Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

EEC ควรเลือกแบบไหน รถไฟความเร็วสูงจีน หรือ ยุโรป?

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC มีอีกหลายเรื่องมากมายที่เราจำเป็นต้องรู้ ปัจจุบัน EEC เป็นเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษที่ได้รับการตอบรับจากนานาประเทศได้เป็นอย่างดี ทั้งในด้านการลงทุนธุรกิจต่างๆ ในพื้นที่ นอกจากการแข่งขันทางธุรกิจหลายๆ ด้านแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องติดตามกันคือเรื่องของรถไฟความเร็วสูงที่จะนำมาใช้ในพื้นที่ ซึ่ง ณ ตอนนี้มีการแย่งชิงกันอยู่ว่าจะใช้รถไฟความเร็วสูงของฝั่งไหน ระหว่าง จีนและยุโรป ครั้งนี้เรามาดูเปรียบเทียบระบบของจากทั้งสองฝั่งกันดูเสียหน่อยว่าต่างกันอย่างไร

เริ่มกันที่ฟากฝั่งของจีนแผ่นดินใหญ่ รถไฟความเร็วสูงของจีนมีชื่อเรียกย่อๆ ว่า “CRH” หรือ China Railway High-speed โครงการนี้จีนกำหนดเป็นประเภทรถโดยสาร EMU (Electric Multiple Unit) CR series วิ่งความเร็วสูงสุด 250 กม./ชม. และเสนอใช้ระบบรถไฟรุ่น FUXINGHAO เป็นรถไฟความเร็วสูงรุ่นล่าสุดของจีน ทั้งยังเป็นระบบรถไฟที่จะใช้เดินทางในเส้นทาง กทม. - นครราชสีมา โดยใช้เวลาเพียง 1.30 ชั่วโมง


รถไฟรุ่น FUXINGHAO

สำหรับความคืบหน้าโครงการล่าสุดอยู่ระหว่างถมคันดินระยะแรก 3.5 กม.จากสถานีกลางดง - ปางอโศก ระหว่างรองานส่วนอื่น ๆ ที่เหลือที่จะทยอยเปิดประมูลจนครบ 14 สัญญา คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จปี 2564 เปิดให้บริการในปี 2566 รถไฟความเร็วสูงสายนี้จะเชื่อมกับ รถไฟความเร็วสูงลาว-จีน ที่กำลังก่อสร้างจากเวียงจันทน์ - บ่อเต็น และรถไฟของจีนที่โมฮัน - คุนหมิง ตามยุทธศาสตร์ One Belt One Road ของจีน

อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาว่า “จีน” จะฝ่าด่านเปิดตลาดงานระบบในสนามประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา มูลค่า 2.24 แสนล้านบาท ได้สำเร็จหรือไม่ เพราะเนื่องจากรถไฟสายนี้ “รัฐบาล คสช.” เปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP net cost รับสัมปทาน 50 ปี ดังนั้นผู้คุมเกมคือเอกชนที่จะเข้าไปลงทุน ล่าสุดมีทั้งบริษัทซัพพลายเออร์จากยุโรป และเอเชียก็กำลังรุกหนัก หวังจะปาดเค้กก้อนใหญ่จากไทยแลนด์

ส่วนในฟากฝั่งของเอกชนนั้นคู่แข่งของจีนก็ไม่ใช่ใครที่ไหน “เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือที่เรารู้จักกันในนาม C.P. Group” ที่จับมือร่วมทุนกับพันธมิตรจากยุโรป จึงมีความเป็นไปได้สูงที่เจ้าสัว ซี.พี.จะเลือกระบบรถไฟความเร็วสูงจากยุโรปมี 2 บริษัท 

1. Ferrovie dello Stato Italiane S.p.A. (“FS” บริษัท ทางรถไฟแห่งชาติอิตาลี) 
2. Société Nationale des Chemins de fer Français (SNCF ที่เป็นบริษัท ทางรถไฟแห่งชาติ ฝรั่งเศส) 

2 บริษัทนี้ก็ยังคงต้องแข่งขันกันด้วยเช่นกัน แต่อยู่ที่ว่าใครมีข้อเสนอราคาและการบริหารจัดการที่นำไปสู่การลดต้นทุนของโครงการในระยะยาว ก็มีสิทธิ์ได้เข้าป้ายร่วมงานกับ C.P.

นอกจากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ที่จะเป็นรายได้มาเสริมแล้ว ยังเป็นเรื่องการบริหารจัดการต้นทุนโครงการ ทั้งอิตาลีและฝรั่งเศสมีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารโครงการเป็นอย่างดีจากประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนาน 80-180 ปี

คราวนี้เรามาดูข้อแตกต่างของ 2 บริษัทจากยุโรปกันดีกว่า

ในเรื่องของการให้บริการรถไฟความเร็วสูงของ “FS” มีบริษัท เตรนิตาเลีย จำกัด (Trenitalia) เป็นผู้บริการเดินรถ ทั้งในประเทศอิตาลีและเชื่อมต่อไปยังประเทศออสเตรีย ฝรั่งเศส เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งรถไฟความเร็วสูงในอิตาลีมีโรงงานผลิตเอง แต่จะใช้ระบบอาณัติสัญญาณของบอมบาดิเอร์และอัลซาโด้ ปัจจุบันมีรถขบวนใหม่ล่าสุด Frecciarossa1000 (เฟรคซีอารอสสา1000) ที่สะดวกสบาย พร้อมบาร์เครื่องดื่มและอาหาร ปลอดภัยด้วยกล้อง CCTV ที่ติดทุกตู้ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม


Frecciarossa1000 (เฟรคซีอารอสสา1000)

โดยออกแบบวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 400 กม./ชม. แต่ถูกควบคุมความเร็ววิ่งจริงอยู่ที่ 250 กม./ชม. จึงทำให้อิตาลีเป็นประเทศที่ไม่มีอุบัติเหตุจากรถไฟความเร็วสูงเลย นับตั้งแต่ก่อตั้งมา เพราะมีศูนย์ควบคุมแห่งชาติคอยมอนิเตอร์ตลอดเวลา ขับเคลื่อนด้วยระบบแมนวล โดยคนขับจะจำกัดขับไม่เกินวันละ 7 ชม. และมีเก็บ ID ของคนขับทุกคนเพื่อวัด KPI ให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน

ดูกันต่อเลยกับ “TGV” หรือ เตเฌเว การบริการรถไฟความเร็วสูงของฝรั่งเศส ถึงอายุก่อตั้งจะห่างจากอิตาลี 100 ปี แต่มีโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงที่ใหญ่เชื่อมจากศูนย์กลางกรุงปารีส ไปยังจุดหมายปลายทาง 1,400 แห่งในฝรั่งเศส


“TGV” หรือ เตเฌเว

ยังมีเส้นทางในภูมิภาคครอบคลุม 11 พื้นที่ ให้บริการรถไฟใน 8 เมืองของทวีปยุโรป ครอบคลุม 230 แห่งใน 15 ประเทศ มีรถไฟความเร็วสูงบริการ 52 ขบวน และมีผู้โดยสารเฉลี่ยกว่า 130 ล้านคน/ปี TGV ถูกพัฒนาขึ้นเมื่อปี 1970 วิ่งความเร็วสูงสุด 320 กม./ชม. ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ใช้ระบบอาณัติสัญญาณ “TVM ERTAS 2” ที่ฝรั่งเศสพัฒนาขึ้นมาเอง

คงต้องติดตามกันต่อไปยาวๆ กับมหากาพย์ศึกรถไฟความเร็วสูงชิง EEC แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะใช้ระบบจากจีนหรือจากยุโรป ต่างก็เป็นสิ่งดีที่เกิดขึ้นกับประเทศของเรา เพื่อให้ประเทศพัฒนาและก้าวต่อไปสู่อนาคตข้างหน้าพร้อมกับประเทศอื่นๆ บนโลก

Baania มี Line แล้วนะ
ติดตามเรื่องราวอสังหาริมทรัพย์แบบอินเทรนด์ ได้ทุกวันผ่าน Line ID @baania

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร