หรือจะเป็นสมบัติผลัดกันชม ปัญหาที่สถาบันการเงินไม่ต้องการมากที่สุด ก็คือเมื่อมีการให้กู้ยืมเงินแก่ลูกหนี้เพื่อซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยไปแล้วสักระยะหนึ่ง ลูกหนี้จะมาขอไถ่ถอนชำระคืนเงินกู้กับสถาบันการเงินโดยมีเหตุการอ้างต่างๆ นานา สุดท้ายก็มีธนาคารอื่นมาจ่ายเช็คชำระหนี้แทน นั่นก็คือเปลี่ยนการเป็นลูกหนี้ของสถาบันหนึ่งไปเป็นกู้กับอีกสถาบันหนึ่ง ซึ่งเรียกกันว่า Refinance นั่นเอง ผลก็คือถูกแย่งลูกค้าไป ซึ่งย่อมไม่เป็นที่พอใจแก่สถาบันที่ถูกไถ่ถอนไป เพราะกว่าจะได้ลูกค้ามาสักรายก็ต้องลงแรงลงเงินไปไม่น้อย และซ้ำร้ายลูกค้ารายดังกล่าวอาจเปลี่ยนไปเปลี่ยนมากับสถาบันการเงินที่คิดอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่าและจูงใจกว่าไปเรื่อยๆ เหมือนสมบัติที่ผลัดกันชมอย่างไรอย่างนั้น
ผ่อนชำระอย่างไรถึงได้สิทธินั้น การที่จะได้รับการพิจารณาจากสถาบันการเงินผู้รับ Refinance ได้นั้น แน่นอนผู้กู้ต้องมีการผ่อนชำระคืนเงินกู้ที่ดี ไม่มีการผิดนัดชำระหนี้ในประวัติการชำระหนี้แต่อย่างใด ซึ่งในปัจจุบันสามารถตรวจสอบการชำระหนี้ได้จาก บจ.ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB) ซึ่งมีประวัติการชำระหนี้ย้อนหลังถึง 3 ปี ในบางสถาบันอาจยินยอมให้ผิดนัดได้ 1-2 ครั้ง แต่ผลสุดท้ายต้องไม่มียอดหนี้ค้างชำระ โดยต้องเป็นหนี้ปกติจึงจะได้สิทธินั้น
ผู้กู้ที่นิยมไถ่ถอนเงินกู้ไปที่อื่นควรต้องคำนวณผลได้ผลเสีย โดยควรดูว่านอกเหนือจากข้อเสนอที่สถาบันการเงินผู้รับ Refinance เสนอมามีผลประโยชน์อย่างไรบ้าง เช่น ให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่า แล้วอัตราหลังจากพ้นโปรโมชั่นเป็นเท่าใด ต่างจากสถาบันเดิมที่ให้เพียงใด เพราะสถาบันการเงินบางแห่งใช้อัตราอ้างอิงต่างกัน เช่น MRR (Minimum Retail Rate) หรือเป็นอัตรา MLR (Minimum Loan Rate) ซึ่งอย่างแรกจะมีอัตราอ้างอิงสูงกว่า จึงอาจทำให้เสียดอกเบี้ยแพงขึ้นก็เป็นได้ การไปขอกู้ใหม่มีค่าใช้จ่ายอะไรเพิ่มบ้าง เช่น ค่าธรรมเนียมแรกเข้า ค่าสำรวจหลักประกันใหม่ ค่าจำนองใหม่ เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาขอกู้ใหม่ทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังควรต้องพิจารณาข้อสัญญาในการกู้ด้วยว่า หากชำระก่อนกำหนดหรือเกินกำหนดจะเสียค่าปรับอะไรหรือไม่ เพราะสถาบันการเงินใหม่ย่อมต้องปกป้องผลประโยชน์ของตนเองไว้มากที่สุดเช่นกัน
ทำอย่างไรเมื่อถูก Refinance สถาบันการเงินที่ถูก Refinance ย่อมเสียผลประโยชน์ในด้านธุรกิจที่จะไม่ได้รับดอกเบี้ยอย่างที่ควรจะเป็น ดังนั้นในสัญญาเงินกู้ที่ผู้กู้ลงนาม ซึ่งผู้กู้ส่วนใหญ่จะไม่ได้อ่านในตอนกู้ครั้งแรก เพราะถ้าอ่านแล้วอาจไม่กู้ก็ได้ เพราะจะมีข้อสัญญาระบุโน่นระบุนี่ไว้เป็นข้อห้ามมากมาย รวมถึงการชำระก่อนกำหนด ซึ่งถ้าชำระก่อนกำหนดจะถูกค่าปรับมากตั้งแต่ 3-5% ทีเดียว แต่ถ้าเกินกว่าข้อกำหนด ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ว่าธนาคารจะคิดค่าปรับได้กรณีไม่ถึง 3 ปี แต่ถ้าเกินก็จะคิดค่าปรับไม่ได้
อีกกรณีหนึ่งกรณีมีอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate) การชำระก่อนครบกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ก็จะต้องถูกปรับอีกเช่นกัน ซึ่งถือเป็นข้อตกลงต่างตอบแทน ซึ่งผู้กู้ก็ต้องอ่านให้รอบคอบก่อนลงนาม เพราะสถาบันการเงินย่อมไม่ยอมตกเป็นผู้เสียประโยชน์ง่ายๆ อย่างแน่นอน