Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

เลื่อย อุปกรณ์ภายในบ้านที่ควรรู้ก่อนใช้งาน!

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

เลื่อยนั้นจัดว่าเป็นเครื่องมือช่างพื้นฐานที่มีความจำเป็นจะต้องมีไว้ติดบ้าน เพราะเลื่อยนั้นสามารใช้ประโยชน์สำหรับการตัดสิ่งต่างๆ ตามแต่ประเภทของเลื่อยนั้นๆ คนส่วนมากจะคุ้นเคยกับเลื่อยที่เอาไว้ใช้เลื่อยไม้แบบปกติที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป แต่ในความเป็นจริงแล้วเลื่อยนั้นมีมากมายหลายประเภท ซึ่งเลื่อยแต่ละประเภทจะมีรูปทรงที่ รวมไปถึงวัสดุที่นำมาทำตัวเลื่อย และวัสดุที่นำมาทำเป็นใบเลื่อยแตกต่างกันไปตามลักษณะการใช้งาน 

เลื่อยมีกี่ประเภท?

เลื่อย (Saw) เป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งที่ใช้ในการตัดสิ่งต่างๆ ให้ขาดออกจากกัน ส่วนประกอบหลักของเลื่อยมีอยู่ 2 ส่วนคือใบเลื่อย และด้ามจับ ซึ่งใบเลื่อยนั้นจะทำมาจากวัสดุต่างๆ แตกต่างกันไปตามประเภทของการใช้งาน แต่ส่วนมากใบเลื่อยนั้นจะทำมาจากเหล็กกล้า เพราะว่ามีความแข็งแรง สามารถใช้งานได้เป็นระยะเวลานาน ส่วนด้ามจับนั้นเมื่อก่อนนิยมทำจากไม้ แต่ในปัจจุบันด้ามจับของเลื่อยประเภทต่างๆ ทำมาจากวัสดุต่างๆ ที่มีความแข็งแรงตามแต่ความต้องการในการใช้งานนั่นเอง

ส่วนการแบ่งประเภทของเลื่อยนั้นจะแบ่งตามประเภทของวัสดุที่เลื่อยนั้นสามารถตัดได้ ทำให้มีการแบ่งเลื่อยออกเป็น 2 ประเภทคือเลื่อยตัดไม้ และเลื่อยตัดเหล็ก ซึ่งเลื่อยทั้งสองประเภทนี้สิ่งที่แตกต่างกันนอกอย่างชัดเจนคือคุณสมบัติของใบเลื่อยนั่นเอง

1. เลื่อยตัดไม้

เป็นเลื่อยที่ใบเลื่อยนั้นถูกออกแบบมาให้ใช้ตัดไม้ หรืออาจจะตัดวัสดุอื่นๆ ได้บ้าง ซึ่งเลื่อยตัดไม้นั้นก็มีมากมายหลายรูปแบบตามแต่ลักษณะการทำงาน ซึ่งจะมีทั้งเลื่อยมือ คือเลื่อยที่ใช้แรงงานของคนในการตัด, เลื่อยไฟฟ้า คือเลื่อยที่ใช้ระบบไฟฟ้าในการทำงาน ไม่ต้องใช้แรงงานในการตัด จะใช้ในการตัดไม้ต่างๆ เป็นจำนวนมาก หรือต้องการความรวดเร็ว, เลื่อยยนต์ เป็นเลื่อยที่ใช้เครื่องยนต์ในการทำงานให้ใบเลื่อยหมุนนั่นเอง ซึ่งเลื่อยยนต์ส่วนมากจะใช้ในการตัดต้นไม้

2. เลื่อยตัดเหล็ก

เลื่อยตัดเหล็กนั้นแตกต่างจากเลื่อยไม้ในเรื่องของวัสดุที่สามารถตัดได้นั่นเอง เลื่อยตัดเหล็กนั้นใบเลื่อยถูกออกแบบมาให้ตัดโลหะประเภทต่างๆ ได้อย่างสะดวก ซึ่งเลื่อยตัดเหล็กที่นิยมใช้ส่วนมากก็จะเป็นเลื่อยมือ และเลื่อยไฟฟ้า แต่การใช้เลื่อยตัดเหล็กในการตัดโลหะประเภทต่างๆ นั้นต้องเลือกใช้ใบเลื่อยที่ถูกออกแบบมาให้ใช้กับโลหะแต่ละชนิด

ประเภท

เมื่อรู้ว่าเลื่อยนั้นมีกี่ประเภทแล้ว ลองมาดูกันว่าเลื่อยแต่ละประเภท แต่ละชนิดนั้นมีรายละเอียดอย่างไร และสามารถใช้งานอะไรได้บ้าง 

1. เลื่อยลันดา (Hand Saw)

เลื่อยลันดาน่าจะเป็นเลื่อยที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยมากที่สุด เพราะเลื่อยลันดานั้นมีการใช้อย่างแพร่หลายมาตั้งแต่สมัยอดีต เนื่องจากเป็นเลื่อยที่สามารถใช้ในการตัดไม้ได้หลากหลายประเภท มีขนาดพอเหมาะใช้งานง่าย มีความยาวประมาณ 16 – 24 นิ้วตามซึ่งสามารถเลือกได้ตามความเหมาะสมในการใช้งาน 
เลื่อยลันดานั้นเหมาะสมกับการใช้ในงานช่างไม้ งานก่อสร้าง หรือการตัดกิ่งไม้ที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก ทำให้เป็นเลื่อยที่ได้รับความนิยม และมีไว้ใช้งานในแทบทุกบ้าน 

เลื่อยลันดา

2. เลื่อยหางหนู (Keyhole Saw)

เลื่อยหางหนูจัดเป็นเลื่อยขนาดเล็กที่ใช้สำหรับเลื่อยไม้ หรือวัสดุอื่นๆ อย่างเช่นฝ้า หรือยิปซัมเนื่องจากเป็นเลื่อยขนาดเล็กทำให้เลื่อยหางหนูนั้นสามารถเลื่อยได้ละเอียด และเลื่อยให้ทรงโค้งได้ง่าย ทำให้เลื่อยหางหนูนั้นนิยมใช้ในงานเฟอร์นิเจอร์ งานตกแต่งภายใน ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของเลื่อยหางหนูคือเป็นเลื่อยที่สามารถเปลี่ยนใบเลื่อยได้ง่าย หรือถ้าไม่ได้ใช้งานก็สามารถถอดใบเลื่อยเก็บเพื่อป้องกันอันตรายได้ 

เลื่อยหางหนู

3. เลื่อยฉลุ (Coping Saw)

เลื่อยฉลุนั้นเป็นเลื่อยที่เหมาะกับการทำงานที่ต้องเก็บรายละเอียด หรือสร้างลวดลายต่างๆ ลงบนชิ้นงานไม้ เลื่อยฉลุมีคุณสมบัติพิเศษคือสามารถตัดชิ้นงานขนาดเล็กได้ดี สามารถตัดไม้ให้เป็นมุมโค้งต่างๆ ได้ง่าย เนื่องจากใบเลื่อยมีขนาดเล็ก และมีความบางกว่าใบเลื่อยชนิดอื่นๆ ทำให้ใบเลื่อยนั้นมีความอ่อนตัวคล้ายเส้นลวด การใช้งานของเลื่อยฉลุนั้นต้องขึงใบเลื่อยกับโครงด้ามจับให้ตึงพอดี จึงจะสามารถใช้งานเลื่อยฉลุได้อย่างสะดวก 

เลื่อยฉลุ

4. เลื่อยคันธนู (Bow Saw)

เลื่อยชนิดนี้ได้ชื่อมาจากรูปทรงของด้านจับที่ลักษณะโค้งคล้ายคันธนูนั่นเอง ซึ่งเลื่อยคันธนูนั้นเป็นเลื่อยที่ถูกออกแบบให้ใช้กับงานตัดแต่งกิ่งไม้ ตัดต้นไม้ โดยเฉพาะ ใบของเลื่อยคันธนูนั้นจะทำมาจากเหล็กกล้าชุบแข็งทำให้มีความแข็งแรง และมีความความมากกว่าเลื่อยไม้ประเภทอื่นๆ เลื่อยคันธนูนั้นมีให้เลือกหลายหลายขนาดตามความเหมาะสมในการใช้งาน โดยมีขนาดตั้งแต่ 12 – 30 นิ้ว  

เลื่อยคันธนู

5. เลื่อยรอปากไม้  (Dovetail Saw)

เลื่อยรอ หรือเลื่อยรอปากไม้ จัดว่าเป็นเลื่อยไม้ชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญกับการทำงานช่างไม้ เลื่อยรอปากนั้นจะมีลักษณะคล้ายมีดอีโต้ แต่ส่วนของคมมีดนั้นจะเป็นใบเลื่อยแทน ซึ่งใบของเลื่อยรอปากไม้นั้นจะมีความคม และเอียดมาก เนื่องจากการใช้งานของเลื่อยประเภทนี้คือใช้การช่วยให้โครงไม้ที่ต่อกันนั้นสามารถต่อกันได้สนิท หรือที่เรียกว่า “รอปากไม้” นั่นเอง แม้ว่าในปัจจุบันงานไม้จะมีเครื่องจักรเข้ามาช่วยเยอะขึ้น แต่ความนิยมในการใช้เลื่อยรอปากไม้ก็ยังคงมีอยู่

เลื่อยรอปากไม้

6. เลื่อยโค้งตัดกิ่งไม้ (Pruning Saw)

เลื่อยโค้งตัดกิ่งไม้ก็เป็นเลื่อยประเภทหนึ่งที่ถูกออกแบบให้ใช้ตัดกิ่งไม้โดยเฉพาะ แต่จะแตกต่างจากเลื่อยคันธนูตรงที่เลื่อยโค้งตัดกิ่งไม้นั้นจะมีขนาดเล็กกว่า ตัวใบเลื่อยมีความโค้งเล็กน้อย และด้ามจับสามารถนำไม้ยาวไปต่อเพื่อเพิ่มความยาว ทำให้สามารถตัดกิ่งไม้ในที่สูงได้อย่างสะดวกมากขึ้น แลละไม่ต้องเสี่ยงอันตรายจากปีนขึ้นไปตัดกิ่งไม้บนที่สูงอีกต่อไป 

เลื่อยโค้งตัดกิ่งไม้

7. เลื่อยพลูซอ (Pull Saw)

เลื่อยพลูซอเป็นเลื่อยไม้ที่มีลักษณะคล้ายกับเลื่อยรอปากไม้แต่ใบของเลื่อยพลูซอนั้นจะมีฟันเลื่อยทั้งสองข้าง ซึ่งเลื่อยพลุซอนั้นถือว่าเป็นเลื่อยไม้สารพัดประโยชน์ที่สามารถพกพาได้ง่าย ใช้งานได้ครอบคลุมการตัดไม้แทบทุกประเภท ทำให้เลื่อยพลูซอนั้นนอกจากจะได้รับความนิยมในหมู่ผู้ที่ต้องทำงานไม้ต่างๆ แล้ว ยังได้รับความนิยมในกลุ่มของผู้ที่ชอบชีวิตกลางแจ้งอีกด้วย เนื่องจากความสามารถในการตัดไม้ที่ทำได้หลากหลาย และพกพาได้สะดวกนั่นเอง 

เลื่อยพลูซอ

8. เลื่อยไฟฟ้า 

เลื่อยไฟฟ้านั้นเป็นการพัฒนาจากเลื่อยต่างๆ ที่แนะนำมาในด้านบนให้มีความสะดวกมากขึ้น ประหยัดแรง ด้วยการใช้ไฟฟ้าเข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนใบเลื่อย ทำให้การทำงานต่างๆ นั้นสามารถทำได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งเลื่อยไฟฟ้าก็หลากหลายรูปแบบให้เลือกใช้งานได้ตามประเภทของงาน และความเหมาะสมในด้านต่างๆ ซึ่งเลื่อยไฟฟ้านั้นก็สามารถแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือเลื่อยที่ใช้ตัดไม้ กับเลื่อยที่ใช้ตัดเหล็กหรือโลหะนั่นเอง 
ลองมาทำความรู้จักกันว่าเลื่อยไฟฟ้าประเภทต่างๆ ที่นิยมใช้งานกันนั้นมีอะไรกันบ้าง

  • เลื่อยฉลุไฟฟ้า (Jig Saw or Saber Saw) หรือเลื่อยอเนกประสงค์ เพราะว่าเลื่อยไฟฟ้าชนิดนี้นั้นได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ มีขนาดเล็กพกพาได้สะดวก คุณสมบัติที่เด่นอีกอย่างหนึ่งของเลื่อยฉลุไฟฟ้าก็คือสามารถเปลี่ยนใบเลื่อยเพื่อทำการตัดวัสดุต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ ตัดเหล็ก คอนกรีต เซรามิค หรือไฟเบอร์กลาส 
  • เลื่อยวงเดือน (Circular Saw) เป็นเลื่อยตัดไม้ทำงานด้วยระบบไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาจากเลื่อยฉลุไฟฟ้า เหมาะสำหรับงานที่มีขนาดใหญ่ และต้องการแรงตัดสูง เลื่อยชนิดนี้สามารถตัดไม้ได้ตรง และรวดเร็วมาก เลื่อยวงเดือนจะมีลักษณะใบเลื่อยเป็นวงกลม ตัวใบเลื่อยที่นิยมใช้งานจะมีขนาดตั้งแต่ 4 นิ้ว ไปจนถึง 10 นิ้ว และมีลักษณะของฟันเลื่อยที่แตกต่างกันไปตามประเภทของวัสดุที่จะตัด ซึ่งขนาดของใบเลื่อยที่ใหญ่ขึ้นจะทำให้ขนาดของตัวเลื่อยวงเดือนนั้นใหญ่ขึ้นไปด้วยนั่นเอง 
    แต่การใช้เลื่อยวงเดือนด้วยตัวเองคนเดียวนั้นไม่ใช่เรื่องที่ควรทำสำหรับมือใหม่ เนื่องจากใบของเลื่อยวงเดือนนั้นหมุนด้วยความเร็วสูงมาก แม้ในตัวเครื่องของเลื่อยวงเดือนจะติดตั้งอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยอย่างฝาครอบกันใบเลื่อยทั้งด้านบน และด้านล่างไว้ก็ตาม แต่ด้วยความที่เลื่อยวงเดือนนั้นมีกำลังสูง มีรอบการหมุนที่เร็วมาก ทำให้การใช้เลื่อยวงเดือนแม้แต่ผู้ชำนาญยังต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง ส่วนมือใหม่ควรมีผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำในการใช้งานอย่างใกล้ชิด  
  • เลื่อยชักใบ (Reciprocating Saw) เป็นเลื่อยไฟฟ้าที่สามารถเรียกได้ว่าเป็นเลื่อยอเนกประสงค์อีกเช่นกัน เพราะว่าเลื่อยชักใบนั้นมีความคล่องตัวในการทำงาน พกพาได้สะดวก ใช้งานง่าย และสามารถตัดได้หลากหลายวัสดุตามแต่ชนิดของใบเลื่อยที่เปลี่ยนเข้าไปนั่นเอง ซึ่งการใช้งานของเลื่อยชักใบนั้นสามารถใช้ได้ตั้งแต่การตัดไม้ ตัดเหล็ก หรือแม้แต่กระทั่งตัดคอนกรีตเลยทีเดียว 

เลื่อยไฟฟ้า

ใช้เลื่อยยังไงให้ถูกวิธี?

การเลื่อยไม้ประเภทต่างๆ ด้วยเลื่อยมือนั้นมีหลักการใช้เลื่อยให้ถูกวิธีซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาโดนเฉพาะผู้ที่ต้องการทำงานไม้ประเภทต่างๆ เนื่องจากจะทำให้เลื่อยไม้ได้ตรง และมีความปลอดภัยในการใช้งานด้วย ลองมาดูกันว่าถ้าต้องการใช้เลื่อยลันดาเลื่อยไม้อย่างถูกวิธีนั้นต้องทำอย่างไรบ้าง  

  • ตรวจเช็คสภาพเลื่อย และใบเลื่อย ก่อนเริ่มต้นใช้เลื่อยทุกครั้งต้องตรวจเช็คสภาพของเลื่อยก่อนว่าตัวเลื่อยนั้นมีความแข็งแรงหรือไม่ และใบเลื่อยยังคมอยู่หรือไม่ 
  • วางไม้ในตำแหน่งที่เหมาะสม การเลื่อยไม้ให้ง่าย และไม่เปลืองแรงมากเกินความจำเป็นนั้นต้องวางไม้ให้เหมาะสม อาจจะวางบนโต๊ะ หรือเก้าอีที่มีความสูงพอสมควร เพื่อที่จะได้ยืนเลื่อยไม้ได้ถนัด ไม่ควรวางไม้กับพื้นแล้วนั่งเลื่อย
  • ขีดเส้นทุกครั้ง การเลื่อยไม้ให้ตรงนั้นไม่สามารถใช้สายตาคาดคะเนได้อย่างแน่นอน การขีดเส้นนำจึงเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราสามารถตัดไม้ได้ตามแนวของเส้นนำก็จะสามารถตัดไม้ได้ตรง 
  • ต้องกดไม้ และประคองใบเลื่อย การเลื่อยไม้ให้ตรงนั้นไม้ต้องไม่ขยับ และใบเลื่อยต้องกินไม้เป็นเส้นตรง ดังนั้นการกดไม้ให้อยู่นิ่งด้วยการใช้มือข้างที่ไม่ได้จับเลื่อยคอยกดไว้จึงเป็นเรื่องที่จำเป็น นอกจากนั้นในขณะที่เริ่มเลื่อยนิ้วหัวแม่มือของมือข้างที่จับไม้ยังสามารถใช้ช่วยประคองใบเลื่อยไม่ให้ส่ายไปมาได้อีกด้วย 
  • ออกแรงอย่างถูกต้อง กรออกแรงเลื่อยไม้นั้นไม่ใช่เพียงแค่ชักใบเลื่อยขึ้นลงแรงๆ ก็จะเสร็จงานได้อย่างง่าย การออกแรงที่ถูกต้องจะทำให้การเลื่อยนั้นเป็นไปอย่างไหลลื่น ไม่ต้องใช้แรงมากเกินความจำเป็น ซึ่งการออกแรงที่ถูกต้องคือออกแรงเมื่อกดใบเลื่อยลง ตอนดึงใบเลื่อยขึ้นไม่ต้องออกแรง และการดึงใบเลื่อยขึ้นลงนั้นไม่ต้องเร่งเร็วจนเกินไป ควรดึงด้วยความเร็วที่เหมาะสม

ใช้เลื่อยอย่างถูกวิธี

การบำรุงรักษาเลื่อยหลังการใช้งาน

การที่จะทำให้เลื่อยนั้นสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีอายุการใช้งานที่ยาวนานนั้นการบำรุงรักษา และการใช้งานเลื่อยให้ถูกประเภทก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งการบำรุงรักษาเลื่อยนั้นก็ไม่มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก เพียงแค่เมื่อใช้งานเสร็จให้ทำการปัดเศษขี้เลื่อยที่ติดอยู่ตามใบเลื่อยออกให้หมด ใช้ผ้า มาเช็ดทำความสะอาดบริเวณใบเลื่อย และด้ามจับ จากนั้นให้ชโลม หรือฉีดพ่นด้วยน้ำยากันสนิม เพียงเท่านี้เลื่อยที่มีอยู่ก็จะมีอายุการใช้งานที่นานขึ้นอย่างแน่นอน

ส่วนการใช้ใบเลื่อยให้ถูกประเภทนั้น เป็นการยืดอายุการใช้งานของใบเลื่อย และเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้ใช้ ยกตัวอย่างเช่นไม่ควรนำเลื่อยลันดา หรือเลื่อยหางหนูไปตัดไม้ที่มีตะปูฝังอยู่ เพราะนอกจากจะตัดไม่เข้าแล้วยังจะทำให้ใบเลื่อยเสียหายได้อีกด้วย ควรถอดตะปูออก หรือใช้เลื่อยตัดเหล็กตัดตะปูออกไปก่อนนั่นเอง ถ้าใบเลื่อยเริ่มหมดความคม ให้ใช้ตะไบเหล็กที่มีขนาดพอดีกับฟันเลื่อยทำการลับ และตกแต่งใบเลื่อยให้คมได้ 

การบำรุงรักษาเลื่อย

เป็นอย่างไรกันบ้างกับรายละเอียดของเลื่อยประเภทต่างๆ ที่นิยมใช้งานกันภายในบ้าน ซึ่งจะเห็นได้ว่าเลื่อยแต่ละประเภทนั้นจะมีลักษณะ และรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามความต้องการในการใช้งาน โดยการเลือกใช้เลื่อยเพื่อมาทำงานต่างๆ ที่ต้องการนั้นต้องเลือกประเภทของเลื่อย และชนิดของใบเลื่อยให้เหมาะสม และในการใช้งานเลื่อยทุกครั้งต้องทำด้วยความระมัดระวังมากที่สุด  

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร