เมื่อไหร่เราควรกู้ซื้อบ้าน ก่อนอื่นคุณต้องตอบคำถามตัวเองว่าคุณอยู่ในสภาพใด ดังนี้ครับ
1. มีเงินพอ
สำหรับท่านที่มีเงินสะสม หรือมีมรดกตกทอดมาเพียงพอที่จะซื้อบ้าน ความจำเป็นต้องกู้ก็อาจไม่จำเป็น แต่ถ้าท่านที่ทำธุรกิจย่อมรู้ว่าบางเวลาก็จำเป็นที่จะต้องมีเงินใช้หมุนเวียนในธุรกิจ หรือสำหรับขยายกิจการต่อเนื่องหรือบุกเบิกธุรกิจใหม่ๆ การมีเงินเก็บไว้ใช้ในแต่ละเหตุการณ์ก็เป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น การกู้เงินสำหรับซื้อบ้านซึ่งเป็นการใช้เงินทุนระยะยาวก็จะเป็นการดีกว่าใช้เงินที่สะสมไว้จนหมด หรือในบุคคลธรรมดาสำหรับคนที่ต้องการเก็บสะสมเงินเก่าไว้ จะใช้การกู้ยืมเงินเพื่อซื้อบ้านเป็นการควบคุมการใช้จ่ายเงินเพื่อชำระหนี้คืนแทนการใช้เงินสะสมจนหมด เป็นต้น
2. มีเงินไม่พอ
สำหรับท่านที่มีเงินสะสมไม่พอในการซื้อบ้าน แต่ท่านพอจะมีการหยิบยืมจากเพื่อน บิดามารดาญาติพี่น้องได้ก็จะเป็นการดี แต่ถ้าไม่ต้องการ ท่านก็สามารถไปขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน ซึ่งมีอยู่มากที่ต้องการให้กู้ เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ที่ท่านเป็นสมาชิกอยู่ บริษัทประกันชีวิต ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน ธนาคารพาณิชย์ ฯลฯ ซึ่งโดยทั่วไปสถาบันการเงินจะเช็คสอบว่าท่านมีรายได้เพียงพอที่จะชำระหนี้คืนได้ โดยควรมีรายได้มากกว่าสามเท่าของภาระหนี้ผ่อนชำระรายเดือน และท่านไม่มีประวัติการค้างชำระหนี้แก่สถาบันการเงินใด
3. มีมาตรการรัฐ ส่งเสริม เร่งรัดธุรกิจหรือไม่
ในบางสภาวการณ์รัฐจะมีมาตรการเพื่อกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีช่วงเวลา ผู้กู้ก็ควรศึกษาและใช้สิทธิที่รัฐให้ ในมาตรการที่รัฐเคยให้ เช่น เงื่อนไขสินเชื่อพิเศษ สำหรับเงินกู้โดยธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ให้สิทธิแก่ผู้มีรายได้ปานกลาง-น้อย ในการผ่อนชำระได้มากกว่าเกณฑ์ปกติมากถึง 50% ของรายได้ต่ออัตราผ่อน การลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถนำเงินที่ซื้อบ้านในวงเงินไม่เกินที่กำหนด (3 ล้านบาท) นำมาลดหย่อนภาษีเงินได้ภายใน 5 ปี ปีละไม่เกิน 120,000 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากมาตรการลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ 100,000 บาทต่อปีตามปกติ การลดหย่อนค่าโอนและค่าจดจำนองลดเหลือ 0.1% ในการโอนและจดจำนองทรัพย์ที่กู้ภายในวันที่กำหนด เป็นต้น
4. มีการส่งเสริมธุรกิจของสถาบันการเงินตรงใจ
การจัดการส่งเสริมของสถาบันการเงินในช่วงการจัดงานด้านการเงินที่สำคัญ เช่นงาน Money Expo งานมหกรรมบ้าน สินเชื่อแห่งปี งานนิทรรศการเกี่ยวกับบ้านต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีเงื่อนไขสินเชื่อที่พิเศษ อัตราดอกเบี้ยที่จูงใจซึ่งผู้กู้สามารถเลือกให้ตรงสิ่งที่ต้องการได้
5. อยู่ในภาวะเศรษฐกิจแบบใด
ในภาวะเศรษฐกิจที่ดีราคาอสังหาริมทรัพย์ย่อมเพิ่มขึ้นตามภาวะ ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดีหรือสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจที่เคยเป็นมา ราคาอสังหาริมทรัพย์อาจอยู่คงที่หรือลดลงและมีทรัพย์ให้เลือกมากขึ้น โดยมีบ้านมือสอง บ้านหลุดจากธนาคารจะมีให้เลือกซื้อหลากหลายและมีราคาที่ถูกใจให้เลือกมากมายครับ
เขียนโดย: มีชัย คงแสงไชย
ผู้เชี่ยวชาญและคร่ำหวอดด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัยของไทย
อดีตผู้จัดการสายสินเชื่อบุคคล ธนาคารไทยพาณิชย์
ปัจจุบันเป็นกรรมการและเหรัญญิก สมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย
ขอบคุณภาพประกอบจาก: allthaievent.com