รู้จักตัวตนลูกค้า KYC ในแวดวงการเงินการธนาคาร หลายคนคุ้นเคยกับคำว่า KYC (Know Your Customer) ซึ่งหมายถึง กระบวนการการระบุตัวตน (Identification) และพิสูจน์ตัวตน (Verification) ได้อย่างถูกต้อง ที่จริงไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะการติดต่อธนาคารอย่างเช่นการเปิดบัญชี การขอสินเชื่อบ้านกับธนาคาร ต้องเปิดเผยข้อมูลและผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริงในข้อมูลลูกค้า มีอยู่หลายรูปแบบ อาทิ การยืนยันตัวตนทางชีวมิติ เช่น ลายนิ้วมือ ม่านตา การจดจำใบหน้า อีกรูปแบบคือการใช้ดิจิตัล โดยการถ่ายภาพบัตรประชาชน หรือการยืนยันโดยใช้ข้อมูลสถานที่การทำธุรกรรมกับโมบายแอพว่าทำธุรกรรมในสถานที่นั้นๆ จริง
แต่ปัจจุบันยังมีปัญหาในการยืนยันตัวตนคือ ต้องใช้เอกสารสำเนาจำนวนมาก เช่นบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน บัญชีธนาคาร หนังสือรับรอง แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นดิจิตัลในโลกออนไลน์และเทคโนโลยี่ Blockchain ในการรับรองและตรวจสอบความถูกต้อง เพื่อลดต้นทุนดำเนินการและเวลาให้เร็วขึ้น ก็จะเป็นเพิ่มโอกาสที่ดีต่อไป
กฏหมายฟอกเงิน KYC/CDD (Customer Due Deligence)
เนื่องด้วย เส้นทางเข้า-ออก ของเงินส่วนใหญ่ผ่านสถาบันการเงินเป็นหลัก ทำให้กลายเป็นช่องทางการฟอกเงินจากอาชญากรโดยปริยาย กฎหมายฟอกเงิน (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2550) บังคับให้สถาบันการเงินต้องตรวจสอบข้อมูลลูกค้าทุกคน และต้องขอเอกสารเพิ่มเติมนอกจากบัตรประชาชน เช่น บัตรประกันสังคม เลขที่หนังสือเดินทาง และต้องวิเคราะห์แหล่งเงินของลูกค้า ว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นไหม เป็นต้น
ข้อมูลเครดิต (จากเครดิตบูโร) KYC/CDD
ตามกฎหมายการประกอบข้อมูลเครดิต 2545 (โดยNCB) “โดยที่การกู้ยืมหรือให้สินเชื่อของสถาบันการเงินจำเป็นต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับฐานะทางการเงินและประวัติการชำระหนี้ของลูกค้าอย่างเพียงพอว่า ลูกค้ารายนั้น มีประวัติอย่างไร และมีภาระหนี้อยู่กับสถาบันการเงินอื่นมากน้อยเพียงใด.....”
เครดิตบูโร NCB (National Credit Bureau) เครดิตบูโร เพื่อช่วยให้ธนาคารทราบถึงสถานะหนี้ และสะท้อนถึงคุณสมบัติของลูกค้าจากประวัติการผ่อนชำระ ซึ่งมีประโยชน์ต่อการพิจารณาและวิเคราะห์สินเชื่อ ข้อมูลของลูกค้าจะถูกจัดทำโดยสมาชิกโดยต้องนำส่งข้อมูลของผู้กู้เป็นประจำทุกเดือน และข้อมูลการชำระหนี้ต้องย้อนหลัง 36 เดือน และในการที่จะทราบข้อมูลดังกล่าวได้ต้องได้รับการยินยอมจากผู้ขอกู้โดยมีหนังสือยินยอมเป็นหลักฐานทุกครั้ง ซึ่งสถาบันการเงินจะต้องให้ผู้ขอกู้ลงนามยินยอมด้วย หากไม่มีหนังสือยินยอมเปิดเผยข้อมูลก็จะถูกพิจารณาโทษได้
ข้อมูลเครดิตสถาบันการเงินจะได้ข้อมูลที่บ่งชี้ถึงตัวลูกค้าและคุณสมบัติลูกค้าที่ขอสินเชื่อ ซึ่งเป็น
- ข้อมูลตัวผู้กู้อาทิ ชื่อ ที่อยู่ วันเกิด สถานภาพสมรส เลขประจำตัวประชาชน เป็นต้น
- ประวัติการขอสินเชื่อและการได้รับการอนุมัติ การชำระสินเชื่อของลูกค้าสินเชื่อ หนี้ ซึ่งถ้าหากผู้ขอกู้ มีประวัติการชำระหนี้ที่ดี ไม่เคยค้างชำระ ย่อมเป็นสิ่งยืนยันได้เป็นอย่างดี สำหรับสถาบันการเงินที่จะมั่นใจได้ว่า ผู้กู้มีความตั้งใจที่จะชำระหนี้ตลอดจนมีความสามารถชำระหนี้ได้เป็นอย่างดี
- รายงานข้อมูลเครดิต แสดงให้เรารู้ได้ว่า บุคคลที่มีชื่อนั้นมีสินเชื่อใดกับสถาบันการเงิน รายละเอียดสินเชื่อมีอะไรบ้าง และมีประวัติการชำระหนี้อย่างไร แสดงประวัติการชำระหนี้ย้อนหลังไป 36 เดือน
ดังนั้น การมีเครดิตบูโร จึงเป็นประโยชน์สำหรับการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ และเป็นประโยชน์สำหรับผู้กู้ที่มีประวัติดี หรือถ้ามีประวัติค้างชำระ ก็สามารถชี้แจงและให้ข้อมูลปัจจุบันเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาได้
เขียนโดย: มีชัย คงแสงไชย
ผู้เชี่ยวชาญด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัยของไทย
อดีตผู้จัดการสายสินเชื่อบุคคล ธนาคารไทยพาณิชย์
ปัจจุบันเป็นกรรมการและเหรัญญิก สมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย