ระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ถูกจับตามองในฐานะบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด มีแนวทางการพัฒนาที่ชัดเจน โดยโฟกัสไปที่คอนโดมิเนียมตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า รวมถึงการเป็นผู้นำเทรนด์อสังหาฯที่ยิงโดนใจคนรุ่นใหม่และยังเป็นขวัญใจนักลงทุนอสังหาฯที่มีคนติดตามอยู่ไม่น้อย วันนี้ "ชานนท์ เรืองกฤตยา" ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ได้วิเคราะห์เทรนด์ใหม่ๆ ที่จะเกิดผลกระทบกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีทั้งมุมบวกและมุมลบที่น่าสนใจ
ชานนท์ มองว่า การพัฒนาระบบคมนาคมของประเทศภาย ด้วยวงเงินรวมกว่า 8.95 แสนล้านบาท ซึ่งมีทั้งการพัฒนาระบบรถไฟฟ้า รถไฟชานเมือง รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง ทางด่วน และมอเตอร์เวย์ จะส่งผลให้เกิดทำเลใหม่ๆ ที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้น เช่น ทำเลนอกเขตศูนย์กลางเศรษฐกิจ (city Fringe) ของกรุงเทพฯ ทำเลในเขตชานเมือง รวมไปถึงทำเลในต่างจังหวัดโดยเฉพาะในพื้นที่ของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา
สำหรับในกรุงเทพฯ รถไฟฟ้าเริ่มขยายออกนนอกเมือง โดยจะมีรถไฟฟ้าเปิดให้บริการ 5 สาย รวม 87 สถานี ระยะทาง 121.6 กิโลเมตร และในปี 2570 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายตามแผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนถึงเวลานั้นในกรุงเทพฯและปริมณฑลจะมีรถไฟฟ้าให้บริการ 11 สาย 297 สถานี ระยะทางรวม 466.1 กิโลเมตร ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเมือง และตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยทำเลตามแนวรถไฟฟ้าจะกลายเป็นทำเลทอง และยิ่งทำเลใจกลางเมืองจะยิ่งกลายเป็นทำเลทองฝั่งเพชรที่นับวันราคาจะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล รวมทั้งยังเปลี่ยนวิถีชีวิต และรูปแบบการอยู่อาศัยของคนเมืองให้กลายเป็น Vertical Living หรือการอยู่อาศัยในแนวดิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ
นายชานนท์ กล่าวอีกว่า สำหรับทำเลตามแนวรถไฟฟ้าที่มองว่าจะมีศักยภาพที่ดีในอนาคต คือ ทำเลตามแนวรถไฟฟ้าสายสีเชียวจากบางนา-สมุทรปราการ ซึ่งเชื่อมต่อเป็นเส้นเดียวกันเข้าสู่เมืองตามแนวถนนสุขุมวิท ประกอบกับราคาที่ดินในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการยังไม่แพง และมีชุมชนที่มีความหนาแน่นตามแนวเส้นทาง ซึ่งในอนาคตจังหวัดสมุทรปราการจะเป็นเมืองใหม่ที่รองรับการขยายตัวของกรุงเทพฯ สำหรับอนันดาก็จะโฟกัสการพัฒนาคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้าสายนี้มากขึ้น
นอกจากนี้ รถไฟชายเมืองสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต เป็นอีกเส้นทางที่มีความน่าสนใจ เพราะมีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม แต่ยังติดตรงที่การมีถนนที่มากเกินไปเพราะมีทั้งถนนไฮเวย์ ทางด่วน โลคัลโรด อาจจะกลายเป็นข้อจำกัดของการขยายตัวของเมืองได้ ส่วนเส้นทางรถไฟฟ้าอีกสายที่มีความน่าสนใจคือสายสีส้ม ที่วิ่งผ่านรามคำแหง ซึ่งเป็นชุมชนที่มีความหนาแน่นสูง อย่างไรก็ตาม รถไฟฟ้าทุกเล้นทางหากมีการเข้าไปพัฒนาโครงการที่มากเกินไป โอกาสที่จะเกิดปัญหาโอเวอร์ซัพพลายเหมือนสายสีม่วง ก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน
สำหรับแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นภายใน 10-20 ปีจากนี้ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล อันเนื่องมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ชานนท์ ยกตัวอย่างว่า ต่อไปคนจะอายุยืนขึ้นไปจนถึงขั้นไม่ตาย เพราะสามารถเอาชนโรคภัยต่างๆ ได้ด้วยเทคโนโลยี โดยการเข้าไปเปลี่ยนแปลงข้อมูลในดีเอ็นเอ อัตราการเกิดจะลดน้อยลง ความต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์จะลดน้อยถอยลง ต่อไปข้อมูลต่างๆ จะฟรีหมด ซัพพลายและดีมานด์จะสมดุลกันด้วยข้อมูล การระดมทุนอสังหาริมทรัพย์จะระดมทุนผ่านคราวด์ฟันดิ้ง (Crowdfunding) ต่อไปเทคโนโลยี่ด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligent) จะฉลาดกว่าคน โดยแทบจะไม่ต้องคิดทำอะไรมี AI ทำแทนทั้งหมด ธุรกิจบริการจะมีบทบาทที่สำคัญยิ่งขึ้นเนื่องจากเกิดระบบ Sharing Economy หรือ เศรษฐกิจแบ่งปัน ซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจะกระทบกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั้งทางตรง และทางอ้อม
"ต้องยอมรับว่าเทรนด์โลกปัจจุบัน นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามามีส่วนในการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยี AI ถือเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างในทุก ๆ ด้าน โดยมีการคาดการณ์ว่า AI จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วขยายตัวได้ถึง 1.7 เท่า ในปี 2578 และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานโลกได้ถึง 30-40% โดยแวดวงที่ AI เริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องในปัจจุบัน ได้แก่ แวดวงการเงิน แวดวงการแพทย์ และแวดวงธุรกิจ โดยมีการใช้ AI จัดเก็บข้อมูลเพื่อรับทราบพฤติกรรมมนุษย์ นำไปสู่การนำเสนอสินค้าได้ตรงตามกลุ่มเป้าหมาย"
สำหรับในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังมีเวลาพอที่จะปรับ ในช่วง 5 ปีนี้ เป็นช่วงเวลาที่จะพิสูจน์ว่า ใครคือของจริง โดยปัญหาใหญ่ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในขณะนี้คือสมการของการลงทุนที่ไม่สมดุลจากต้นทุนที่ดินที่สูงขึ้น เริ่มทำให้การพัฒนาเป็นไปได้ยากขึ้นและไม่สอดคล้องกับกำลังซื้อที่โตตามไม่ทัน ใครวางกลยุทธ์ผิด ใครสายป่านไม่ยาว หรือเป็นแค่มือสมัครเล่น ช่วงเวลานี้จะพิสูจน์ว่าจะไปต่อได้หรือไม่
ชานนท์ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพที่ชัดขึ้น โดยตั้งข้อสังเกตว่า ทุกวันนี้คอนโดมิเนียมราคา 3 แสนต่อตารางเมตร สามารถโอนได้ 100% หรือไม่ และหากต้องซื้อที่ดินที่ซื้อกันตารางวาละ 3 ล้านบาท โดยจะต้องพัฒนาคอนโดมิเนียมขายในตารางเมตรละ 5 แสนบาท จะสามารถพัฒนาสินค้าที่ตอบสนองต่อตลาดได้มากน้อยแค่ไหน ในเมื่อราคา 3 แสนบาทยังโอนได้ไม่เต็มร้อย แต่ที่แน่ๆ ทำให้เกิดราคาอ้างอิงใหม่สำหรับเจ้าของที่ดิน ดูตัวอย่างคอนโดมิเนียมในท่องหล่อ ซึ่งเชื่อว่า อีก 5 ปี หลังจากคอนโดมิเนียมที่มีอยู่สร้างเสร็จจะถล่มราคากันแหลก
ขณะเดียวกัน ตลาดในทุกเซ็กเมนต์จะเริ่มอิ่มตัว เนื่องจากประชากรในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ไม่ขยายตัว การทำตลาดอสังหาริมทรัพย์จะทำได้ยากขึ้น จากที่เคยเน้นเรื่องทำเลอย่างเดียวไม่พอ ต้องเน้นในเรื่องของการพัฒนาโปรดักต์ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคให้มากขึ้นด้วย
ชานนท์ กล่าวอีกว่า แผนธุรกิจ (Business Model) ของอนันดาจะมุ่งมั่นสู่ Urban Living Solutions โดยการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพบนทำเลศักยภาพสูงและมีความสะดวกสบายในการเดินทางจะช่วยให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางถูกลงพร้อมพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อนำไปเป็นส่วนหนึ่งของที่อยู่อาศัยที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัย และสะดวกสบายสู่คุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นของคนเมือง ดังเช่นแนวคิดในการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจสู่ UrbanTech ของอนันดาฯ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสู่ความเปลี่ยนแปลงด้านบวกของโลกผ่านกระบวนการคิดแบบก้าวกระโดด ซึ่งเป็นความท้าทายระดับโลก
ยุทธศาสตร์การลงทุนและแผนการดำเนินงานของบริษัท ต้องมีการปรับตัวและพัฒนาตัวเองอยู่เสมอให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด โดยเทคโนโลยีจะเป็นตัวช่วยอันดับแรกๆ ที่ผู้นำทางธุรกิจจะเลือกใช้เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าและบริการ เพื่อก้าวสู่ความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมของตน และจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่โครงการที่อยู่อาศัยจะมีการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่เป็นแค่วัสดุในรูปทรงนั้นๆ ในสถานที่นั้นๆ สู่สิ่งที่สามารถอำนวยความสะดวกและกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต นำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นของคนในชุมชนเมือง
Baania มี Line แล้วนะ
ติดตามเรื่องราวอสังหาริมทรัพย์แบบอินเทรนด์ ได้ทุกวันผ่าน Line ID @baania