งานมือหยิบจับ ก็สามารถพับเก็บแขนไว้ ทำให้ตัวเครื่องมีขนาดเล็กวัดความกว้างที่ฐานได้เพียง 43 เซนติเมตร ซึ่งสามารถใช้งานในห้องขนาดเล็กได้
ในส่วนสเปคของ HSR ตัวเครื่องมีน้ำหนัก 37 กิโลกรัม สามารถถือของหนักได้ถึง 1.2 กิโลกรัม สามารถเคลื่อนที่ได้เร็ว 0.8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถยกตัวเคลื่อนที่ที่ความสูง 5 มิลลิเมตร ซึ่งเพียงพอสำหรับเดินข้ามรอยต่อของพื้นอย่างพื้นไม้หรือพรมได้ สามารถเคลื่อนที่บนทางลาดเอียงที่ 5 องศา ทั้งนี้ HSR ถูกออกแบบมาสำหรับใช้งานภายในอาคาร ด้านบนจะติดตั้งกล้องมุมใกล้และมุมกว้างไว้เพื่อสามารถมองเห็นมุมต่างๆของห้องได้ ทั้งยังมีระบบเซ็นเซอร์สแกนและจดจำความกว้างของห้องทำให้หุ่นยนต์ไม่เดินไปชนสิ่งของ และยังมีระบบจดจำสิ่งของ สามารถทำชั้นวางของและให้หุ่นยนต์ไปหยิบของที่ชั้นได้
การควบคุม HSR นั้นสามารถควบคุมด้วยโปรแกรมเฉพาะผ่านหน้าจอ tablet PC และยังเชื่อมต่อด้วยระบบอินเตอร์เน็ต ทำให้ผู้ใช้สามารถสื่อสารทางไกลผ่านทาง Skype หรือโปรแกรมอื่นๆ โดยเฉพาะการเปิดหน้าจอสนทนาที่สามารถหันหน้าและก้มเงยมองรอบๆห้องได้เหมือนผู้ใช้อยู่ตรงนั้นจริงๆผ่านหน้าจอด้านบนของหุ่นยนต์
HSR ยังออกแบบมาให้ปลอดภัยกับผู้ใช้ทุกประเภท ผู้ใช้สามารถทำเส้นแบ่งเขตแดนที่พื้นเพื่อป้องกันหุ่นยนต์เข้าไปบางบริเวณของห้อง ส่วนตัวแขนหยิบจับจะใช้แรงน้อยและทำงานค่อนข้างช้าเพื่อป้องกันอุบัติเหตุและการบาดเจ็บจากการใช้งาน และยังมีรีโมทปุ่มหยุดการทำงานแบบฉุกเฉินมาให้ด้วย
ล่าสุดทางผู้จัดงาน Tokyo 2020 Olympics และ Paralympics 2020 เปิดเผยว่าจะนำ HSR มาใช้ในการช่วยเหลือผู้เข้าร่วมงานที่ใช้รถเข็นวีลแชร์ในการหยิบจับสิ่งของและช่วยรับส่งอาหาร รวมทั้งช่วยแนะนำข้อมูลรายละเอียดต่างๆของงาน อย่างไรก็ตามทาง Toyota ก็วางแผนที่จะพัฒนาให้ HSR นั้นเป็นหุ่นยนต์ที่ทุกบ้านสามารถซื้อและนำไปใช้ได้ในอนาคต ซึ่งก็คงต้องรอดูกันต่อไปว่าจะมีการเปิดขายในราคาที่เท่าไหร่ ไม่แน่ว่าอนาคตที่เราจะมีหุ่นยนต์ใช้ทุกบ้านไม่ต่างจากเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างทีวี ตู้เย็น อาจจะมาถึงเร็วกว่าที่คิดก็ได้นะครับ
ที่มาและภาพประกอบ:
https://www.toyota-global.com
https://newatlas.com
https://www.theverge.com
https://www.triplepundit.com
https://www.toyota.co.th
https://www.designlisticle.com
https://tokyo2020.org