ผมกำลังยืนอยู่หน้าอนุสาวรีย์รูปทรงแท่งสี่เหลี่ยมบนพื้นดินซึ่งมีลวดลายเหมือนรัศมีแผ่กว้างออกไป หากแหงนมองท้องฟ้าจากแท่งหินนี้สูงขึ้นไป 500 เมตร ย้อนไปเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 1945 เวลา 11.02 น. ได้เกิดแสงสีขาวสว่างวาบเมฆรูปเห็ดขนาดมหึมาทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าสีคราม นั่นคือ ระเบิดปรมาณูลูกที่สองในประวัติศาสตร์มนุษย์ชาติซึ่งร่วงลงและระเบิด ณ จุดนี้ Hypocenter Cenotaph Nagasaki
ญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวในโลกที่เคยเผชิญกับระเบิดปรมาณูถึงสองลูก เมืองที่เคยถูกทิ้งระเบิดได้แก่ เมืองฮิโรชิม่า และเมืองนางาซากิ โดยเหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่าสองแสนคน และมีผู้บาดเจ็บต้องทนทุกข์กับกัมมันตรังสีอยู่ต่อมาอีกหลายปีอีกนับไม่ถ้วน เพราะฉะนั้นในช่วงเวลานี้ชาวญี่ปุ่นจึงให้ความสนใจอย่างมากกับข่าวสถานการณ์ความไม่สงบในคาบสมุทรเกาหลี
ปัจจุบันเมืองฮิโรชิม่าถูกมอบหมายให้เป็นเมืองที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อก่อให้เกิดความสงบสุขที่ยั่งยืนของโลก ซึ่งเมืองได้มีการสร้างสรรค์พื้นที่เพื่อปลูกฝังให้ผู้คนรักสันติภาพ เช่น สวนสันติภาพและอนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิม่า โดยในช่วงเดือนที่ผ่านมาเมืองฮิโรชิม่าได้จัดนิทรรศการที่ชื่อว่า Hiroshima–3rd Generation Exhibition : Succeeding to History เพื่อส่งต่อสันติภาพสู่รุ่นที่สาม (เยาวชนรุ่นปัจจุบันรุ่นที่ไม่ได้สัมผัสกับสงคราม)
งานนิทรรศการระดับเมืองนี้ได้ก่อให้เกิดความคิดและก้าวต่อไปของฮิโรชิม่า เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้รับข้อมูลผ่านการเรียนรู้เหตุการณ์ในอดีต พร้อมกับมีความประสงค์ด้วยตนเองเพื่อหาคำตอบของสันติภาพ กลุ่มเยาวชนจะได้รับเครื่องมือในการวิจัย ได้เข้าชมนิทรรศการ และได้สัมภาษณ์ทายาทของผู้ที่เคยเผชิญกับระเบิดปรมาณู โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการสืบทอดเจตจำนงเกี่ยวกับสันติภาพจากรุ่นสู่รุ่น
นางาซากิในฐานะเมืองที่ต้องเผชิญกับระเบิดปรมาณูก็มีพื้นที่สำหรับสันติภาพเช่นกัน โดยทุกวันที่ 9 สิงหาคมของทุกปี จะมีการจัดกิจกรรมบริเวณเขาอนุสรณ์สถานสันติภาพนางาซากิ เพื่อระลึกถึงผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของเหตุการณ์ดังกล่าว พิธีนี้ยังช่วยกระจายคำอธิษฐานเพื่อสันติภาพของโลกนิรันดร์อีกด้วย
นอกจากนั้นในบริเวณนี้ยังมีสถานที่น่าสนใจ อาทิ Nagasaki National Peace Memorial Hall for the Atomic Bomb Victims ซึ่งเป็นห้องสวดมนต์เพื่อสันติภาพของโลก สร้างขึ้นสำหรับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อและผู้เสียชีวิตของการทิ้งระเบิดปรมาณู
ขณะที่ The Nagasaki Atomic Bomb Museum นำเสนอเรื่องราวโศกนาฏกรรมดังกล่าว โดยเริ่มต้นด้วยเหตุการณ์ร้ายแรงของการโจมตี และรวมถึงเหตุการณ์ที่นำไปสู่การทิ้งระเบิดปรมาณู การฟื้นฟูเมืองนางาซากิจนถึงปัจจุบัน และความหวังของโลกที่ปลอดจากนิวเคลียร์ บริเวณเขาอนุสรณ์สถานสันติภาพนางาซากิ หากได้มาเยี่ยมชมจะรู้สึกได้ถึงจิตวิญญาณเพื่อสันติภาพ
จากรุ่นสู่รุ่น จากเมืองสู่คน จากพื้นที่สู่จิตวิญญาณ ขอให้สันติภาพจงบังเกิด
โดย: มนต์ชัย บุญยะวิภากุล
นักคิด นักเขียน นักเดินทาง นักธุรกิจ
ผู้เชียวชาญด้านการบริหารจัดการหลักสูตรสถาปัตยกรรม
อาจารย์ประจำหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
**********************************************************
ภาพประกอบ: มนต์ชัย บุญยะวิภากุล, http://tsuguten.com