Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ได้เวลาขยายถนน "บรมราชชนนี" ทุ่ม 2 หมื่นล้านเชื่อม "ภาคใต้-ตะวันตก"

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

หลัง "ทล.-กรมทางหลวง" ใช้เวลาศึกษาโครงการอยู่ร่วมปี ล่าสุดโครงการต่อขยายคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี และปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวงหมายเลข 338 หรือสายปิ่นเกล้า-นครชัยศรี ได้ข้อสรุปสุดท้ายทั้งแนวเส้นทาง รูปแบบโครงการและค่าก่อสร้าง

โดยแนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ทางแยกต่างระดับฉิมพลี บริเวณกิโลเมตรที่ 9+506 จนมาถึงทางแยกต่างระดับนครชัยศรี บริเวณกิโลเมตรที่ 34+120 รวมระยะทางทั้งสิ้น 30.3 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่เขตตลิ่งชัน เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร และอำเภอพุทธมณฑล อำเภอสามพราน อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

ขณะที่การพัฒนาโครงการแบ่งเป็น 3 ส่วน โดย "ส่วนแรก" เป็นการต่อขยายทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี ตั้งแต่จุดสิ้นสุดทางยกระดับบรมราชชนนี (กม.12+780) ถึงทางแยกต่างระดับนครชัยศรี (กม.34+120) มีระยะทาง 21.3 กิโลเมตร โดยออกแบบเป็นทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร พร้อมจุดทางขึ้น-ลง 5 จุด ได้แก่ 1.บริเวณทางแยกต่างระดับนครชัยศรี จะเชื่อมกับมอเตอร์เวย์สายนครปฐม-ชะอำ รองรับรถจังหวัดนครปฐมและถนนเพชรเกษม 

2.ทางแยกต่างระดับพุทธมณฑลสาย 7 เป็นรูปเกือกม้า อยู่บนถนนพุทธมณฑลสาย 7 จะไปเชื่อมกับถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรี รองรับรถเข้ากรุงเทพฯ 3.บริเวณทางแยกต่างระดับพุทธมณฑลสาย 5 จะเป็นรูปเกือกม้า รองรับรถเข้ากรุงเทพฯ 4.ทางแยกต่างระดับฉิมพลี จะเชื่อมกับทางด่วนสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก รองรับรถที่จะไปบางบัวทอง และ 5.ทางแยกต่างระดับพุทธมณฑลสาย 4 รองรับรถเข้ากรุงเทพฯ 

"ส่วนที่ 2" เป็นการปรับปรุงถนน 338 หรือสายปิ่นเกล้า-นครชัยศรีเดิม ระยะทาง 24.6 กิโลเมตร ให้มีถนน 6 ช่องจราจร พร้อมไหล่ทางและทางคู่ขนานขนาด 6 ช่องจราจร พร้อมทางเท้า แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 ทางแยกต่างระดับฉิมพลีสิ้นสุดทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี ระยะทาง 3.3 กิโลเมตร ช่วงที่ 2 ทางคู่ขนานลอยฟ้าถึงสะพานข้ามแม่น้ำนครชัยศรี ระยะทาง 11.6 กิโลเมตร และช่วงที่ 3 จากสะพานข้ามแม่น้ำถึงแยกต่างระดับนครชัยศรี ระยะทาง 9.7 กิโลเมตร 

สุดท้าย "ส่วนที่ 3" เป็นการออกแบบรูปแบบทางแยกต่างระดับบริเวณจุดตัดถนนสายต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการสัญจร ทั้งโครงการใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 22,300 ล้านบาท แยกเป็นค่าเวนคืน 200 ล้านบาท เพื่อชดเชยค่าที่ดิน 17 ไร่ และสิ่งปลูกสร้าง 14 หลัง ค่าก่อสร้าง 19,700 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายบำรุงรักษาถนน 2,400 ล้านบาท

โดยผลการศึกษาชี้ว่า ทางด้านเศรษฐกิจโครงการนี้มีความเหมาะสมในการลงทุน มีอัตราส่วนผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) ประมาณ 14.2% ขั้นตอนจากนี้ทางกรมทางหลวงเตรียมเสนอโครงการกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อของบประมาณและก่อสร้างต่อไป ซึ่งโครงการนี้อยู่ในแผนงานยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งไทยด้วย คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปี 2561 และเปิดใช้บริการปี 2563

ทั้งนี้ เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางสู่ภาคตะวันตก ภาคใต้ และเพิ่มขีดความสามารถในการคมนาคมขนส่งของประเทศ ทั้งยังเชื่อมต่อกับโครงข่ายถนนสายสำคัญในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด อีกทั้งยังใช้เป็นเส้นทางสำรองในการรองรับการเดินทางเมื่อเกิดอุทกภัยในอนาคตได้อีกด้วย

 

ที่มา : prachachat

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร