Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ถนนที่เดินผ่าน อาคารที่มองเห็น “ขัวเหล็ก”

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

ภาพเก่าๆ ของเมืองเชียงใหม่ที่พบเห็นกันอยู่เสมอ จะเป็นภาพมุมกว้างของแม่น้ำปิง มีดอยสุเทพเป็นฉากหลัง ประกอบด้วยอาคารสิ่งก่อสร้างริมน้ำที่ซ่อนตัวอยู่หลังพุ่มไม้น้อยใหญ่ โดยมี “ขัวเหล็ก” พาดผ่านแม่น้ำปิงเป็นองค์ประกอบสำคัญ

เช่นเดียวกับช่วงเวลาแห่งความสนุกสนานวันสงกรานต์ในอดีต ประเพณีขนทรายถวายวัดนำพาให้ชาวบ้านพากันไปที่แม่น้ำปิงอย่างพร้อมเพรียง บนขัวเหล็กและใต้ขัวเหล็กในแม่น้ำปิง จึงเป็นสมรภูมิที่ทุกคนสาดน้ำใส่กันอย่างเปียกปอนและสนุกสนาน

เสียดายว่าทุกวันนี้ชาวบ้านขับรถไปเที่ยวเล่นบริเวณคูเมืองเดิมที่โอบล้อมเมืองเก่า การสาดน้ำในแม่น้ำปิงระหว่างหนุ่มสาว จึงเปลี่ยนเป็นการสาดน้ำระหว่างคนกับรถยนต์บนถนนไปขัวเหล็กจึงเป็นทั้งภาพลักษณ์และสิ่งก่อสร้างในอดีตของคนปัจจุบัน

เหตุที่เรียกขานสะพานนวรัฐว่าขัวเหล็ก เพราะโครงสร้างเป็นเหล็กล้วนๆ จึงมีขนาดใหญ่โตและแข็งแรงกว่าสะพานรุ่นแรกๆ คือขัวไม้ตรงหน้าวัดเกต ที่แม้จะสร้างด้วยท่อนไม้ขนาดใหญ่แต่ก็ไม่สามารถทานแรงน้ำหลากและทนต่อท่อนซุงไม้สักที่มาปะทะได้

ขัวเหล็กมาแทนที่ขัวไม้พร้อมๆ กับการเลิกล่องไม้ซุงทางแม่น้ำปิง แม้ไม่มีไม้ซุงมากระแทกกระทั้นยามน้ำหลาก แต่ขัวไม้ก็ทรุดโทรมตามธรรมชาติของวัสดุจนถูกรื้อทิ้งไปในที่สุด เมื่อมีขัวเหล็กใหม่แข็งแรงและทันสมัย ขัวไม้จึงกลายเป็นขัวไม้ไผ่ที่มีสภาพเหมือนสะพานชั่วคราวที่มีขนาดเล็กและไม่แข็งแรง

ขัวเหล็กมาพร้อมกับรถไฟจากกรุงเทพฯ เนื่องจากสถานีรถไฟอยู่คนละฝั่งแม่น้ำปิง บตัวเมืองเก่าและย่านการค้า ถนนท่าแพและกาดหลวง จึงมีการก่อสร้างสะพานตรงปลายถนนท่าแพและถนนตรงไปยังสถานีรถไฟ ที่ต่อมากลายเป็นถนนสายหลักของเชียงใหม่

งานประเพณีใดที่มีขบวนแห่จะต้องเริ่มต้นขบวนกันที่สถานีรถไฟ คล้ายเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นความเจริญและกิจกรรมทั้งปวง แต่ที่สำคัญเป็นเพราะสถานีรถไฟมีพื้นที่กว้างขวางจึงเหมาะสำหรับการรวมพล ขบวนแห่จะเคลื่อนผ่านถนนเจริญประเทศ ข้ามสะพานนวรัฐ เข้าสู่ถนนท่าแพ ผ่านประตูท่าแพ เข้าเขตเมืองเก่า ผ่านถนนราชดำเนิน ไปสิ้นสุดที่วัดพระสิงห์วัดสำคัญของเชียงใหม่

แม้ว่าขัวเหล็กที่มาพร้อมกับรถไฟในรัชสมัยพระพุทธเจ้าหลวงจะมีขนาดกว้างขวางใหญ่โต แต่ครั้นมาถึงสมัยปัจจุบันขัวเหล็กกลับดูเล็กลงเมื่อเทียบกับปริมาณการจราจรที่เพิ่มมากขึ้น จนต้องสร้างขัวใหม่อีกหลายสะพาน   เริ่มตั้งแต่สะพานนครพิงค์ที่เป็นสะพานคอนกรีตทางตอนเหนือของแม่น้ำปิง

เป็นที่น่าเสียดายว่าด้วยความไร้เดียงสาในการพัฒนาเมือง ขัวเหล็กที่สวยงามจึงถูกรื้อเพื่อสร้างสะพานคอนกรีตธรรมดาขนาดใหญ่แทนที่ เก็บรักษาแค่ซุ้มสีขาวตรงเชิงสะพานที่รอดพ้นจากการทำลายมาได้

ชาวบ้านเมืองปายเห็นเป็นโอกาส จึงติดต่อขอขัวเหล็กที่ยังมีสภาพดีและแข็งแรงไปสร้างข้ามแม่น้ำปาย   ชะตาชีวิตของขัวเหล็กจึงยืนยาวมาถึงวันนี้ ส่วนคนเชียงใหม่รุ่นใหม่หากอยากรู้จักขัวเหล็กก็ต้องดั้นด้นไปเที่ยวชมที่เมืองปาย

อย่างไรก็ตามครั้นคนเชียงใหม่สำนึกได้ว่าตัดสินใจพลาดไปแล้ว จึงสร้างสะพานเหล็กขึ้นมาใหม่ในรูปแบบคล้ายๆ กับขัวเหล็กเดิม อยู่ใต้สะพานนวรัฐลงไปประมาณกิโลเมตร ขัวเหล็กที่สร้างใหม่นี้นอกจากรูปแบบจะด้อยกว่าแล้ว ยังมีขนาดเล็กมาก พอแค่ให้รถวิ่งทางเดียวจากฝั่งตะวันตกไปยังตะวันออกได้เท่านั้น

ที่สำคัญคนต่างถิ่นที่ไม่รู้ความมักเข้าใจผิด คิดว่าขัวเหล็กเล็กนี้คือขัวเหล็กดั้งเดิม เรื่องราวของขัวเหล็กหรือสะพานนวรัฐจึงมีความเป็นมาและความเป็นไปอย่างพิสดารที่ใครๆ ก็คิดไม่ถึง

คงเหมือนกับสินค้าพื้นเมืองอื่นๆ ตั้งแต่แคบหมู ไส้อั่ว น้ำพริกหนุ่ม ไปจนถึงข้าวซอยและขนมจีนน้ำเงี้ยวที่มีรูปลักษณ์คุณภาพต่างไปจากอดีต แต่ก็ยังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว  เพราะเขาไม่รู้ว่าอะไรเป็นของแท้ อะไรเป็นของเทียม...

 

ผู้เขียน  :  ปริญญา  ตรีน้อยใส

นามปากกาของ ศ.ดร.บัณฑิต  จุลาสัย

เจ้าของหนังสือด้านสถาปัตยกรรม ถูกยกย่องจาก Dictionnaire de L'Architecture du XXe Siecle, Editions Hazan, Paris 1996

เป็น 1 ใน 3 สถาปนิกไทยประจำคริสต์ศตวรรษที่ 20

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร