หลังจากเล่าเรื่องสตรอว์เบอร์รีไปแล้วนึกขึ้นได้ว่ายังมีเรื่องวันวาน (ยังหวานอยู่) ต่อเนื่องจากที่เล่าไปแล้วว่า ในอดีตนั้นเคยมีไร่สตรอเบอร์รี่อยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่ตรงหมู่บ้านช่างเคี่ยนที่อยู่เชิงดอยสุเทพ
เดิมทีตัวเมืองเชียงใหม่มีขอบเขตอยู่แค่พื้นที่สองฝั่งริมแม่น้ำปิงและในเขตคูเมืองเท่านั้น บริเวณทิศตะวันตกของเมืองเก่ายังคงสภาพเป็นป่ารกต่อเนื่องไปจนถึงดอยสุเทพ ไม่มีผู้คนอยู่อาศัยหรือทำมาหากิน เพื่อขยายความเจริญของบ้านเมืองให้กว้างขวางมากขึ้น ทางการเขาสั่งมาว่า (สำนวนนี้เก่ามาก แต่เมื่อผมไม่รู้ว่าใครหรือหน่วยงานใดเลยขอใช้ในตอนนี้) ให้คนเชียงใหม่ไปจับจองที่ดินกันได้ฟรีๆ (ย้ำอีกครั้งว่าฟรี) คือไม่ต้องจ่ายเงินแม้แต่บาทเดียว แต่มีข้อกำหนดว่าผู้ครอบครองต้องใช้ประโยชน์ที่ดินให้เกิดดอกออกผล สร้างความเจริญให้กับบ้านเมือง จะจับจองไว้เฉยๆ ไม่ทำอะไรหรือจะปล่อยทิ้งร้าง รอเวลากลายเป็นมรดกลูกหลานไม่ได้เด็ดขาด
แม่เคยเล่าให้เสียใจว่าสาเหตุที่ไม่ได้ไปจับจองที่ดินฟรีกับเขาเพราะไม่รู้จะไปทำอะไร และอ้างว่าใแค่ทำมาค้าขายและเลี้ยงผมและพี่น้องก็ยุ่งมากพอแล้ว อีกทั้งเรื่องลงทุนทำไร่ผักสวนผลไม้ก็เป็นกิจการที่ไม่ถนัดและไม่พร้อม เลยมีแต่พ่อแม่เพื่อนผมที่โรงเรียนหลายคนที่ไปจับจองที่ดินกันคนละหลายไร่ บางคนก็ทำฟาร์มเลี้ยงไก่ บางคนก็ทำสวนลำไย บางคนก็ทำไร่ผัก
ผู้ที่จับจองพื้นที่ไว้มากที่สุดคงจะเป็นเครือญาติตระกูลนิมานเหมินท์ ใหญ่ไม่ใหญ่ก็แค่ย่านนิมมานเหมินท์ไปจนถึงย่านสันติธรรมเท่านั้นเอง ซึ่งไม่รู้ว่าแจ้งทางการในตอนนั้นว่าจะทำสวนหรือไร่อะไร แต่ที่ทางการรู้แน่ตอนนี้คือย่านนี้คึกคักมากที่สุดในเชียงใหม่ และใครๆ ก็รู้ว่าเป็นทำเลทองของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
เช่นเดียวกับพื้นที่หลังวัดช่างเคี่ยนที่มีผู้คนไปจับจองทำไร่ทำสวนมากมาย จำได้ว่าตอนเด็กๆ เคยไปเที่ยวสวนเพื่อนบ่อยๆ เพราะนอกจากต้นลำไยที่พ่อเพื่อนปลูกตามข้อกำหนดหลายสิบต้นแล้ว ยังมีบ่อเก็บน้ำใหญ่ที่พวกเราสมมติว่าเป็นสระว่ายน้ำได้ว่ายเล่นเป็นที่สนุกสนาน
สมัยที่แอบไปว่ายน้ำกันนั้นจำได้ว่าในซอยวัดช่างเคี่ยนจะพบเห็นทั้งสวนลำไยหรือลิ้นจี่ รวมทั้งมีไร่สตรอเบอร์รี่ ซึ่งในเวลานั้นช่างเคี่ยนได้ชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกและจำหน่ายสตรอเบอร์รี่ของเชียงใหม่ แต่ไม่ค่อยมีผู้คนอยู่อาศัย มีแต่คนเฝ้าหรือดูแลสวนหรือไร่เท่านั้น เวลาไปว่ายน้ำจึงต้องรีบกลับบ้านก่อนมืด
เคยมีนักวิจัยฝรั่งเศสมาถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีเรื่องการปลูกสร้างบ้านของตาคำ ผู้เป็นชาวไร่สตรอเบอร์รี่ในหมู่บ้านช่างเคี่ยน เนื้อเรื่องเล่าถึงการปลูกกระท่อมไม้ไผ่ ตั้งแต่ขุดหลุมลงเสา ทำพื้น ตั้งโครงมุงหลังคา กรุฝาตีฝ้า จนแล้วเสร็จและเข้าอยู่ รวมทั้งการใช้ชีวิตประจำวันและการทำไร่สตรอเบอร์รี่ เวลาฉายที่เมืองฝรั่งแม้เขาจะคุ้นกับผลไม้แต่จะตื่นตาตื่นใจกับตัวบ้านและความเป็นอยู่ แต่สำหรับผมตื่นเต้นสุดๆ เหมือนได้ชมเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ทั้งเรื่องการปลูกสตรอเบอร์รี่ การปลูกบ้าน และชีวิตของตาคำพระเอกของเรื่อง
คงเป็นเพราะเมื่อห้าสิบปีที่แล้วรัฐบาลเปิดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตรงเชิงดอย อีกทั้งมีการยกระดับโรงเรียนเทคนิคพายัพที่ตั้งอยู่ตรงข้ามเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ทั้งสองสถาบันจึงอยู่ไม่ไกลไปจากซอยวัดช่างเคี่ยน ทำให้มีนักศึกษา อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ทยอยมาอยู่อาศัยในหมู่บ้านช่างเคี่ยน กลายเป็นผลบุญแก่ผู้ที่จับจองที่ดินหรือเจ้าของสวนและไร่ ร่ำรวยจากการปลูกบ้าน เรือนแถว หรือตึกหลังใหญ่ให้เช่าอยู่อาศัย จนเกิดเป็นชุมชนพักอาศัยคึกคักแทนที่ดินรกร้างในตอนแรกและไร่สวนเปลี่ยวในตอนหลัง
ด้วยทำเลที่ช่างเคี่ยนอยู่ใกล้เชิงดอยมีฉากหลังเป็นดอยสุเทพเขียวชอุ่ม เลยมีคนแห่มาเปิดกิจการบ้านจัดสรร สปา ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ท บูติกโฮเต็ล รวมทั้งโครงการคอนโดมิเนียม ยิ่งทำให้ผู้ที่จับจองหรือทายาทผู้ที่จับจองที่ดินฟรีๆ มีบุญ ร่ำรวยทันทีในชาตินี้จากการแบ่งขายที่ดิน
จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายสำหรับผมที่แม่ไม่ได้มองการณ์ไกลจับจองที่ดินย่านช่างเคี่ยนไว้ ผมเลยอดเป็นเศรษฐี เจ้าของคอนโดฯ หรือโรงแรมในวันนี้ (ฮา)
ผู้เขียน : ปริญญา ตรีน้อยใส
นามปากกาของ ศ.ดร.บัณฑิต จุลาสัย
เจ้าของหนังสือด้านสถาปัตยกรรม ถูกยกย่องจาก Dictionnaire de L'Architecture du XXe Siecle, Editions Hazan, Paris 1996
เป็น 1 ใน 3 สถาปนิกไทยประจำคริสต์ศตวรรษที่ 20