Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ถนนที่เดินผ่าน อาคารที่มองเห็น "กงสุลอังกฤษ"

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

เล่าไปแล้วว่ารู้จักและเคยเข้าไปเยี่ยมชมกงสุลอเมริกา ซึ่งที่จริงก็แค่ห้องสมุดยูซิสที่อยู่ในบริเวณเดียวกันเท่านั้น สำหรับ “สถานกงสุลอังกฤษ” นั้นยิ่งกว่าสถานกงสุลสหรัฐอเมริกา เพราะไม่เคยเข้าไปภายในเลยแม้แต่ครั้งเดียว ได้แต่เฝ้ามองจากถนน รู้เห็นสภาพจากภายนอกเท่านั้น

จากมุมมองภายนอกประกอบกับวัยเยาว์ของผู้เขียน ทำให้รู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ของอังกฤษในเวลานั้น สมกับเป็นประเทศมหาอำนาจที่สามารถยึดครองประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า อินเดียและมาลายูได้ อาณาบริเวณกงสุลจึงกว้างขวาง สวยงามคล้ายกับพระราชวังหรือที่ทำการในยุโรป จำได้ว่าริมถนนมีรั้วต้นไม้สูงและหนาทึบ มีประตูทางเข้าที่เป็นประตูเหล็กดัดขนาดใหญ่สองประตูสำหรับทางเข้าและทางออก ระหว่างถนนเข้าออกมีสนามหญ้าเรียบอยู่ตรงกลาง มีแปลงดอกไม้ประดับ ปลายถนนมีรูปปั้นพระราชินีวิคตอเรียประทับบนแท่นหินสูง ดูเด่นสง่าน่าเกรงขาม

พื้นที่สถานกงสุลดูจะกว้างใหญ่มาก นอกจากด้านหน้ากว้างหลายร้อยเมตรตามความยาวถนนเจริญประเทศแล้ว ที่ดินยังลึกเข้าไปจนจรดแม่น้ำปิงเป็นระยะหลายร้อยเมตรเช่นกัน ด้วยมีความเหมาะสมในยุคสมัยที่การสัญจรทางน้ำมีความสำคัญ

เมื่อดูจากแผนที่นอกจากที่ตั้งของสถานกงสุลอังกฤษจะอยู่สุดปลายถนนศรีดอนไชยที่แยกมาจากถนนช้างคลานแล้ว แนวถนนศรีดอนไชยยังยาวต่อเนื่องไปจนถึงแจ่งขะต้ำทางทิศใต้ของเมืองเก่า จึงดูเหมือนว่ามีการวางผังเลือกทำเลที่ตั้งกงสุลอังกฤษกันอย่างดี

ทุกวันนี้กงสุลอเมริกายังคงอยู่ แต่ก็อยู่แบบกลัวเกรงปัญหาผู้ก่อการร้าย ที่ทำการจึงอยู่ภายในกำแพงสูงที่เป็นดั่งป้อมปราการ แต่กงสุลอังกฤษนั้นไม่ปรากฏแล้ว คงเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสภาวะเศรษฐกิจ รัฐบาลอังกฤษจึงได้ปิดกงสุลและขายที่ดินกับอาคารให้เอกชน จำได้ว่าที่ดินทิ้งไร้การใช้สอยอยู่นานหลายปีกว่าจะลงมือก่อสร้างโรงแรมขนาดใหญ่  

ด้วยความงามของที่ตั้งสภาพแวดล้อมริมแม่น้ำปิง และที่สำคัญอาคารที่ทำการเดิมสูงสองชั้นที่เป็นมรดกทางสถาปัตยกรรม สถาปนิกจึงวางผังให้อาคารห้องพักชิดเขตที่ดินทั้งสองด้านข้างและด้านริมถนน ให้ห้องพักทุกห้องเปิดสู่แม่น้ำและโอบล้อมอาคารอนุรักษ์ที่เปลี่ยนเป็นห้องอาหารและสปา สถาปนิกยังออกแบบให้ส่วนบริการทั้งหมดซ่อนตัวอยู่ชั้นใต้ดิน ส่งผลให้โรงแรมแห่งนี้มีสภาพแวดล้อมสวยงาม ได้รับรางวัลและเป็นที่ชื่นชมอยู่เสมอ

เสียดายว่ากิจการโรงแรมกลับอยู่ในทิศทางตรงข้าม ด้วยจังหวะที่เปิดดำเนินการ (เมื่อนานมาแล้ว) ตรงกับยุคที่การท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาต่างๆ ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ (ต้มยำกุ้ง) ปัญหาสาธารณสุข (ไข้หวัดนก) ปัญหาสังคม (กีฬาสีเหลือง-แดง) และปัญหาการเมือง (การปฏิวัติ)  

แต่ปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมาก็ไม่รุนแรงเท่ากับปัญหาน้ำท่วม ด้วยที่ตั้งกงสุลอังกฤษในอดีตหรือโรงแรมในปัจจุบันอยู่ริมแม่น้ำปิง ซึ่งเป็นพื้นที่น้ำหลากมาตั้งแต่สมัยพ่อขุนเม็งรายสถาปนาเชียงใหม่ ดังนั้นโรงแรมจึงต้องหยุดดำเนินการทุกปีระหว่างน้ำท่วมและช่วงเวลาหลังน้ำท่วม เพื่อซ่อมส่วนบริการที่ได้รับความเสียหายรุนแรง โดยเฉพาะระบบประกอบอาคาร

ก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะที่ตั้งไม่ดีตามตำราฮวงจุ้ย คือมีถนนพุ่งเข้าชน (ฮา) จนประเทศมหาอำนาจอย่างอังกฤษยังต้องขายทิ้ง หรือเป็นเพราะสถาปนิกไร้เดียงสา ออกแบบโดยไม่เข้าใจสภาพแวดล้อมของที่ตั้ง เลยทำให้เจ้าของโรงแรมเจ๊งต้องขายเปลี่ยนมือตลอดมา

 

ผู้เขียน  :  ปริญญา  ตรีน้อยใส

นามปากกาของ ศ.ดร.บัณฑิต  จุลาสัย

เจ้าของหนังสือด้านสถาปัตยกรรม ถูกยกย่องจาก Dictionnaire de L'Architecture du XXe Siecle, Editions Hazan, Paris 1996

เป็น 1 ใน 3 สถาปนิกไทยประจำคริสต์ศตวรรษที่ 20

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร