บทความนี้เป็นบทความภาคต่อชุดที่ 3 ของซีรีส์ที่ว่าด้วยการทำความเข้าใจเมืองในมิติของตลาดแรงงานของ Baania Insitghts โดยครั้งนี้จะเป็นการค้นหาคำตอบจากคำถามที่เราเองก็อยากรู้เหลือเกินว่า ทำอย่างไรจึงจะได้เงินเดือนสูงๆ? ปัจจัยที่ส่งผลให้แรงงานได้รับค่าตอบแทนที่สูงถูกแยกออกเป็น 2 กลุ่มปัจจัย (Galuščák et al., 2010) ได้แก่
จากข้อมูลบัญชีผู้ใช้งานออนไลน์ของเว็บไซด์หางานในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2559 ซึ่งมีกลุ่มผู้ใช้งานกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมหานครเป็นจำนวนมาก และผู้ใช้งานเป็นกลุ่มผู้มีอายุ 20-39 ปี Baania Insights ได้ปรับปรุงข้อมูลข้างต้นผ่านการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ และแบบจำลองทางเศรษฐมิติในปัจจัยที่มีผลกระทบกับเงินเดือนโดยใช้ Mincer Equation
ภาพการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของข้อมูลตำแหน่งงานใหม่ของบัญชีผู้ใช้งานเว็บไซต์หางานออนไลน์ (ที่ฝากประวัติงานออนไลน์) เขตกรุงเทพมหานคร ปี 2559
ทั้งนี้การกำหนดแบบจำลองมีการพิจารณาถึงกลุ่มปัจจัย คือ
ด้านล่างคือตารางผลการคำนวณความแตกต่างเชิงพื้นที่กับระดับเงินเดือนแรกเข้างานของแรงงาน (Intra-Urban Wage Premium) และการเติบโตของเงินเดือน (การสะสมทุนมนุษย์) แบ่งตามประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการเข้าทำงานในย่านพื้นที่ต่างๆ
จากการวิเคราะห์พบว่า การเข้ามาทำงานในเขตย่านเศรษฐกิจกลางเมืองมากเท่าใดจะเกิดผลให้แรงงานได้รับระดับเงินเดือนที่สูงขึ้นมากตามไปด้วย โดยหากเลือกเข้าทำงานในย่านสีลม-สาทร จะทำให้ได้รับเงินเดือนเริ่มต้นสูงกว่าการเลือกทำงานลักษณะเดียวกันในพื้นที่ย่านชานเมืองถึง 14.6% ทั้งนี้เป็นตัวเลขประมาณการโดยคำนวณจากค่าประมาณเฉลี่ยของแรงงานในพื้นที่
ประเด็นข้อสังเกตเรื่องการเติบโตของเงินเดือนที่เกิดขึ้นจากการเลือกทำงานในเขตย่านต่างๆ พบว่า ประสบการณ์ทำงานของแรงงานจากการเคยทำงานในต่างประเทศจะส่งผลให้ระดับเงินเดือนเพิ่มขึ้นในงานปัจจุบัน 5.8% ต่อปีที่เคยทำงานในต่างประเทศ
ทั้งนี้การตัดสินใจเข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานครในย่านต่างๆจะส่งผลต่อเนื่องกับการเติบโตของเงินเดือนที่แตกต่างกันด้วย โดยการทำงานในย่านอโศก-เพชรบุรี จะให้ผลตอบแทนของการเติบโตในเงินเดือนสูงที่สุดถึง 9.3% ต่อปีที่เคยทำงานในย่านอโศก เห็นได้ว่าการตัดสินใจทำงานในพื้นที่ย่านหนึ่งจะส่งผลกระทบถึงระดับเงินเดือนปัจจุบันและยังส่งผลต่อเนื่องติดตัวไปถึงระดับเงินเดือนที่จะได้รับในอนาคตอีกด้วย อย่างน้อยการเดินทางเข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานครก็จะสร้างความก้าวหน้าในเงินเดือนที่สูงกว่าการทำงานในพื้นที่ต่างจังหวัดโดยเฉลี่ยและยิ่งเคยทำงานในพื้นที่ใกล้เขตย่านเศรษฐกิจมากเท่าใดอัตราการเพิ่มขึ้นของเงินเดือนก็จะมากขึ้นตามโดยเฉลี่ย
ถึงแม้การเข้าทำงานในเขตพื้นที่ย่านสีลม-สาทร จะทำให้ได้ Intra-Urban Wage Premium หรือเงินเดือนเริ่มต้นงานใหม่สูงที่สุด แต่ประสบการณ์ที่เกิดจากการทำงานในย่านนี้กลับให้ประโยชน์ไม่ได้สูงเท่าย่านอื่นๆ ในทางกลับกัน การเข้าทำงานในย่านอโศกทำให้ได้เงินเดือนปัจจุบันเพิ่มขึ้นไม่ต่างจากย่านอื่นๆ แต่กลับให้ประโยชน์จากประสบการณ์ที่เคยทำงานในพื้นที่นี้สูงกว่าย่านอื่นมาก
สาเหตุของปรากฏการณ์ข้างต้นจำเป็นต้องมีการศึกษาถึงลักษณะประเภทงานในย่านต่างๆ ถึงรูปแบบลักษณะการจ่ายผลตอบแทนที่มีลักษณะเฉพาะตามกลุ่มอาชีพ สภาวะการเติบโตของกลุ่มงานในอุตสาหกรรมนั้นๆ ซึ่งจากบทความ Jobs In The City ได้ฉายภาพว่ารูปแบบการมีอยู่ของงานในพื้นที่สะท้อนการจ่ายผลตอบแทนให้กับแรงงานที่ต่างกันตามประเภทของงาน
โครงสร้างงานย่านสีลม-สาทร มีส่วนผสมความหลากหลายของการจ้างงานประเภทต่างๆ ที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งกลุ่มงานระดับบริหารจะมีความโดดเด่นกว่าย่านอื่นๆ และย่านอโศกมีการกระจุกตัวของกลุ่มงานเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สังคมศาสตร์ กฎหมาย และกลุ่มงานพนักงานขายทั่วไปอยู่สูง
หมายเหตุ : เงินเดือนเฉลี่ยเกิดจากฐานข้อมูล resume ของผู้ใช้งานเว็บไซด์หางานออนไลน์ ซึ่งมีลักษณะเป็นกลุ่ม "วัยเริ่มทำงาน" เสียเป็นส่่วนใหญ่
ด้วยสภาพการจราจรที่เป็นปัญหาในย่านพื้นที่กลางเมืองที่ผู้ทำงานในเมืองต้องเผชิญ หลายคนจึงมีความฝันในการมีที่พักกลางเมืองใกล้ที่ทำงาน จากคลังข้อมูลของ Baania สะท้อนราคาคอนโดมิเนียมมือหนึ่งแบบห้องสตูดิโอ - 1 ห้องนอน และ แบบห้อง 2 ห้องในเขตย่านเศรษฐกิจข้างต้น พบว่า สามารถแบ่งการกระจุกตัวของกลุ่มราคาได้เป็น 2 กลุ่มได้แก่ กลุ่มราคาสูงพื้นที่ย่านสีลม-สาทร, ปทุมวัน และ อโศก-เพชรบุรี และกลุ่มราคาปกติ (ราคาเฉลี่ยในพื้นที่น้อยกว่ากลุ่มราคาสูงเกือบเท่าตัว) พื้นที่ย่านอารีย์ และพระรามเก้า
หมายเหตุ: การกำหนดย่านอ้างอิงตามขอบเขตที่บทความนี้ใช้ (ตามบทความ ไม้บรรทัดวัดความเป็นเมือง)
จากข้อมูลการวิเคราะห์การจ่ายผลตอบแทนในพื้นที่ และข้อมูลราคาคอนโดมือหนึ่งในพื้นที่ พบว่า ในพื้นที่ที่มีสถานการณ์การจ่ายผลตอบแทนของเงินเดือนโดยเฉลี่ยสูง (เงินเดือนเริ่มต้นที่สูง หรือการเติบโตของเงินเดือนที่สูง) จะมีสถานการณ์ราคาที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมในพื้นที่สูงสอดคล้องใกล้เคียงกัน ซึ่งได้แก่ ย่านสีลม-สาทร, ประทุมวัน และอโศก-เพชรบุรี อีกทั้งพื้นที่ที่มีสถานการณ์การจ่ายผลตอบแทนของเงินเดือนโดยเฉลี่ยสูงแต่ไม่โดดเด่นกว่าย่านเมืองในระดับเดียวกันมากนักคือย่าน อารีย์ และพระรามเก้า จะมีสถานการณ์ราคาที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมในพื้นที่พุ่งสูงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นๆในระดับเดียวกัน (Bangkok Zone 4)
โดยปกติแล้วในสายตาของทุกคน ค่าครองชีพ และค่าที่พักอาศัยในเมืองจะมีระดับที่สูง ซึ่งในความเป็นจริงก็เป็นเช่นนั้น... แต่ไม่ว่าจะด้วยเงื่อนไขนานับประการก็ไม่สามารถฉุดรั้งการเดินทางของนักล่าฝันที่หันหางเสือเข้าสู่เมืองได้ แรงจูงใจทางการเงินยังคงเป็นสิ่งดึงดูดสำคัญให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าสู่เมือง การไหลเข้าเมืองของแรงงานมักจะนำพาผลิตภาพ (ความสามารถที่แรงงานทำได้) ออกจากพื้นที่ที่พวกเขาจากมา ดังนั้น ในภาพรวมของทั้งสังคมที่พวกเราเป็นเจ้าของแล้ว การกระจุกตัวเพียงในบางพื้นที่จะถือเป็นเรื่องที่เป็นปัญหาหรือไม่? ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้นถือเป็นสิ่งที่เหล่าผู้วางแผนเมือง และผู้กำหนดนโยบายควรตระหนักถึงประเด็นนี้เสมอ Baania Insights หวังไว้เสมอว่าจะสามารถเข้าใจสิ่งที่เป็นไปในสังคมผ่านฐานข้อมูลขนาดบิ๊กๆ และก็จะบิ๊กขึ้นเรื่อยๆ ดังคำสัญญาที่จะฉายภาพมุมมองอันน่าตื่นเต้นให้กับผู้อ่านเสมอ...แล้วอย่าลืมติดตามการนำเสนอภาคต่อของเราต่อไปนะครับ
Galuščák, K., Keeney, M., Nicolitsas, D., Smets, F., Strzelecki, F., & Vodopivec, M. (2010). The determination of wages of newly hired employees: survey evidence on internal versus external factors (Working Paper the European Central Bank (ECB) and the national central banks (NCBs) of the EU countries Series No 1153).
Glaeser, E. L., & Gottlieb, J. D. (2009). The Wealth of City: Agglomeration Economics and Spatial Equilibrium in The United States (Working paper submitted to National Bureau of Economic Research No. 14806).
Glaeser, E. L., & Maré, D. C. (2000). Cities and Skills. Journal of Labor Economics, 19(2).
Jumpol Goonto. (2017). Intra-Urban Wage Premium and Influence of Urban Characteristics in Bangkok: Evidence from Job Board website. Master degree thesis of faculty of Economics, Chulalongkorn University, Bangkok.
Lekfuangfu N.W., Nakavachara V. and Sawaengsuksant P. (2016). Two sides of the same coin: Glancing at labour market mismatch with user-generated internet data. PIER discussion paper No.53.