สารพันคำถามที่ผู้กู้อยากรู้ แต่ไม่รู้จะถามใคร เชิญหาคำตอบได้ดังต่อไปนี้ครับ
ถาม: ถ้าเคยกู้สินเชื่อบ้านกับธนาคารแล้วต้องการกู้สินเชื่อบ้านเพิ่มเป็นหลังที่ 2 จะต้องทำอย่างไร และหากมีหลังต่อๆ ไปธนาคารจะให้กู้อีกหรือไม่ อย่างไร
ตอบ: โดยทั่วไปธนาคารเกือบทุกแห่งจะยินยอมให้กู้สินเชื่อบ้านเป็นหลังที่ 2 ได้โดยให้เงื่อนไข อัตราดอกเบี้ยในเกณฑ์เดียวกับหลังแรก เพราะเห็นว่าความจำเป็นในการมีหลังที่ 2 มีความเป็นไปได้ เนื่องจากหลังแรกอาจอยู่นอกเมือง จำเป็นต้องมีคอนโดอยู่ในเมืองได้ หรืออาจมีบ้านอีกหลังอยู่ต่างจังหวัดเพื่อการพักผ่อน เป็นต้น แต่ถ้าหากต้องการกู้สินเชื่อบ้าน หลังที่ 3, 4 หรือ 5 คงต้องดูความจำเป็นว่าเหมาะสมหรือไม่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแหล่งรายได้เพื่อการผ่อนชำระ ต้องไม่ใช่มาจากการให้เช่าบ้านหลังที่กู้เพิ่ม และเงื่อนไขสินเชื่อและอัตราดอกเบี้ยสำหรับหลังที่ 3 เป็นต้นไป จะได้เท่ากับสินเชื่อทั่วไป ไม่ใช่เป็นสินเชื่อบ้าน
ถาม: ถ้าผู้ต้องการกู้สินเชื่อบ้านมีอายุมาก ในตัวอย่าง อายุ 55 ปี สามารถกู้ได้หรือไม่ ธนาคารมีเกณฑ์พิจารณาอย่างไร
ตอบ: เกณฑ์ที่ธนาคารใช้พิจารณาสำหรับการให้กู้สินเชื่อบ้าน ส่วนใหญ่จะให้กู้มีกำหนดระยะเวลาผ่อนรวมกับอายุผู้กู้จริงไม่เกินกว่า 65 ปี (ในบางสถาบันอาจถึง 70 ปี) ในกรณีตัวอย่าง ผู้กู้อายุ 55 สามารถกู้ได้มีระยะเวลากู้ 10 ปี ซึ่งรวมแล้วไม่เกิน 65 ปี เป็นต้น
ถาม: ผู้กู้เป็นผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็กไม่ได้นำรายได้รายจ่ายผ่านบัญชีธนาคารควรทำอย่างไร
ตอบ: ในกรณีไม่ได้นำเงินรายได้ รายจ่าย ผ่านบัญชีธนาคาร ทำให้การหมุนเวียนในบัญชีของธนาคารมีน้อย ทำให้ธนาคารไม่สามารถเช็คสอบรายได้ รายจ่ายที่ถูกต้องได้ อาจนำใบเสร็จหรือรายการขายที่จดบันทึกไว้เพื่อแสดงให้ธนาคารพิจารณาได้ ในบางกรณีอาจแสดงรายการอื่น เช่น ใบยื่นเสียภาษีต่างๆ กับทางการ เป็นหลักฐานรายได้ ถ้ามี
ถาม: ถ้าผู้ขอกู้เคยติดเครดิตบูโรจะต้องทำอย่างไร ธนาคารจะให้กู้อีกหรือไม่ อย่างไร
ตอบ: ในกรณีเคยมีประวัติในเครดิตบูโร ก่อนอื่นควรทราบว่าเครดิตบูโรเป็นแหล่งข้อมูลประวัติการชำระหนี้ ซึ่งถ้าหากผู้ขอกู้มีประวัติการชำระหนี้ที่ดี ไม่เคยค้างชำระ ย่อมเป็นสิ่งยืนยันได้เป็นอย่างดี สำหรับสถาบันการเงินที่จะมั่นใจได้ว่า ผู้กู้มีความตั้งใจที่จะชำระหนี้ตลอดจนมีความสามารถชำระหนี้ได้เป็นอย่างดี
แต่หากผู้กู้มีประวัติการค้างชำระและพิจารณาแล้วว่าอยู่ในความเสื่ยงน้อยหรือปานกลาง หากปัจจุบันได้ชำระหนี้เป็นปกติ สามารถแสดงแหล่งที่มาของรายได้ซึ่งเพียงพอต่อการชำระหนี้แล้วสถาบันเงินก็จะพิจารณาให้กู้ได้ กรณีที่อยู่ในความเสี่ยงสูงและสูงมาก หรือเคยถูกฟ้องร้องดำเนินคดีมาก่อน แต่ปัจจุบันได้มีการชำระหนี้เสร็จสิ้นเรียบร้อย ก็สามารถนำหลักฐานมาแสดงเพื่อพิจาณาได้เช่นกัน แต่ถ้าจะให้ดีก็ควรรักษาวินัยในการชำระหนี้อย่าให้มีค้างชำระจะดีที่สุด
ถาม: ถ้าประกอบวิชาชีพอิสระ เช่น เป็นฟรีแลนซ์ด้านพิธีกร นักแสดง หรือพริตตี้ จะไม่มีรายได้ประจำ โดยมีรายได้ตามงานที่ได้รับ ควรใช้หลักฐานใดแจ้งกับธนาคาร
ตอบ: การแสดงหลักฐานรายได้สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพอิสระโดยทั่วไป นอกเหนือจากใบอนุญาตประกอบวิชาชีพแล้ว การแสดงรายได้โดยมีสเตทเมนท์การเดินบัญชีกับธนาคาร ประเภทลูกค้าและจำนวนการใช้บริการ อัตราค่าบริการ ประสบการณ์การทำงาน เพื่อยืนยันแหล่งที่มาของรายได้ที่เกิดจริง จะเป็นส่วนสำคัญในการแสดงหลักฐานของรายได้ เพื่อประกอบการพิจารณา
ในกรณีไม่มีหลักฐานดังกล่าว สำหรับผู้รับค่าจ้างเป็นครั้งๆ ตามการจ้างงาน เช่น อาชีพพิธีกร นักแสดง พริ้ตตี้ ก็ให้นำหลักฐานแสดงรายได้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย จากผู้ว่าจ้างออกให้ รวบรวมเป็นรายได้มาแสดงเป็นหลักฐานได้เช่นกัน
ถาม: ถ้าชาวต่างชาติมาขอกู้เงิน ธนาคารจะมีเกณฑ์พิจารณาสินเชื่อแตกต่างกับผู้กู้ที่สัญชาติไทยอย่างไร
ตอบ: โดยทั่วไปถ้าชาวต่างชาติมาขอกู้เงินตามที่กฎหมายกำหนด เช่น คอนโดมิเนียม ต่างชาติสามารถกู้ซื้อได้ไม่เกิน 50% ของกรรมสิทธิ์รวมของคอนโดนั้นๆ หรือในกรณีซื้อบ้าน ทาวน์เฮาส์ ก็อาจให้คู่สมรสที่มีสัญชาติไทยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ (ไม่จดทะเบียนสมรส) แต่ส่วนใหญ่ถ้ามีรายได้จากต่างประเทศ ซึ่งการตรวจสอบทำได้ยากกว่า หรือถ้ามีรายได้ในประเทศ แต่เนื่องจากมีโอกาสที่จะไม่ได้อาศัยในประเทศอย่างถาวร ธนาคารโดยส่วนใหญ่จะให้วงเงินกู้เทียบกับราคาประเมินต่ำกว่าเกณฑ์ทั่วไป เช่น เกณฑ์ทั่วไปให้กู้ได้ 80-90% ของราคาประเมิน ถ้าเป็นต่างชาติให้กู้ได้เพียงไม่เกิน 50% ของราคาประเมินหลักประกัน เป็นต้น
เขียนโดย: มีชัย คงแสงไชย
ผู้เชี่ยวชาญและคร่ำหวอดด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัยของไทย
อดีตผู้จัดการสายสินเชื่อบุคคล ธนาคารไทยพาณิชย์
ปัจจุบันเป็นกรรมการและเหรัญญิก สมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย