เป็นไปตามคาดเมื่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.50 เป็นร้อยละ 1.75 ต่อปีโดยให้มีผลทันที เป็นการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบกว่า 7 ปีที่การสะท้อนให้เห็นว่า นับจากนี้ต่อไป ประเทศไทย ได้เข้าสู่ช่วงเวลาของ “อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น” อย่างเป็นทางการแล้ว และอาจจะรวมไปถึงประเทศส่วนใหญ่ของโลกก็เริ่มเข้าสู่ช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ กนง.ยังได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของปีนี้ลดลงเหลือ 4.2% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.4% ส่วนปี 2562 คาดว่า จะขยายตัว 4% ซึ่งปรับลดลงจากที่เคยประมาณการไว้ที่ 4.2%
ถือเป็น 2 ปัจจัยด้านลบที่จะส่งผลต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์นับจากนี้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องอัตราดอกเบี้ยกับคนที่จะซื้อหรือผ่อนบ้านอยู่ในขณะนี้ อาจจะต้องมีภาระการผ่อนที่เพิ่มขึ้น หรือมีอำนาจในการซื้อที่ลดลง เมื่ออัตราดอกเบี้ยพุ่งสูงขึ้น Baania ได้ลองใช้เครื่องคำนวณสินเชื่อ ลองคำนวณเป็นตัวอย่าง โดยสมมุติการกู้เงิน 1,000,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 7% ระยะเวลาผ่อน 30 ปี จะผ่อนต่อเดือนประมาณ 7,400 บาท ถ้าเป็นยอดเงินเดียวกัน ระยะเวลาผ่อนเท่ากันแต่ขยับดอกเบี้ยขึ้นเป็น 8% จะผ่อนต่อเดือนเพิ่มเป็น 8,100 บาท หรือเพิ่มขึ้น 700 บาท คิดเป็น 9.4% เลยทีเดียว
หากเอาอัตราดอกเบี้ยที่ กนง.เพิ่มปรับขึ้น 0.25% มาลองคำนวณ ในวงเงินเดียวกัน ระยะเวลากู้เท่ากัน แต่เปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเป็น 7.25% จะต้องผ่อนค่างวดเป็น 7,600 บาท หรือเพิ่มขึ้น 200 บาท จากวงเงินที่คิดอัตราดอกเบี้ย 7% หรือเพิ่มขึ้น 2.7% และแน่นอนว่า เมื่อเงินผ่อนต่องวดต้องเพิ่มขึ้น ถ้าคำนวณกลับมาเป็นความสามารถในการกู้ของผู้กู้ ก็ย่อมจะได้วงเงินกู้ที่ลดลงถ้ายังคงได้รายได้เท่าเดิม เท่ากับว่า ถ้าอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น แต่รายได้ยังคงเท่าเดิม ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัย(โดยใช้เงินกู้) ของเราจะลดหย่อนลง เช่น จากที่เคยซื้อได้ในวงเงิน 1 ล้านบาท ก็อาจจะเหลือ 9 แสนบาท เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนยังมองว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เป็น 1.75% ครั้งนี้จะทำให้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงมากขึ้น และยังเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์หนี้ครัวเรือน กระทบต่อต้นทุน
การทำธุรกิจ และย่อมส่งผลมายังผู้บริโภคในท้ายที่สุด ซึ่งก็คงต้องติดตามดูกันต่อไปว่า ผลกระทบจากการปรับดอกเบี้ยขึ้นจะลุกลามไปมากน้อยแค่ไหน ซึ่งแน่นอนว่า ภาคธุรกิจ ก็จำเป็นต้องปรับตัวจากสถานการณ์ด้านดอกเบี้ยที่กำลังจะเปลี่ยนไป
อย่างไรก็ตาม ธนาคารพาณิชย์ในฐานะผู้รับนโยบายดอกเบี้ยจากกนง.มาปฏิบัติ มีท่าทีที่ชัดเจนว่า จะยังไม่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินฝาก และเงินกู้ ของธนาคารแต่อย่างใด โดยนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวในเรื่องนี้ว่า ยังไม่มีธนาคารพาณิชย์แห่งใดปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ เช่นเดียวกับ นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยก็ยังไม่มีความจำเป็นต้องรีบขึ้นดอกเบี้ยตาม เพราะสภาพคล่องยังดี โดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ไม่ต้องรีบขึ้น เพราะประชาชนจะทำมาหากินลำบาก ทั้งนี้ ธนาคารจะไม่เป็นผู้นำในการขึ้นดอกเบี้ย และจะดูทิศทางของธนาคารอื่นๆ ก่อนด้วย
ส่วนธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารรัฐที่ทำหน้าที่ปล่อยสินเชื่อที่อยู่ศัยโดยตรง นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ได้ประกาศชัดมาก่อนหน้านี้แล้วว่า ถ้า กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ธนาคารจะยังไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อย่างแน่นอน และหากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ต่อปี ธนาคารจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ สำหรับผู้ที่จะขอสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยในปีหน้าจะต้องคำนวณเผื่อการขึ้นดอกเบี้ยไว้อย่างน้อย 0.25-0.5% โดยดูว่าวงเงินที่ได้และอัตราการผ่อนต่อเดือน ลูกค้ายังสามารถผ่อนได้หรือไม่ ส่วนคนที่ผ่อนอยู่แล้วให้ลองสอบถามธนาคารถ้าดอกเบี้ยขึ้นไปอีก 0.25-0.5% ค่างวดจะปรับขึ้นไปเท่าไร เพื่อที่จะได้เตรียมตัวรับมือกับช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น
สำหรับคนซื้อและผ่อนบ้านคงจะเบาใจไปได้เปราะหนึ่ง เมื่อธนาคารส่วนใหญ่ยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ หลังจากที่กนง.ประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว 0.25% แต่อนาคต ก็ยังไม่แน่นอนว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่บอกได้คำเดียวว่า เรื่องของดอกเบี้ยนับจากนี้คงมีแต่ขยับขึ้น แต่จะขึ้นอีกเมื่อไหร่ ขึ้นมากหรือน้อยแค่ไหน ก็ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งในประเทศและปัจจัยจากภายนอกในแต่ละช่วงเวลา สิ่งที่ทำได้ดีที่สุด สำหรับคนที่จะซื้อบ้าน คือ การเตรียมตัวทางการเงินให้พร้อมกับการซื้อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการออมเงิน การตรวจสอบเครดิต และความสามารถในการกู้ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในยุคดอกเบี้ยขาขึ้นครับ
ไม่พลาดทุกข่าวสาร ทันทุกเรื่องราวอสังหาริมทรัพย์กับ Baania ได้ที่ Line Official >> @baania