เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีศักยภาพสูง ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมมูลค่านับแสนล้านบาทต่อปี มีสถาบันระดับอุดมศึกษา
ถึง 7 แห่ง และเป็นเมืองที่โดดเด่นหลากหลายด้าน สถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ทำให้บริเวณพื้นที่รอบเมืองมีความ
หนาแน่นเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรตามมา ทีมงาน HBG มีโอกาสพูดคุยกับ นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ถึงแนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนเพื่อให้
เชียงใหม่เป็นเมืองที่สวยงามน่าอยู่ การเดินทางสะดวกสบาย
เมืองขยายตัวส่งผลให้การจราจรมีปัญหา แม้ศึกษาหนทางแก้ไขมานาน
เดิมจังหวัดเชียงใหม่มีการจัดทำแผนแม่บทมาแล้ว 2 ครั้ง ในปี 2538 และปี 2548 ซึ่งผ่านมากว่า 30 ปีแล้ว
แต่สถานการณ์ต่างๆได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตอย่างมาก อัตราการเคลื่อนตัวของรถอยู่ที่ประมาณ
10 – 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น
สนข. จึงได้มีโครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาขนส่งสาธารณะของจังหวัดเชียงใหม่ โดยสาระสำคัญ
คือ เป็นแผนการเดินทางสำหรับอนาคต จึงต้องมีการศึกษารายละเอียด เรื่องจำนวนประชากรตลอดจน
นักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังจังหวัดเชียงใหม่ และศึกษาเรื่องจุดหมายการเดินทางต่อไป
ทั้งนี้ปัจจุบันการเดินทางในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่าเดินทางโดยรถส่วนบุคคล ทั้งรถจักรยานยนต์, รถยนต์
มากถึงร้อยละ 90 ใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพียงร้อยละ 10 ในขณะที่เมืองซึ่งพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืน
มีสัดส่วนการใช้ระบบขนส่งสาธารณะร้อยละ 40 รถส่วนบุคคลร้อยละ 60 ซึ่งถือเป็นเกณฑ์มาตรฐาน
สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ นับว่าเข้าขั้นวิกฤติ ทั้งรถติดและใช้เวลาเดินทางมากขึ้น ในขณะที่ความเร็วการจราจร
ต่ำลง ส่งผลให้การใช้น้ำมันไม่คุ้มค่า มลพิษสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นในเมือง อีกทั้งเป็นการบ่อนทำลายสุขภาพ
และเกิดปัญหาอุบัติเหตุ
ฟื้นแผนแม่บท ให้ได้ข้อสรุปวางแผนดำเนินการ
สนข.จึงเสนอให้มีการจัดทำโครงการศึกษาแผนแม่บท การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะสำหรับเมืองใหญ่
ในภูมิภาค เพราะหลายเมืองมีการเติบโตสูง เชียงใหม่ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ต้องศึกษาอย่างจริงจัง ที่ผ่านมา
10-20 ปี ได้มีการศึกษาหลายครั้ง ทุกๆครั้งได้ศึกษามาก็ไม่คืบหน้า ไม่ได้ทำกันจริงๆ ด้วยเหตุผลหลายเรื่อง
อีกทั้งมีการลงทุนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่กรุงเทพฯ เพราะเป็นเมืองใหญ่มีปัญหาการจราจรเยอะมาก
จนเป็นอุปสรรค แต่ขณะนี้กรุงเทพฯได้ดำเนินการมา 10 กว่าปีแล้ว ถือว่าเดินหน้าไปได้มาก จึงได้หันมา
ดำเนินการในส่วนภูมิภาค ทั้งเชียงใหม่, นครราชสีมา, ขอนแก่น, ภูเก็ต, พิษณุโลก และหาดใหญ่ ขั้นตอน
ของการทำงาน สนข. หลังจากการศึกษาแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2559 ก็จะเสนอครม. เพื่อเห็นชอบแผนแม่บท
ซึ่งจะใช้ยึดเป็นแนวทางพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะตามแผนแม่บท อีกทั้งจะช่วยให้เห็นภาพชัดเจนว่าต้องทำอะไร,
ช่วงเวลาไหน, ใช้เงินลงทุนเท่าไร ซึ่งอย่างน้อยรัฐบาลได้เห็นแนวทางการพัฒนาในระบบขนส่งสาธารณะของ
เชียงใหม่ ทั้งงบประมาณ, ระยะเวลาในการลงทุน, ระบบที่เหมาะสม และกำหนดการเริ่มลงทุน
LRT, BRT ล้วนมีความเป็นไปได้ ตั้งเป้าใน 10 ปี อาจเป็นรูปธรรม
ระบบขนส่งมวลชนของเชียงใหม่มีหลายแนวทางที่มีความเหมาะสม ทั้งรถเมล์ราง (บีอาร์ที) เป็นการนำรถเมล์
ไปวิ่งในช่องทางพิเศษ, ระบบขนส่งรางเบา (แอลอาร์ที), รถราง (แทม ,โมโนเรล) ทั้งนี้ต้องสำรวจข้อมูลและ
วิเคราะห์ เพื่อให้ทราบระบบที่เหมาะสมเมืองเชียงใหม่ต่อไป
โดยต้องเป็นระบบขนส่งสาธารณะที่มีมาตรฐานตอบโจทก์ประชาชนได้ หากคิดเพียงสร้างถนนจะแก้ปัญหา
ไม่ได้ในระยะยาว ต่อไปเสน่ห์ของเมืองเชียงใหม่ก็จะหายไป สนข. ต้องออกแบบการเดินทางให้มีรูปแบบ
ที่เหมาะสมกับวิถีชีวิต, วัฒนธรรมของชาวเชียงใหม่ และสอดคล้องกับ การเจริญเติบโตของเมือง ซึ่งปัจจัย
ของเวลาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของปัญหา
นอกจากนั้นจะต้องพัฒนาสถานีควบคู่ไปกับเรื่องการระบบขนส่งสาธารณะ ให้เป็นระบบเกื้อกูลกัน โดยส่งเสริม
ให้ภาคธุรกิจสนใจ มีส่วนรวมในการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะและได้ประโยชน์จากการพัฒนาพื้นที่รอบสถานี
ก็จะเป็นสิ่งที่ตอบโจทก์ซึ่งกันและกัน นับเป็นแนวทางที่ ทำให้การพัฒนาเมืองยั่งยืน เช่นในกรุงเทพมหานครก็
จะใช้ระบบภาครัฐร่วมกับภาคเอกชน หรือที่เราเรียกว่า พีพีพี เพื่อให้เอกชนมาดำเนินการในเรื่องนี้มากขึ้น
ส่วนตัวแล้วเชื่อว่าการดำเนินการจะเป็นรูปร่างได้ภายในระยะเวลาประมาณ 10 ปีนับจากนี้ ซึ่งหลายฝ่ายคงต้อง
ช่วยผลักดันให้การดำเนินการเป็นไปตามแผนที่วางไว้เช่นกัน
ระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพสามารถเข้าถึงและกลมกลืนกับวิถีชีวิตของชาวเชียงใหม่ เปรียบเหมือน
ละครเรื่องยาวที่ทุกคนเฝ้ารอคอยมายาวนาน แผนการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ภายใต้การศึกษา
ของ สนข.จึงถือเป็นความหวังใหม่ (อีกครั้ง) ที่แม้จะออกมาในรูปแบบใดนั้นไม่นับว่าเป็นสาระสำคัญ
ขอเพียงแค่ให้เกิดขึ้นและใช้ได้โดยเร็ววันเท่านั้นก็จะช่วยสร้างรอยยิ้มบนใบหน้าได้ทันที