Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

แบงก์ชาติเหนือสรุป ศก.Q1 ชะลอ อสังหาฯ เกิดใหม่ลด สวนทางสินเชื่อขยายตัว

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

จากสถานการณ์ทางการเมืองที่ค่อนข้างยืดเยื้อส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือในช่วงไตรมาสแรกปี 2557 ชะลออย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคเหนือ เผยว่า แม้การชะลอตัวจากปัจจัยทางการเมืองที่กระทบต่อความเชื่อมั่นด้านการลงทุน ตลอดจนความระมัดระวังในเรื่องอุปโภคบริโภคของประชาชน แต่ในด้านการท่องเที่ยวพบว่าดีต่อเนื่อง อีกทั้งการส่งออก-การค้าชายแดนเป็นตัวช่วยให้เศรษฐกิจภาคเหนือยังน่าสนใจ โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ที่น่าจับตามองสำหรับกลุ่มนักลงทุนอยู่ไม่น้อยเช่นกัน

HBG ฉบับนี้ทีมงานมีโอกาสพูดคุยกับ "คุณสมศักดิ์ วงศ์ปัญญาถาวร" ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคเหนือ เกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจและทิศทางการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์พร้อมนโยบายทางการเงินที่จะสนับสนุนให้เกิดสภาพคล่องด้านการค้าการลงทุนภาคเหนือไว้ดังนี้

ภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือไตรมาส 1 ปี 2557 และแนวโน้มทั้งปีเป็นอย่างไร

เศรษฐกิจภาคเหนือในช่วงไตรมาสแรกปี 2557 ชะลอลงจากไตรมาสสี่ของปี 2556 การใช้จ่ายภาคเอกชนลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 6.5 โดยเฉพาะสินค้าคงทนยังลดลงและมีความเสี่ยงในการฟื้นตัวช้าออกไป สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคเหนือต่ำสุดจากสถานการณ์การเมือง และสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP เพิ่มขึ้น

การลงทุนลดลงทั้งเครื่องจักรกลและการก่อสร้างของอสังหาริมทรัพย์ การเบิกจ่ายภาครัฐยังขยายตัวร้อยละ 17.4 แต่มีแนวโน้มล่าช้าตามการจัดทำงบประมาณปี 2558 ส่วนด้านที่ยังมีความต่อเนื่องเป็นการส่งออกที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.8 ตามภาวะการค้าชายแดน

ภาคอุปทาน ผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 โดยการผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น แต่การผลิตเพื่อบริโภคในประเทศลดลงโดยเฉพาะเครื่องดื่ม ส่วนผลผลิตเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 การท่องเที่ยวยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก โดยจำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานยังเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 21.2

แนวโน้มปี 2557 การส่งออกจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก การท่องเที่ยวอาจได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมือง แต่ไม่รุนแรงเท่าส่วนกลางและจะกลับมาฟื้นตัวได้เร็วหลังเหตุการณ์สิ้นสุด ส่วนแรงกระตุ้นจากภาครัฐจะต่ำลงหากยังไม่มีข้อยุติทางการเมือง สำหรับภาคการใช้จ่ายจะฟื้นตัวหลังจากปัญหาการเมืองคลี่คลาย และแก้ปัญหาการชำระเงินจำนำข้าวของเกษตรกรลุล่วง และคาดว่าการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนจะกลับมามีบทบาทมากขึ้นในปี 2558

นอกจากปัจจัยทางด้านปัญหาการเมืองแล้ว ยังมีปัจจัยใดที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจของภาคเหนือ

แม้ภาคเหนือจะอยู่ห่างจากพื้นที่ชุมนุม แต่ก็ได้รับผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ การลงทุนของภาคเอกชนลดลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลด้านกำลังซื้อของประชาชนและนักลงทุนบางส่วนที่ชะลอการลงทุนออกไป เพื่อรอความชัดเจนจากสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมือง การลงทุนภาคเอกชนหลายโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐในภาคเหนือสำหรับการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการที่มีการเพิ่มวงเงินหรือเปลี่ยนแปลงรายการจากที่ได้รับอนุมัติไว้จะต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง ก่อนดำเนินการทำให้การเบิกจ่ายล่าช้า

ส่วนการลงทุนที่เป็นโครงการขนาดเล็กที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น การปรับปรุงซ่อมแซม, การจัดหาครุภัณฑ์, รวมถึงการเบิกจ่ายงบประจำทั้งเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทนหรือรายจ่ายดำเนินงาน สามารถเบิกจ่ายได้ตามปกติ การจัดทำงบประมาณประจำปี 2558 ที่มีแนวโน้มล่าช้า ทำให้การใช้จ่ายภาครัฐมีบทบาทต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจน้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า

อีกทั้งความต้องการซื้อสินค้าคงทน โดยเฉพาะรถยนต์ ลดลงต่อเนื่องหลังจากเร่งซื้อไปช่วงก่อนหน้าเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์จากมาตรการคืนเงินภาษีรถยนต์คันแรก ทั้งนี้การเร่งใช้จ่ายไปแล้วล่วงหน้า ภาระหนี้ที่สูงขึ้นและเกษตรกรได้รับเงินจำนำข้าวล่าช้า ส่งผลให้มีการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น การใช้จ่ายในสินค้าอุปโภคอื่นๆลดลง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคถูกบั่นทอนเพิ่มเติมจากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ

ด้านภาคการท่องเที่ยว ปัญหาการเมืองยังส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของภาคเหนือไม่มากนักเมื่อเทียบกับส่วนกลาง เนื่องจากมีเที่ยวบินตรงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีนสู่จังหวัดเชียงใหม่โดยตรง และหากสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายลง เชื่อว่าการท่องเที่ยวจะใช้เวลาปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติประมาณ 2 เดือน  และจากการสำรวจของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งตลาดจีน, ยุโรป และสหรัฐจะลดลง อาจจะส่งผลต่อเนื่องมาถึงภาคเหนือ แม้จะไม่มากเท่าส่วนกลางซึ่งเป็นศูนย์กลางการชุมนุมทางการเมืองก็ตาม

คุณสมศักดิ์ วงศ์ปัญญาถาวร ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคเหนือ 

การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ของจังหวัดเชียงใหม่เป็นอย่างไร

ทิศทางการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ของจังหวัดเชียงใหม่ค่อนข้างชะลอตัว สะท้อนจากพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลของจังหวัดเชียงใหม่ลดลงตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2556 จนถึงปัจจุบันตามภาวะเศรษฐกิจ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 พื้นที่ขอรับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลของเชียงใหม่มีจำนวน 220,000 ตารางเมตร แต่หากการขอรับอนุญาตก่อสร้างรวม 4 ไตรมาสของปี2557 มีพื้นที่ 880,000 ตารางเมตร ยังถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์สูงเมื่อเทียบกับปี 2554-2556 มีพื้นที่ขอรับอนุญาตก่อสร้าง 440,000:1,200,000:690,000 ตารางเมตร ตามลำดับ 

โครงการเปิดใหม่ลดลง ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัว

นอกจากนี้จำนวนโครงการเปิดตัวใหม่ก็ลดลง ใช้ระยะเวลาในการขายและการตัดสินใจของผู้ซื้อนานขึ้น รวมถึงขนาดของโครงการและจำนวนยูนิตลดลงจากช่วงก่อนหน้า โดยเฉพาะกลุ่มคอนโดมิเนียม ในขณะที่กลุ่มบ้านจัดสรรจะเป็นลักษณะสั่งสร้างมากกว่าสร้างเสร็จก่อนขาย ทั้งนี้อสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอลงมากเพราะความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลงจากสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองที่มีความไม่แน่นอน ความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงิน โดยเฉพาะการปล่อยเงินกู้ให้แก่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหม่ และกำลังซื้อของผู้ซื้อลดลงมากตามภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลง ส่งผลให้ภาวะอสังหาริมทรัพย์โดยรวมของจังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบันชะลอตัวลง

ด้านกำหนดการให้สินเชื่อรายย่อย (Post Finance) จากข้อมูลเงินกู้ระยะยาวโดยมีการจำนอง (Mortgage Loan) ภาคเหนือ พบว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ได้รับอนุมัติ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2557 มีมูลค่า 6,719 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23.8 แสดงว่าธนาคารคงให้สินเชื่ออยู่ ด้านสินเชื่อที่ให้กับผู้ประกอบการเพื่อทำโครงการอสังหาริมทรัพย์มียอดคงค้าง 16,830 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน ซึ่งจากข้อมูลส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนสนามกอล์ฟ แต่กลุ่มอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่ลดลงแต่อย่างใด โดยส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 70 เป็นการให้สินเชื่อของสาขาธนาคารในจังหวัดเชียงใหม่

เศรษฐกิจเชียงใหม่ขยายตัวในรอบ 10 ปี

แม้สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันจะทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจังหวัดเชียงใหม่ชะลอตัวลง แต่ก็เชื่อว่ากลุ่มผู้ประกอบการจะสามารถปรับตัวตามสถานการณ์ดังกล่าวได้เหมือนการผ่านวิกฤตที่ผ่านมาหลายครั้ง ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจังหวัดเชียงใหม่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องก็เพราะว่าเศรษฐกิจของเชียงใหม่ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาขยายตัวขึ้นเฉลี่ยประมาณร้อยละ 4.0 ใกล้เคียงกับตัวเลขของประเทศ และเศรษฐกิจของเชียงใหม่ก็มีศักยภาพที่จะโตกว่าจังหวัดอื่นในภาค

ประการที่สองเชียงใหม่เป็นเมืองธุรกิจและสถาบันการศึกษา คาดว่าปัจจุบันมีจำนวนนักเรียน นักศึกษาไม่ต่ำกว่า 1 แสนคนเข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่ ประการที่สามเชียงใหม่เป็นเป้าหมายฐานการขยายเศรษฐกิจไปกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ประการที่สี่ในช่วงก่อนหน้านี้มีการพัฒนาเมืองหลักไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างถนน เป็นเหตุผลทำให้คนเริ่มมองสิ่งที่จะเกิดขึ้นแล้วก็เตรียมการล่วงหน้า

ประการที่ห้าก่อนที่จะมีการประกาศ พ.ร.บ.ผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีการจำกัดความสูงของอาคารที่พักอาศัย ส่งผลให้มีการเร่งขออนุญาตก่อสร้างเป็นจำนวนมาก และประการสุดท้าย เงินทุนเคลื่อนย้ายที่เข้ามาในประเทศในเกณฑ์สูงช่วงก่อนหน้า ช่วยให้ระบบมีสภาพคล่องที่ดี ดอกเบี้ยไม่สูง ธนาคารผ่อนคลายในการให้สินเชื่อ หุ้นก็ราคาดี ปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดเชียงใหม่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

แม้ปัญหาทางการเมืองถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจของภาคเหนือและจังหวัดเชียงใหม่ชะลอตัวลง ไม่ว่าจะเป็นด้านการอุปโภคบริโภค หรือการลงทุนที่อาจจะต้องระแวดระวังในสถานการณ์เช่นนี้ แต่ก็เชื่อว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องรวมถึงประชาชนทุกคนจะร่วมกันหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับประเทศ เพื่อจะได้กู้วิกฤติบ้านเมืองให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ก่อนที่ประเทศอื่นในกลุ่มอาเซียนจะก้าวล้ำนำประเทศไทยไปเสียก่อน

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร