แม้แต่คนเชียงใหม่อาจไม่รู้จัก “ข่วงหลวง” ผู้เขียนเองเดิมทีรู้จักแต่ “ข่วงเมรุ” ถิ่นที่อยู่สมัยเป็นเด็ก และ “ข่วงสิงห์” ที่อยู่ทางตอนเหนือของประตูช้างเผือก เพิ่งมารู้เรื่องข่วงหลวง เมื่อไม่นานมานี้
แต่คนเชียงใหม่คงรู้จักทัณฑสถานหญิงที่ตั้งอยู่กลางเมือง ซึ่งมีข่าวว่าจะย้ายไปแทนที่ทัณฑสถานชายเชียงใหม่ ที่แม่ริม ที่เพิ่งย้ายไปอยู่สถานที่ใหม่ใหญ่โตกว้างขวางกว่าเก่า
เมื่อเร็วๆ นี้ชาวเชียงใหม่จึงระดมพลัง ร่วมกับนายกฯ คนเชียงใหม่ทุบป้ายชื่อทัณฑสถาน และรณรงค์ให้รื้อทัณฑสถานออกทั้งหมด ให้เป็นพื้นที่สาธารณะต่อไป
ทัณฑสถานหญิงนั้นตั้งอยู่เกือบใจกลางเมืองเก่าเชียงใหม่ อยู่ในกลุ่มของสถานที่ราชการ ทั้งศาลากลางจังหวัด ศาลจังหวัด ที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงใหม่ สถานีตำรวจภูธรเชียงใหม่ ฯลฯ ศาลากลางและศาลได้ย้ายไปที่ศูนย์ราชการแม่ริมเมื่อนานแล้ว ตามแผนลดความแออัดในบริเวณเมืองเก่าเชียงใหม่ ดังนั้นทัณฑสถานหญิงก็เป็นไปแผนเดียวกัน
หากเทียบดูกับแผนที่โบราณเมืองเชียงใหม่ บริเวณพื้นที่กลางเมืองที่ว่ามานั้น น่าจะเป็นที่พำนักของเจ้าเมืองเชียงใหม่ คงจะมาเปลี่ยนไปเมื่อเชียงใหม่เปลี่ยนฐานะจากรัฐอิสระเป็นมณฑลพายัพของสยามประเทศ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ส่วนทัณฑสถานชายในตอนแรก และทัณฑสถานหญิงในตอนหลัง ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ระบุว่าข่วงหลวง ซึ่งคงเทียบได้กับสนามหลวงของกรุงเทพฯ ที่ใช้ประกอบศาสนพิธีในราชพิธีสำคัญของบ้านเมือง ในแผนที่โบราณยังมีวัดข่วงหลวง (วัดแสนเมืองมาหลวง) อยู่ทางทิศเหนือของข่วงใกล้กับประตูช้างเผือก (ประตูหัวเวียง)
หากการย้ายศาลากลางและศาลที่ผู้ว่าราชการและผู้พิพากษานั่งว่าราชการทับคุ้มเจ้าเมืองเดิมเป็นเรื่องดี เป็นศักดิ์ของบ้านเมือง การย้ายทัณฑสถานหรือคุกที่ทับข่วงหลวงย่อมเป็นศรีของบ้านเมืองเช่นกัน คงจะช่วยแก้ความขึดที่ครอบงำเชียงใหม่ได้แน่นอน บรรดาเรื่องเลวร้ายที่เกิดขึ้นก็จะหมดไป เชียงใหม่จะได้เจริญก้าวหน้า เป็นมหานครอย่างที่หลายคนต้องการ
แม้แต่จวนผู้ว่าราชการและบ้านพักผู้พิพากษาที่อยู่ตรงเชิงสะพานนวรัฐ ริมแม่น้ำปิง ก็เป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยขุนนางสยามมาเจริญสัมพันธไมตรีกับเชียงใหม่ สมัยที่ยังเป็นรัฐอิสระ จึงสร้างบ้านริมน้ำปิง ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือจากกรุงเทพฯ และอยู่นอกเมือง
เมื่อศาลากลางและศาลจังหวัดย้ายไปอยู่ที่แม่ริมแล้ว จึงเป็นเรื่องแปลกว่าทำไมผู้ว่าราชการและผู้พิพากษาจะไม่ย้ายบ้านตามไปที่แม่ริม นอกจากไม่ต้องเดินทางไกลแล้ว บ้านเรือนก็จะทันสมัย อยู่สะดวกสบายยิ่งขึ้น ส่วนบริเวณบ้านพักริมแม่น้ำก็จะกลายเป็นสวนสาธารณะให้ผู้คน จะได้มีที่พักผ่อน ริมแม่น้ำก็จะสวยงามยิ่งขึ้น
บ้านพักรับรองของทหารที่อยู่ใกล้แจ่งหัวรินก็เช่นกัน เดิมทีด้วยความจำเป็นเพื่อรักษาความสงบของบ้านเมือง ทหารสยามจึงต้องยึดครองแจ่งสำคัญของเมือง แต่ทุกวันนี้กรมกองทหารล้วนโยกย้ายไปอยู่ริมแม่น้ำปิงบ้าง แม่ริมบ้าง และที่อื่นอีกมากมาย สถานที่แห่งนี้จึงลดบทบาทลงเหลือแค่บ้านพักรับรอง ซึ่งล้วนมีสภาพเก่าทรุดโทรม จนต้องอาศัยให้เอกชนมาเช่าอยู่เพื่อหารายได้สำหรับการดูแลรักษา
ทุกวันนี้เชียงใหม่มีโรงแรมหรือที่พักแรมมากมาย พร้อมที่จะรับรองทหารทุกหมู่เหล่าได้อย่างพิเศษและวิเศษ หากยกเลิกบ้านพักรับรองแห่งนี้แล้วปรับเป็นพื้นที่สีเขียว นอกจากจะช่วยให้อากาศกลางเมืองเก่าดีขึ้น ยังเสริมภาพลักษณ์แจ่งหัวรินให้งดงาม ร่มรื่น ร่มเย็นอีกด้วย
ว่าแต่ว่า...เรื่องแบบนี้ใครจะอาสาไปผูกกระดิ่ง (ฮา)
ผู้เขียน : ปริญญา ตรีน้อยใส
นามปากกาของ ศ.ดร.บัณฑิต จุลาสัย
เจ้าของหนังสือด้านสถาปัตยกรรม ถูกยกย่องจาก Dictionnaire de L'Architecture du XXe Siecle, Editions Hazan, Paris 1996
เป็น 1 ใน 3 สถาปนิกไทยประจำคริสต์ศตวรรษที่ 20