Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ดันสนามบินเชียงใหม่ 2 ปักธงบ้านธิหมื่นไร่-แก้วิกฤติจราจรจ่ออัมพาตใน 5 ปี

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

จราจรบก-อากาศเชียงใหม่วิกฤติหนัก กรอ.จังหวัด -ทอท.ทุบโต๊ะ ยึดที่ดินหมื่นไร่ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน รอยต่อแม่ออน สันกำแพง ตอกเข็มสนามบินแห่งที่ 2 รับนักท่องเที่ยวทั่วโลก ทะลัก 20 ล้านคนในอนาคต กรอ.-กกร.จังหวัดยันอีก 5 ปี เอาไม่อยู่ แม้ขยายอาคารผู้โดยสาร-ที่จอดรถ

นางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) จังหวัดเชียงใหม่ เห็นชอบให้พัฒนาสนามบินนานาชาติภาคเหนือแห่งที่ 2 ตามที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (ทอท.) ศึกษา และกระทรวงคมนาคมเห็นชอบบริเวณอำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูนคาบเกี่ยวตำบลบ้านแม่ออนอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ บางส่วนรวม 1 หมื่นไร่ เนื่องจากสนามบินเชียงใหม่เริ่มวิกฤติ แม้จะได้รับงบสร้างอาคารผู้โดยสารเพิ่ม ขยายที่จอดรถอีก 2,000 คันรวมทั้งรันเวย์ มองว่าแม้จะปรับปรุงสนามบินเก่า แต่จะรองรับได้เพียง 12 ล้านคนในอีก 5 ปีข้างหน้าเท่านั้น หลังจากนั้น จะไม่มีพื้นที่รองรับได้อีก เนื่องจากได้ขยายจนเต็มพื้นที่แล้ว

โดยวันที่ 8 ธันวาคม นี้ คณะกรรมการร่วม 3 สถาบันเอกชนจังหวัดเชียงใหม่ (กกร. จังหวัด) จะสรุปพื้นที่เสนอ กรอ.กลางและคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป ขณะที่จังหวัดลำปางได้เสนอพื้นที่พัฒนาสนามบินแห่งที่ 2 ที่อำเภอห้างฉัตรเช่นกัน แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ศึกษา ดังนั้นจึงเลือกที่อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูนและรอยต่อคาบเกี่ยวอำเภอสันกำแพงจังหวัดเชียงใหม่ดังกล่าว

ด้านน.อ. วิสูธ จันทนา ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ กล่าวถึงแผนสร้างสนามบินภาคเหนือแห่งที่ 2 ว่า จะต้องพิจารณาจากทอท.จังหวัดลำปางด้วย โดยเบื้องต้นจะขยายสนามบินเชียงใหม่ก่อน เนื่องจากปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางผ่านท่าอากาศยานเชียงใหม่เฉลี่ยเดือนละประมาณ 5 หมื่นคน และในปีงบประมาณ 2559 มีผู้โดยสารใช้บริการท่าอากาศยานเชียงใหม่ทั้งสิ้นประมาณ 9.2 ล้านคน คาดว่าในปี 2560 จะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 10% ประมาณ 10 ล้านคน ทอท.จึงได้อนุมัติแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ซึ่งโครงการพัฒนาในระยะแรกคาดว่าจะศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ และคาดว่าเปิดให้บริการปี 2568 รองรับผู้โดยสารได้ 18 ล้านคน โดยจะพัฒนาต่อเนื่องจนถึงปี 2578 รองรับผู้โดยสารได้ 20 ล้านคน

 “ขยายสนามบินทางด้านทิศใต้ต่อจากอาคารปัจจุบัน และอาคารเดิมตามแผนที่จะเป็นโดเมสติกทั้งหมด ตรงนั้นจะมี 2 อาคาร จะมีลานจอดรถเชื่อมระหว่างอินเตอร์กับโดเมสติก มี 2 อาคารจอดรถ นอกจากนี้จะมีหลุมจอด ขยายลานจอด จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้อีก 10 ปีข้างหน้า”

น.อ. วิสูธ กล่าวว่า เมื่อเที่ยบตัวเลขปริมาณจราจรทางอากาศ ในปีงบประมาณ 2558 (ม.ค.-ธ.ค.) มีอากาศยานพาณิชย์ขึ้นลง 63,843 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากปี 2557 คิดเป็น 21% มีเที่ยวบินระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นถึง 32% ปัจจุบันมีสายการบินที่บินประจำภายในประเทศ จำนวน 7 สายการบิน ทำการบินใน 16 เส้นทาง และสายการบินระหว่างประเทศจำนวน 19 สายการบิน 20 เส้นทาง มีเที่ยวบินเฉลี่ยต่อวัน 190 เที่ยวบินขณะจำนวนผู้โดยสารตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม 2558 มีจำนวนผู้โดยสารทั้งสิ้น 8.36 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ร้อยละ 26 เป็นผู้โดยสารที่เดินทางระหว่างประเทศประมาณ 1.96 ล้านคนเพิ่มขึ้น 44% ในจำนวนดังกล่าวเป็นผู้โดยสารชาวจีน 1.12 ล้านคน สำหรับปริมาณการขนถ่ายสินค้ามีทั้งสิ้น 18,425 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2557 2.7%

ทั้งนี้ แม้เชียงใหม่จะมีระบบขนส่งสาธารณะ อาทิ รถตู้รถเมล์ รถสองแถวแดง หากเทียบปริมาณรถยนต์ ส่วนตัวที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ระบุมากถึง 1 ล้านคันต่อวัน และเริ่มติดสัญญาณไฟนานถึง 20 นาที ประกอบกับการขยายตัวของที่อยู่อาศัยทั้งบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม เกาะไปยังนอกเมืองตามถนนวงแหวนรอบที่ 2 และ 3 ขณะที่แหล่งงานยังอยู่ในกลางใจเมืองเชียงใหม่

หากไม่นำระบบรางมาใช้ ในอนาคตเชียงใหม่ น่าจะถึงจุดวิกฤติไม่แพ้กรุงเทพมหานคร ล่าสุด นายบุญส่ง สัตโยภาส อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า ได้ศึกษาแผนแม่บทรถไฟฟ้าเข้ามาแก้ปัญหาการจราจรในจังหวัด 3 เส้นทาง ระยะทางรวม 30 กิโลเมตร วิ่งรับส่งผู้โดยสารไปตามถนนวงแหวนรอบกลาง เชื่อมสถานที่สำคัญๆ ได้แก่ สนามบิน สถานศึกษา ห้างสรรพสินค้า ศูนย์ราชการ อีกทั้ง จัดระบบรถโดยสารขนคนที่อยู่อาศัยจากนอกเมือง อาทิ ตำบลบ้านแม่ออนอำเภอสันกำแพง ที่เป็นพื้นที่เปิดใหม่ที่มีโครงการบ้านจัดสรรเกิดขึ้น เข้ามาในเมือง อย่างไรก็ดี ได้เสนอแผนเป็นรถไฟใต้ดิน แต่เนื่องจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ไม่เห็นชอบเนื่องจากต้นทุนสูง เฉลี่ย กิโลเมตรละ 2,000 ล้านบาท ในทางกลับกันหากเป็นรถไฟฟ้าบนดินก็จะกระทบต่อการเวนคืนบ้านเรือนประชาชนในเขตใจกลางเมืองเชียงใหม่จำนวนมาก คาดว่า ปี 2570 น่าจะเปิดให้บริการสามารถรองรับคนได้ 4 ล้านคนต่อเที่ยวต่อวัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,215 วันที่ 4 – 7 ธันวาคม 2559

 

ที่มา : thansettakij

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร