ปัญหาการจราจรส่งผลให้รถติด มลพิษเยอะ คนป่วย
คงไม่ต้องบอกว่า กรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในเมืองที่รถติดที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเพิ่งเผยผลสำรวจว่าคนกรุงเทพฯ เสียโอกาสทางเศรษฐกิจจากการที่ต้องติดอยู่ในท้องถนนคิดเป็นมูลค่าประมาณ60 ล้านบาทต่อวัน หรือคิดเป็นประมาณ 11,000 ล้านบาทต่อปี (เทียบเท่ากับมูลค่าลงทุนของรถไฟฟ้า 1สายเลยทีเดียว) และล่าสุด Uber พึ่งเผยผลสำรวจว่า คนกรุงเทพฯ จะต้องเสียเวลาโดยเฉลี่ยไป 72 นาที หรือคิดเป็น 24 วันต่อปีกับสภาพรถติดและการหาที่จอดรถ
นอกเหนือไปจากมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้ว รถติดยังทำให้คนกรุงเทพฯ มีปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจเพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลสถิติการเจ็บป่วยของกองวิชาการสำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร ยังระบุว่าคนกรุงเทพฯยังมีแนมโน้มที่จะเป็นโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มสูงมากขึ้นทุกๆ ปี เฉลี่ยปีละ 20,000-30,000 ราย ไม่ว่าจะเป็นโรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด โดยมีสาเหตุหลักมาจากปริมาณมลพิษในบรรยากาศที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น ฝุ่นละอองจากควันรถยนต์ เป็นต้น
คำถามสำคัญคือ ทำไมกรุงเทพฯ ถึงรถติดกว่าเมืองอื่นๆ ทำไมคนกรุงเทพฯ ต้องมีต้นทุนด้านเวลา และเศรษฐกิจที่มากกว่าคนเมืองอื่นๆ หากพิจารณาในเชิงผังเมืองแล้ว คำตอบคงมีอยู่อย่างมากมายไม่ว่าจะเป็น ระบบโครงสร้างพื้นฐานไม่ครอบคลุม ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น รถไฟฟ้าไม่ครอบคลุม พื้นที่ถนนน้อย หรืออาจจะเป็นเรื่องความไม่ต่อเนื่องของระบบการเดินทาง นโยบายไม่ส่งเสริมให้เดินทางอย่างอื่น แต่เน้นส่งเสริมให้ใช้รถยนต์ เป็นต้น
ภาพรถยนต์ที่มุ่งหน้าสู่การใจเมือง (ภาพจาก roojai)
ความไม่สมดุลของจำนวนบ้านและจำนวนแหล่งงานที่กระจายตัวอยู่ภายในเมือง
ความไม่สมดุลนี้ส่งผลอย่างไรกับรถติด ลองคิดง่ายๆ ดูว่า ถ้าคนกรุงเทพฯ หลายล้านคนที่อาศัยอยู่นอกเมือง ทุกคนต้องขับรถเข้ามาทำงานในพื้นที่แถวปทุมวัน สีลม สาทร อโศก หรือพระราม 9 ในเวลา 7-9 โมงเช้า และขับรถกลับออกไปในเวลาหลักเลิกงานคือช่วงเวลาประมาณ 4-6 โมงเย็น ด้วยปริมาณถนนกรุงเทพฯ ที่ต่ำกว่ามาตรฐานประมาณ 3 เท่า บวกกับทางเลือกของเส้นทางและรูปแบบการเดินทางที่จำกัด การที่คนกรุงเทพฯ ต้องขับรถข้ามเขตจากบ้านมาเพื่อทำงานในพื้นที่ในเมืองก็คงไม่แปลกอะไรที่จะทำให้รถติดสาหัสระดับที่ตำรวจจราจรต้องเรียกหลักสูตรการทำคลอดบนถนน
แค่ไหนที่เรียกว่าสมดุล?
แนวคิดเรื่องการสร้างความสมดุลระหว่างจำนวนบ้านและแหล่งงาน คือหนึ่งในแนวคิดสำคัญของการบริหารจัดการ โดยแนวคิดนี้ชี้ให้เห็นว่า เมืองสมดุลควรมีลักษณะทางสังคมที่หลากหลาย ทุกคนควรได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกันในการอยู่อาศัยและทำงานในเมืองเดียวกัน หลักการสำคัญคือ คนสามารถอยู่อาศัยและทำงานอยู่ในพื้นที่เดียวกันได้ สามารถลดการเดินทางด้วยรถยนต์ ลดระยะทาง ในขณะที่เพิ่มการเดินทางประเภทจักรยานและการเดินได้
การประเมินความสมดุลของเมืองส่วนใหญ่แล้ว มักจะใช้จำนวนงานเปรียบเทียบกับจำนวนหลังคาเรือนในพื้นที่ ซึ่งสื่อถึงโอกาสในการหาที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับความต้องการของคนทำงาน ในทางปฏิบัติความสมดุลของเมืองไม่ได้เกิดขึ้นที่อัตราส่วน 1 ต่อ 1 แต่เกิดขึ้นในเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป บางเมืองกำหนดให้อัตราส่วนจำนวนงานต่อจำนวนบ้านอยู่ในช่วงระหว่าง 0.75 ถึง 1.25 งานต่อหน่วยพักอาศัย บางเมืองกำหนดจำนวนงานไว้ที่ 1.5 งานต่อจำนวนที่อยู่อาศัย สำหรับประเทศ ในการจัดทำผังเมืองรวมฉบับเอ็มไอที กำหนดสัดส่วนความสมดุลของเมืองไว้ที่ 1.75 ถึง 2.35 งานต่อหน่วยที่พักอาศัย
ภาพกรุงเทพฯ ที่ไม่สมดุล
กรุงเทพฯ ที่ไม่สมดุล
กรุงเทพฯ ขาดความสมดุลของแหล่งงานและที่อยู่อาศัย เมื่อพิจารณาตามเกณฑ์การสร้างความสมดุลของผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ฉบับเอ็มไอทีพบว่า
จากข้อมูลที่อยู่อาศัยแหละแหล่งงานปี 2554 กรุงเทพฯ มีเพียงแค่ 5 เขต ในกรุงเทพฯ ที่มีสัดส่วนพื้นที่อยู่อาศัยและแหล่งงานที่สมดุลตามเกณฑ์ ได้แก่ เขตพระนคร เขตพญาไท เขตราชเทวี เขตสัมพันธวงศ์ และเขตสาทร ในขณะที่เขตที่มีแหล่งงานสูงกว่ามาตรฐานคือเขตห้วยขวาง เขตปทุมวัน เขตบางรัก และเขตคลองเตย ที่เหลือกว่า 41 เขตเป็นเขตที่มีที่อยู่อาศัยสูงกว่าแหล่งงาน โดยเฉพาะเขตสายไหม เขตคลองสามวา และเขตบางเขน ที่มีสัดส่วนที่อยู่อาศัยมากกว่าแหล่งงานหลายเท่า
ความไม่สมดุลดังกล่าวนี้ จึงส่งผลระยะทางในการเดินทางระหว่างที่อยู่อาศัยและแหล่งงาน รวมถึงความต้องการในการใช้พาหนะส่วนบุคคลเพิ่มมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากผลการศึกษาของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มตัวอย่างที่อยู่อาศัยในเขตที่สมดุล มีระยะการเดินทางเฉลี่ยที่น้อยกว่ากลุ่มตัวอย่างในเขตพื้นที่ที่ไม่สมดุล และยังมีสัดส่วนการใช้ระบบขนส่งมวลชนสูงถึง63% ในขณะที่พื้นที่ที่ไม่สมดุลมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 32-33% หมายความว่าคนที่อยู่อาศัยในเขตที่สมดุลมีโอกาสที่จะต้องเดินมากกว่า เพราะต้องเดินทางไปเพื่อใช้ระบบขนส่งสาธารณะนั่นเอง
ในเขตที่สมดุล ทำให้คนเดินทางสั้นขึ้น โดยใช้รถยนต์ส่วนตัวน้อยลง และใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เดินหรือจักรยานมากขึ้น นอกจากจะส่งผลให้ปริมาณรถยนต์ในเขตนั้นลดลงแล้ว ยังส่งผลให้การปล่อยมลพิษทางอากาศ และลดการใช้พลังงานได้อีกทางเช่นกัน โดยในเขตที่เมืองสมดุลมีโอกาสที่คนหนึ่งคนจะระบายฝุ่นละออกขนาดเล็กน้อยกว่าเขตที่สมดุลกว่า 60% (460 ต่อ 273 กรัม/เที่ยว) ในขณะเดียวกันยังมีโอกาสที่จะปล่อยก๊าซ CO2 น้อยกว่าเขตที่ไม่สมดุลอีกกว่า 20% (0.547 ต่อ 0.422 กรัม/เที่ยว)
แน่นอนว่าปัญหาการจราจรที่ติดขัดของกรุงเทพฯ ไม่ได้เกิดขึ้นจากการที่เมืองไม่สมดุลแต่เพียงอย่างเดียว แต่การที่กรุงเทพฯ มีจำนวนเขตเพียง 5 เขต คิดเป็นพื้นที่ไม่ถึง 10% ที่มีความสมดุล นั้นก็เป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่าทำไมเรามักจะเห็นภาพรถติดเพียงฝั่งใดฝั่งหนึ่งของถนน แน่นอนว่า เราไม่ได้เลือกที่อยากจะอยู่ไกลที่ทำงาน ถ้าเลือกได้ก็คงอยากจะมีมีบ้านอยู่ใกล้ที่ทำงาน อยากเดิน หรืออยากปั่นจักรยานไปทำงาน และเอาเวลาในการที่ต้องติดอยู่บนท้องถนนไปทำอย่างอื่นแทน
การแก้ปัญหาเรื่องเมืองไม่สมดุลของกรุงเทพฯ จึงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ประชาชนทั่วไปอย่างเราจะจัดการตัวเองได้ ภาพใหญ่ของเพิ่มจำนวนแหล่งงานในพื้นที่อีกว่า41 เขต และการเพิ่มจำนวนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ 4 เขตที่มีราคาที่ดินแพง ถือเป็นความท้าทายสำคัญของรัฐและการใช้เครื่องมือทางผังเมืองในการสร้างความสมดุลเพื่อลดปัญหาเมืองที่เรื้อรังยาวนานนี้
ข้อมูลจาก
kasikornresearch
thaipublica
thairath
journals
กรุงเทพมหานคร, คณะที่ปรึกษาเอ็มไอที, คณะที่ปรึกษาอีซี (2538) ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร.
สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
กรุงเทพมหานคร
tci-thaijo