จากสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ที่ทำให้ธุรกิจหลายแห่งต้องสะดุด อีกทั้งยังก่อเป็นพิษทางเศรษฐกิจที่คอยซ้ำเติมประเทศ ทำให้หลายคนเกิดปัญหาด้านสภาวะทางการเงิน ก่อให้เกิดหนี้สิน และไม่สามารถมีศักยภาพในการใช้หนี้ได้อย่างที่เคย นำมาซึ่งความเสียหายอันร้ายแรงอย่างการถูก อายัดเงินเดือน ที่กระทบการใช้จ่ายในการดำรงชีพของเรา
ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่าเมื่อถูกอายัดเงินเดือนแล้ว จะมีทางออกและทางแก้ไขได้อย่างไรบ้าง ลองมาดู 4 ข้อน่ารู้ เกี่ยวกับเรื่องการอายัดเงินเดือนกัน
การอายัดเงินเดือน คือสภาวะการที่ต้องจำใจยอมชำระหนี้ผ่านการหักจากรายได้หรือที่เรียกว่า “เงินเดือน” อันสืบเนื่องมาจากปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้สินที่เกิดขึ้นได้ไหว อีกทั้งยังไม่สามารถเจรจาผ่อนผันให้เกิดผลดีกับทั้งสองฝ่าย ส่งผลให้เกิดการฟ้องร้อง ดำเนินคดี และนำมาซึ่งการอายัดเงินเดือนในที่สุด
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “เงินเดือน” คือ รายได้ประจำที่พนักงาน หรือลูกจ้างได้รับเท่า ๆ กันในทุก ๆ เดือน แต่หลักเกณฑ์ในการอายัดเงินเดือนนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้ถูกจ้างมีรายได้เกินกว่า 20,000 บาท เท่านั้น
แต่สำหรับผู้ที่มีรายได้เกินกว่า 20,000 บาท ก็อย่าเพิ่งตกใจและคิดว่าเงินเดือนทั้งหมดของท่านจะต้องถูกอายัดหากมีการตัดสินว่าท่านเป็นผู้กระทำความผิดจริง เพราะตามกฎหมาย ศาลท่านจะอนุญาตให้อายัดเงินเดือนที่เป็นส่วนเกินมาจากรายได้ 20,000 บาทเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น หากท่านมีเงินเดือน 30,000 บาท มีสิทธิ์ถูกอาญัตสูงสุดได้แค่ 10,000 บาท และจะยังคงเหลือเงินเดือนอีก 20,000 บาท ไว้ให้ท่านสามารถนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้ โดยความหมายของคำว่า “เงินเดือน”นี้กล่าวรวมถึงค่าจ้าง, ค่าเบี้ยขยัน และค่าล่วงเวลา อีกด้วย
สำหรับเงินได้อื่น ๆ ที่น่าสนใจและข้อกฏหมายอนุญาตให้เจ้าพนักงานสามารถอายัดไว้ ได้แก่ เงินโบนัส อายัดได้จำนวน 50% ของยอดทั้งหมด, เงินตอบแทนกรณีออกจากงาน อายัดได้ 100% (เฉพาะส่วนที่เกิน 300,000 บาท) และเงินค่าคอมมิชชัน อายัดได้ถึง 30% จากยอดทั้งหมด
ในหลายครั้งการมีรายได้ที่สูงขึ้น นำมาซึ่งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าครองชีพ ค่าที่อยู่อาศัย หรือจะเป็นค่าผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ดังนั้นแล้วแม้ว่าจะดูมีรายได้สูง แต่ถ้าหากถูกอายัดเงินเดือน ก็ทำให้กระทบระบบการใช้จ่ายและทำให้เกิดความเครียดได้ อย่างเช่นบางคนอาจจะมีเงินเดือน 50,000 บาท แต่เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้วเหลือเงินต่อเดือนเพียง 30,000 บาทเท่านั้น การถูกอายัดเงินเดือนทำได้สูงสุด 30,000 บาท ทำให้เหลือเงินเพียง 20,000 บาทในการดำรงชีพ
1. ตรวจสอบสิทธิ์ของตนเองให้ดีว่าเข้าข่ายผู้มีสิทธิ์ถูกอายัดเงินเดือนหรือไม่ โดยกลุ่มบุคคลและกองทุนที่ไม่สามารถถูกอายัดเงินเดือนได้ ประกอบไปด้วย
2. ยื่นคำร้องขอลดการอายัดเงินเดือน
ในส่วนนี้สามารถยื่นคำร้องขอลดการอายัดได้เฉพาะ “เงินเดือน” เท่านั้น ส่วนค่าตอบแทนอื่น ๆ อย่างโบนัส, ค่าคอมมิชชัน หรือเงินค่าตอบแทนกรณีลาออก เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่มีอำนาจลดให้ ท่านสามารถเขียนคำร้องถึงความจำเป็นให้เจ้าพนักงานพิจารณาลดการอายัดเงินได้สูงสุดถึง 50% ได้ที่กรมบังคับคดี
ยกตัวอย่างเช่น หากท่านมีเงินเดือน 60,000 บาท ตามปกติแล้วจะต้องถูกอายัดเงินเดือนสูงสุดถึง 40,000 บาท แต่ท่านสามารถยื่นคำร้องขอลดการอายัดเงินให้เหลือ 50% ของ 40,000 บาท คืออายัดเพียง 20,000 บาทเท่านั้น
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเจ้าหน้าที่ก็ต้องพิจารณาถึงเหตุผลและความจำเป็นว่าสอดคล้องกับการยื่นอุทธรณ์หรือไม่ ดังนั้นผู้ยื่นคำร้องจึงมีความจำเป็นต้องแจกแจงรายละเอียดการใช้เงินในส่วนต่าง ๆ อย่างครบถ้วน ว่าหากถูกอายัดเงินเดือนในจำนวนที่สูงเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในด้านต่าง ๆ เช่น การผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ส่งเงินให้ครอบครัว เป็นต้น
นอกจากคำร้องในการยื่นอุทธรณ์แล้ว ผู้ถูกอายัดเงินเดือนจำเป็นต้องนำเอกสารสำคัญเกี่ยวกับการเงิน แนบไปกับคำร้องด้วย เช่น ใบเสร็จการผ่อนบ้าน ผ่อนรถ, หลักฐานการโอนเงินให้บุพการี (ปรินท์จากไฟล์ภาพในแอปพลิเคชัน) เป็นต้น
3. เมื่อกรมบังคับคดีพิจารณาแล้วว่าเห็นสมควรที่จะลดการอายัดเงินเดือนให้ จะออกหนังสือให้หนึ่งฉบับที่มีคำสั่งพิจารณาอัตราการปรับลดเงินเดือนให้ จากนั้นท่านสามารถยื่นหนังสือฉบับนี้ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในบริษัทของท่านเอง (เช่น HR, การเงิน) เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนต่อไป
แน่นอนว่าการป้องกันไว้ ดีกว่าที่เราจะต้องมาแก้ไขทีหลัง ในบทความนี้จะขอแนะนำเพิ่มเติมถึงสิ่งที่ควรปฏิบัติหลีกเลี่ยงการถูกอายัดเงินเดือนดังต่อไปนี้
1. ไม่เซ็นค้ำประกันให้ผู้อื่น
อาจกล่าวให้ชัดเจนเลยก็ได้ว่าการเซ็นค้ำประกันให้ผู้อื่น คือการเสนอตัวเองรับผิดชอบแทน หากลูกหนี้ตัวจริงไม่สามารถชำระหนี้สินได้ ถือเป็นสิ่งที่เสี่ยงต่อการเกิดหนี้สินและสร้างความเดือดร้อนอย่างมาก ควรดูรายละเอียดสัญญาให้แน่ชัด และพึงพิจารณาไว้เสมอว่าเรื่องเงินไม่เข้าใครออกใคร ต่อให้สนิทกันแค่ไหนก็ตาม ทางที่ดีควรจะปฏิเสธในทุกครั้งและช่วยเท่าที่ตัวเรามีกำลังจะดีที่สุด
2. ใช้จ่ายบัตรเครดิตอย่างระมัดระวัง
ทุกวันนี้การใช้จ่ายบัตรเครดิตช่วยอำนวยความสะดวกในการจับจ่ายให้เราก็จริง แต่หากใช้จ่ายเพลินจนเกินไปอาจก่อให้เกิดหนี้สินก้อนโตได้ จึงจะต้องวางแผนและวางระบบการเงินส่วนตัวให้ดี หากอยากจะซื้อของเงินผ่อน เช่น โทรศัพท์มือถือ, แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ ควรซื้อทีละอย่าง หรือตั้งงบไว้ไม่ให้เกิน 10% ของรายได้เป็นต้น ไม่กดเงินสดจากบัตรเครดิต (เพราะดอกเบี้ยสูงมาก) และควรจ่ายชำระบัตรเครดิตให้ครบตามจำนวนบิลที่เรียกเก็บในแต่ละเดือน (อย่าจ่ายแค่ขั้นต่ำ เพราะจะทำให้เกิดหนี้ทับถม ขอเตือนไว้ก่อน)
3. บริหารค่าใช้จ่ายของตัวเอง
หลายคนมองว่าการทำบัญชีรายรับรายจ่ายเป็นเรื่องของเด็ก แต่จริง ๆ แล้วผู้ใหญ่เองก็ควรที่จะทำเอาไว้เพื่อ “เตือนสติ” การใช้จ่ายของตัวเองอยู่ตลอดเวลา บางคนอาจใช้วิธีการจดบันทึก บางคนอาจจะใช้แอปพลิเคชันเข้าช่วย และสรุปยอดรายเดือนว่าในแต่ละเดือนหมดไปกับค่าใช้จ่ายด้านใดบ้าง ก็สามารถทำได้ทั้งนั้น วัตถุประสงค์หลักของการทำบัญชีรายรับรายจ่ายก็เพื่อย้ำเตือนว่า ณ ตอนนี้เราใช้เงินไปมากแค่ไหนแล้ว
ก็ขอฝากไว้เท่านี้กับขั้นตอนการปฏิบัติเมื่อกรมบังคับคดีจะ อายัดเงินเดือน ว่ามีอะไรที่ควรรู้ไว้ ควรทำอย่างไร และแนวทางป้องกันที่ดีที่สุดคืออะไร สุดท้ายนี้ก็ขอให้เราทุกคนเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันไม่ว่าจะเป็นฝั่งเจ้าหนี้หรือฝั่งลูกหนี้ เพราะในบางครั้งด้วยยุคที่เศรษฐกิจในประเทศของเราย่ำแย่สุด ๆ หนี้สินอาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดปัญหาแล้วก็จะต้องหาวิธีที่ดีที่สุดในการรับมือและแก้ไข หาจุดร่วมที่ดีที่สุดให้กับทุกฝ่าย