จำได้ว่าโลกของผมในแต่ละช่วงอายุนั้นมีขนาดต่างกัน จากพื้นที่แค่ภายในบ้าน ต่อมากลายเป็นภายในตลาด และขยายไปถึงโรงเรียน พื้นที่โลกจึงกว้างขวางตามอายุและคำอนุญาตของผู้ปกครอง
จำได้ว่าโลกของผมเปิดกว้างไกลครั้งแรกเมื่ออยู่ชั้นมัธยม ซึ่งในตอนนั้นผมมีพาหนะคู่กายคือจักรยาน ที่เป็นมรดกจากพี่ชาย และมีเพื่อนคู่ใจที่อาศัยอยู่ในตลาดเหมือนกัน ในวันหยุดสุดสัปดาห์หนึ่งเราสองคนได้รับอนุญาตให้เดินทางไกลโดยรถจักรยาน พวกเราไปเที่ยว “สวนของผม” ที่อยู่นอกเมือง
จำได้ว่าสวนของผมที่จริงคือที่ดินที่แม่ซื้อไว้สำหรับสร้างบ้านเมื่อพร้อมทั้งทุนทรัพย์และสภาพแวดล้อม ทุนทรัพย์นั้นชัดเจนอยู่แล้วว่าต้องรอให้เก็บเงินไว้มากพอ ส่วนสภาพแวดล้อมหมายความว่ามีผู้คนไปสร้างบ้านเรือนกันมากขึ้น
สวนของผมในอดีตหรือบ้านของผมในปัจจุบันนั้นอยู่บน “ถนนห้วยแก้ว” เส้นทางหลักสำหรับเดินทางขึ้นไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพ ในเวลานั้นยังเป็นเพียงทางแคบๆ ที่เริ่มจากแจ่งหัวรินที่อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองเก่า ถนนสายนี้จะค่อยลาดเอียงขึ้นตามสภาพพื้นที่ ก่อนจะคดโค้งคดเคี้ยวไปมาเมื่อต้องไต่ขึ้นเขา ที่ยิ่งขึ้นสูงเท่าใดทางก็ยิ่งคดเคี้ยวมากขึ้น เมื่อต้องใช้เวลาอ้อมไปมา จึงทำให้การเดินทางโดยรถยนต์ล่าช้า และไม่เป็นที่นิยมเท่าการเดินเท้าที่สามารถตัดตรงขึ้นไปจึงใช้เวลาน้อยกว่า
ชื่อถนนห้วยแก้วมาจากลำเหมืองห้วยแก้วที่อยู่คู่ขนานกัน น้ำจากดอยสุเทพไหลรินผ่านห้วยแก้วตลอดทั้งปี ปริมาณน้ำจะมากน้อยขึ้นอยู่กับฤดูกาลและปริมาณฝน
จำได้ว่าเวลาจะเข้าบ้านหรือสวนจะต้องข้ามสะพานไม้ที่แม่สร้างไว้ ที่จริงขนาดห้วยก็ไม่กว้างขวางมากนัก สะพานไม้ก็ไม่ได้สูงมากนัก แต่เมื่อเทียบกับสัดส่วนของเด็กชายแล้วกลับดูยิ่งใหญ่มโหฬาร เช่นเดียวกับพื้นที่สวนไม่ถึงที่ไม่ถึง 2 ไร่ แต่ดูเวิ้งว้างกว้างขวางเมื่อเทียบกับห้องแถวในตลาด ภายในบริเวณยังมีพันธุ์ไม้มากมายที่เจ้าของเดิมปลูกไว้ มีทั้งมะม่วง ชมพู่ ขนุน ส้มโอ มะนาว มะขาม ลำไย อย่างละต้นสองต้น
จำได้ว่าหลังจากปั่นจักรยานจากตลาดจนถึงสวนนานเป็นชั่วโมง เราทั้งสองคนต่างหมดเรี่ยวแรง จนต้องดับกระหายด้วยน้ำในห้วยแก้วที่ใสสะอาดและเย็นฉ่ำ เพราะเป็นน้ำจากดอยสุเทพรสชาติจึงเหมือนน้ำแร่บรรจุขวดภายในปัจจุบัน
ส่วนความหิวก็อาศัยต้นส้มโอที่มีลูกเต็มต้น เราสองคนช่วยกันปีนป่ายเก็บลูกส้มโอ ปอกเปลือกแกะเนื้อในรับประทานอย่างเอร็ดอร่อย พออิ่มสบายเราสองคนกระโจนลงเล่นน้ำในห้วยแก้วสลับกับนอนพัก จนถึงเวลาต้องปั่นจักรยานกลับบ้าน ทุกวันนี้เวลารับประทานส้มโอที่แกะขายตามซุปเปอร์มาร์เก็ต แม้จะหวานฉ่ำรสดี แต่ก็ไม่เคยประทับใจเท่าส้มโอลูกเล็กที่เปรี้ยวฝาดและเฝื่อนในวันนั้น
ถนนห้วยแก้วจึงเหลือแค่ชื่อ เพราะเทศบาลขยายถนนห้วยแก้วกว้างขวางถึงสี่เลน นอกจากห้วยแก้วจะหายไปปล้ว ความร่มเย็นจากสายน้ำก็หายไป ความร่มรื่นจากไม้ใหญ่ก็สูญไปด้วย ต้นไม้ใหญ่สองฝั่งถนนถูกโค่น เหลือแต่ไม้ประดับต้นเล็กริมทาง บ้านเรือนกลายเป็นอาคารร้านค้า ศูนย์การค้า โรงแรม อพาร์ตเมนต์ เหลือแต่บ้านบางหลังที่เจ้าของยังเก็บรักษาต้นไม้ไว้ แต่ก็แค่รอเวลาที่จะพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่อไป
ถนนห้วยแก้วจึงเหลือแค่ชื่อ ห้วยน้ำธรรมชาติแปลงสภาพเป็นท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ใต้ถนนและทางเท้า น้ำใสจากดอยสุเทพน่าจะลดลงเพราะภูมิอากาศเปลี่ยนไป แต่น้ำป่ายังคงหลากท่วมถนน ท่วมบ้านเรือน เพราะท่อระบายน้ำขนาดเล็กไม่สามารถรองรับน้ำได้ แต่น้ำก็ท่วมแค่วันหรือคืน ก่อนที่จะหลากลงคูเมืองและไหลสู่แม่น้ำปิงต่อไป ต้นส้มโอ ลำไย มะม่วง ฝรั่ง ชมพู่ที่เคยมีก็ล้มหายตายจากตามอายุขัย มีแต่ต้นที่ปลูกใหม่ แต่ไม่ได้ให้ผลมากมายเหมือนอดีต คงเป็นเพราะปริมาณน้ำในดินลดลง
ห้วยแก้วจึงเหลือแค่ชื่อถนน ต้นไม้เหลืออยู่ในภาพถ่าย ความร่มรื่นร่มเย็นเป็นเพียงอดีต ทุกวันนี้ถนนห้วยแก้วมีรถราจอดยาวรอสัญญาณไฟ ไม่มีสายลม ไม่มีร่มไม้ มีแต่แสงแดดที่ร้อนระอุ น้ำใสจากดอยถูกจำกัดอยู่ในท่อคอนกรีต ผู้คนอาศัยอยู่ในกำแพงบ้านและหน้าต่างกระจก เช่นเดียวกับผู้ขับรถยนต์ที่นั่งอยู่ในถังโลหะปรับอากาศติดฟิล์ม สายลมร้อนและแสงแดดจึงวนเวียนอยู่เพียงภายนอก ทุกสิ่งทุกอย่างยังคงดำรงอยู่ แต่แยกส่วนและไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ
ผู้เขียน : ปริญญา ตรีน้อยใส
นามปากกาของ ศ.ดร.บัณฑิต จุลาสัย
เจ้าของหนังสือด้านสถาปัตยกรรม ถูกยกย่องจาก Dictionnaire de L'Architecture du XXe Siecle, Editions Hazan, Paris 1996
เป็น 1 ใน 3 สถาปนิกไทยประจำคริสต์ศตวรรษที่ 20