มาต่อกันที่ตอนที่ 4 กับการพามาเที่ยว Singapore ที่จะพาคุณไปชมการนอนในโรงละครสไตล์จีนที่แปลกไม่เหมือนใคร
Santa Grand Hotel Lai Chun Yuen เป็นสถาปัตยกรรมสไตล์จีน อีกหนึ่งรูปแบบการปรับปรุงอาคารเดิมเพื่อใช้ในฟังก์ชั่นใหม่ คุณอาจนึกภาพไม่ออกกับประสบการณ์การนอนในโรงละครอุปราการแบบดั้งเดิม ด้วยที่ว่างโล่งขนาดใหญ่ในส่วนที่เคยเป็นเวทีที่ถูกแปลงเป็นล็อบบี้ฮอลล์ และการตกแต่งทุกสิ่งอย่างด้วยสีแดงทุกๆ ตารางนิ้วตั้งแต่พื้นจรดเพดาน เป็นการสร้างบรรยากาศที่สามารถเล่าเรื่องราวของศิลปะวัฒนธรรมจีนแบบของแท้ ชนิดที่เดินเข้ามาแล้วรู้สึกได้ทันที
บรรยากาศภายในโรงแรม
การออกแบบเจาะจงใช้สีแดงเป็นธีมหลัก องค์ประกอบที่เหลือใช้ไม้สีเข้มในส่วนสาธารณะ แต่พอเข้าไปยังส่วนห้องพักในชั้นสองชั้นสามกลับถูกออกแบบในสไตล์ Minimal Modern ที่มีขนาดพื้นที่ใช้สอยพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกเท่าที่จำเป็น ผลของการออกแบบเชิงอนุรักษ์ของอาคารหลังนี้ที่ยังคงรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบเดิมที่กลมกลืนกับอาคารพาณิชย์ในย่าน China Town ทำให้ยากที่จะคาดเดาถึงที่ว่างที่อยู่ข้างในหากเราดินอยู่ด้านนอกของอาคาร
รูปแบบการให้บริการของโรงแรมระดับ 3 ดาวแห่งนี้ นอกจากบรรยากาศเงียบสงบแล้ว ยังมีพนักงานจำนวนไม่มาก และห้องอาหารเช้าเล็กๆ อบอุ่นด้วยการบริการแบบเป็นกันเอง ส่วนที่น่าสนใจคือการออกแบบพื้นที่ใช้งานภายในที่ใช้โถงกลางสูงเท่าอาคาร 3-4 ชั้นที่เคยเป็นโรงละครให้เป็นตัวเชื่อมกับส่วนห้องพัก โดยทำทางเดินเข้าสู่ห้องพักล้อมรอบโถงซึ่งเปิดโล่งไปจนถึงส่วนหลังคา อวดโครงสร้างที่กลายเป็นส่วนตกแต่งและช่องแสงจากภายนอก (Skylight) มุมมองจากชั้น 3 และชั้น 3 ที่มองลงมาจะเปลี่ยนไปตามทิศทางที่เราเดิน จนเกิดจินตนาการภาพการนั่งชมการแสดงในมุมต่างๆ กันด้วยจุดรวมสายตาพุ่งไปยังตำแหน่งของเวที ซึ่งปรับเป็นเคาน์เตอร์ต้อนรับ (Front Desk) ในปัจจุบัน
บรรยากาศโดยรวม
สรุปว่าหลงรักเลยล่ะค่ะกับประสบการณ์นอนในโรงละครครั้งแรกที่ Singapore บางคนอาจมองว่าบรรยากาศน่าเกรงขาม ด้วยสีและแสงธรรมชาติค่อนข้างน้อย แต่อย่างไรก็ตามหากนี่เป็นความจงใจของผู้ออกแบบต้องขอบอกว่าสามารถเก็บรายละเอียดของบรรยากาศได้อย่างน่าทึ่ง ในขณะที่เข้าไปในห้องพักก็มีความสะดวกสบายครบครันพอดีๆ กับการเดินทางไปพักเพื่อติดต่อธุรกิจ รวมทั้งทำเลที่อยู่ในย่านการค้าที่มีทุกอย่างที่จำเป็นกับการใช้ชีวิตในช่วงสั้นๆ ทำให้นึกมองย้อนไปถึงอนาคตอันใกล้กับการเปิด AEC ของบ้านเรา หลายพื้นที่ในจังหวัดที่มีศักยภาพในการติดต่อค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านคงมีการสร้างที่พักอย่าง Hotel, Hostel หรือ Home Stay ตามแต่จะเรียกกัน และหากภาครัฐมีการวางแผนและสร้างกฎระเบียบเพื่อควบคุมการขยายตัวทางด้านกายภาพและสภาพแวดล้อมอย่างมีคุณภาพ ก็น่าจะทำให้บ้านเมืองเราสวยงามน่ามอง เป็นที่ประทับใจของผู้มาเยี่ยมเยือน กับแนวคิดการสร้างคุณค่าของเอกลักษณ์ท้องถิ่นเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์นั่นเอง
ผู้เขียน : มัลลิกา บุณฑริก
อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
สถาปนิกที่หลงไหลการถ่ายทอดเรื่องราว ความรู้และประสบการณ์ในชีวิต
มองเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคม วัฒนธรรม และภาพลักษณ์จากอดีตสู่ปัจจุบัน