สืบเนื่องจากผู้เขียนพบผู้ต้องการกู้ตัวจริง (ต่อจากฉบับที่แล้ว) ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมการบรรยายและพบกับผู้ต้องการสินเชื่อตัวจริงในงาน “Home Loan & NPA Grand Sale” ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งได้พูดในหัวข้อ “กู้ซื้อบ้านให้ผ่านง่าย” โดยมีเนื้อหากล่าวถึงว่าทำไมต้องมีสินเชื่อบ้าน ความต้องการของผู้กู้ สาเหตุที่ธนาคารปฎิเสธสินเชื่อ ฯลฯ
ในครั้งนั้นผู้สนใจเข้าร่วมฟังยังมีประเด็นคำถามที่น่าสนใจอีกมาก ซึ่งเป็นความต้องการสินเชื่อจากผู้ต้องการกู้ตัวจริง ผู้เขียนเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน จึงได้ถ่ายทอดให้ผู้อ่านทุกท่านทราบโดยทั่วไปต่อเนื่องอีกในฉบับนี้นะครับ
คำถาม 1 ถ้าผู้ขอกู้เคยติดเครดิตบูโรจะต้องทำอย่างไร ธนาคารจะให้กู้อีกหรือไม่ อย่างไร
คำตอบ 1 ในกรณีเคยมีประวัติในเครดิตบูโร ก่อนอื่นควรทราบว่าเครดิตบูโรเป็นแหล่งข้อมูลประวัติการชำระหนี้ ซึ่งถ้าหากผู้ขอกู้มีประวัติการชำระหนี้ที่ดี ไม่เคยค้างชำระ ย่อมเป็นสิ่งยืนยันได้เป็นอย่างดีสำหรับสถาบันการเงิน ที่จะมั่นใจได้ว่ ผู้กู้มีความตั้งใจที่จะชำระหนี้ตลอดจนมีความสามารถชำระหนี้ได้เป็นอย่างดี
แต่หากผู้กู้มีประวัติการค้างชำระ และพิจารณาแล้วว่าอยู่ในความเสี่ยงน้อยหรือปานกลาง หากปัจจุบันได้ชำระหนี้เป็นปกติ สามารถแสดงแหล่งที่มาของรายได้ซึ่งเพียงพอต่อการชำระหนี้แล้ว สถาบันเงินก็จะพิจารณาให้กู้ได้ กรณีที่อยู่ในความเสี่ยงสูงและสูงมากหรือเคยถูกฟ้องร้องดำเนินคดีมาก่อน แต่ปัจจุบันได้มีการชำระหนี้เสร็จสิ้นเรียบร้อยก็สามารถนำหลักฐานมาแสดงเพื่อพิจารณาได้เช่นกัน แต่ถ้าจะให้ดีก็ควรรักษาวินัยในการชำระหนี้อย่าให้มีค้างชำระดีที่สุด
คำถาม 2 ถ้าประกอบวิชาชีพอิสระ เช่น เป็นฟรีแลนซ์ด้านพิธีกร นักแสดง หรือพริตตี้ จะไม่มีรายได้ประจำโดยมีรายได้ตามงานที่ได้รับ ควรใช้หลักฐานใดแจ้งกับธนาคาร
คำตอบ 2 การแสดงหลักฐานรายได้สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพอิสระโดยทั่วไป นอกเหนือจากใบอนุญาตประกอบวิชาชีพแล้ว การแสดงรายได้ โดยมีสเตทเมนต์การเดินบัญชีกับธนาคาร ประเภทลูกค้าและจำนวนการใช้บริการ อัตราค่าบริการ ประสบการณ์การทำงาน เพื่อยืนยันแหล่งที่มาของรายได้ที่เกิดจริง จะเป็นส่วนสำคัญในการแสดงหลักฐานของรายได้เพื่อประกอบการพิจารณา
ในกรณีไม่มีหลักฐานดังกล่าว สำหรับผู้รับค่าจ้างเป็นครั้งๆ ตามการจ้างงาน เช่น อาชีพพิธีกร นักแสดง พริ้ตตี้ ก็ให้นำหลักฐานแสดงรายได้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ผู้ว่าจ้างออกให้ รวบรวมเป็นรายได้มาแสดงเป็นหลักฐานได้เช่นกัน
คำถาม 3 ถ้าชาวต่างชาติมาขอกู้เงิน ธนาคารจะมีเกณฑ์พิจารณาสินเชื่อแตกต่างจากผู้กู้ที่มีสัญชาติไทยอย่างไร
คำตอบ 3 โดยทั่วไปถ้าชาวต่างชาติมาขอกู้เงินตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ซื้อคอนโดมิเนียม หรือกรณีซื้อบ้าน ก็ให้คู่สมรสที่เป็นสัญชาติไทยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ (ไม่จดทะเบียนสมรส) แต่ส่วนใหญ่ถ้ามีรายได้จากต่างประเทศซึ่งการตรวจสอบทำได้ยากกว่า หรือถ้ามีรายได้ในประเทศแต่เนื่องจากมีโอกาสที่จะไม่ได้อาศัยในประเทศอย่างถาวร ธนาคารโดยส่วนใหญ่จะให้วงเงินกู้เทียบกับราคาประเมินต่ำกว่าเกณฑ์ทั่วไป เช่น เกณฑ์ทั่วไปให้กู้ได้ 80-90% ของราคาประเมิน ถ้าเป็นต่างชาติให้กู้ได้เพียงไม่เกิน 50% ของราคาประเมินหลักประกัน เป็นต้น
(จากกรณีการถามตอบ “พบผู้ต้องการสินเชื่อ” ดังกล่าว อาจมีท่านผู้อ่านท่านอื่นๆ ต้องการสอบถามหรือมีข้อเสนอแนะอย่างไรผู้เขียนจึงใคร่เรียนท่านผู้อ่านกรุณาแจ้งคำถามผ่านหนังสือโฮมบายเออร์ไกด์ ระบุว่าคอลัมน์ Home Loan ผู้เขียนยินดีรวบรวมมาเป็นการถามตอบในโอกาสต่อไป)
ผู้เขียน : มีชัย คงแสงชัย
ผู้เชี่ยวชาญและคร่ำหวอดด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัยของไทย
อดีตผู้จัดการสายสินเชื่อบุคคล ธนาคารไทยพาณิชย์
ปัจจุบันเป็นกรรมการและเหรัญญิก สมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย