ตอนเป็นเด็กรู้สึกอับอายเมื่อต้องบอกเพื่อนๆ ว่า บ้านหรือร้านขายของอยู่บน “ถนนช้างม่อย” เพราะคำว่า ม่อย ในภาษาถิ่นเชียงใหม่นั้นแปลว่า ตาย เพื่อนบางคนยังต่อเรื่องออกไปอีกว่าถนนช้างม่อยนั้นอยู่ต่อจากถนนช้างคลาน เพราะเมื่อช้างเดินไม่ไหวก็ต้องคลานจนมาตายที่ช้างม่อย (ฮา)
ยิ่งไปกว่านั้นผมยังมีบ้านหรือร้านสาขาสองที่อยู่ไม่ไกลคือ “ถนนข่วงเมรุ” เดิมทีผู้คนเรียกขานว่า ตรอกเล่าโจ้ว หรือ ตรอกข้างเมรุ ถนนสายนี้เป็นที่รู้จักดีในเวลานั้นเพราะว่าเป็นถนนคอนกรีตทั้งสาย คือตั้งแต่ถนนท่าแพมาจนถึงถนนช้างม่อย ผิวจราจรจึงราบเรียบแข็งแกร่ง เป็นที่โปรดปรานของคนขับรถยนต์ คนขี่รถจักรยานยนต์และคนเล่นสเก็ตล้อ
เลยดูเหมือนว่าถิ่นที่อยู่ของผมล้วนเกี่ยวพันกับเรื่องไม่ดีทั้งช้างตายและเมรุเผาศพ เป็นเหตุให้ผมหงุดหงิดอยู่เสมอ รวมทั้งสงสัยว่าทำไมชื่อถนนทั้งสองสายที่ล้อมกรอบตลาดวโรรส ย่านการค้าสำคัญของเชียงใหม่ล้วนมีความหมายไม่เป็นมงคล
จนเมื่อมีโอกาสศึกษาค้นคว้าประวัติบ้านเมืองเชียงใหม่ จึงได้รู้ที่มาของชื่อถนนทั้งสองสายเลยทำให้หายหงุดหงิด และยังเข้าใจสภาพบ้านเกิดเมืองนอนมากขึ้น
ด้วยบริเวณตลาดวโรรสและตลาดต้นลำไยที่อยู่ริมแม่น้ำปิงในปัจจุบันนั้นเดิมทีเป็นลานกว้าง ในอดีตมีชื่อเรียกขานว่า ข่วง ที่ใช้ประกอบพิธีเผาศพของเจ้านายและเป็นที่ลอยอังคารในแม่น้ำ คงคล้ายกับสนามหลวงที่ใช้ในงานพระเมรุ
นอกจากนี้การเคลื่อนศพออกจากในเมืองมายังข่วงเมรุริมแม่น้ำปิงจะต้องผ่านประตูเฉพาะ ประตูช้างม่อยจึงเป็นเหมือนประตูผีสำหรับเคลื่อนศพเจ้านายออกมาตามถนนช้างม่อยจนถึงข่วงเมรุ ทั้งนี้ถ้าศพชาวบ้านทั่วไป ต้องผ่านประตูหายยาไปยังป่าเหี้ยว (ฌาปนสถาน) หายยาที่อยู่ทางทิศใต้
ประตูและถนนช้างม่อยสำหรับคนตายนั้นคู่ขนานกับประตูและถนนท่าแพสำหรับคนเป็นค้าขาย เริ่มจากเขตเมืองเก่ามาจนถึงแม่น้ำปิงทางด้านทิศตะวันออกเหมือนกัน เพียงแต่ทำหน้าที่คนละอย่างกันเป็นเวลาช้านาน
พระราชชายา เจ้าดารารัศมีผู้มีโอกาสเห็นแบบอย่างการพัฒนาเมืองในกรุงเทพฯ มีพระประสงค์อยากให้เมืองเชียงใหม่เจริญทันสมัยเหมือนกรุงเทพฯ จึงรวบรวมอัฐิของเจ้านายที่เก็บไว้ในสถูปเจดีย์เก่าๆ หลายองค์ในบริเวณข่วงเมรุ นำไปบรรจุในสถูปเจดีย์ใหม่ที่ใหญ่กว่าและสวยงามกว่าในบริเวณวัดสวนดอก เชิงดอยสุเทพ ขณะเดียวกันก็ปรับพื้นที่ข่วงเมรุให้ราบเรียบอัดแน่น ปรับขยายตรอกข่วงเมรุและถนนช้างม่อยให้กว้างขวาง และตัดถนนวิชยานนท์ขึ้นมาใหม่ เพื่อเป็นทางเชื่อมต่อกับถนนท่าแพซึ่งเป็นย่านการค้าหลักในเวลานั้น มีการก่อสร้างอาคารพาณิชย์พักอาศัยหรือห้องแถวขนานไปแนวถนนทั้งสามสาย ส่วนพื้นที่โล่งตรงกลางก็เปิดให้พ่อค้าแม่ค้านำสินค้ามาขาย อันเป็นที่มาของตลาดวโรรสที่สะอาด สวยงามและทันสมัย
เมื่อตลาดแบบใหม่เป็นที่นิยมจึงมีการสร้างโรงเรือนขนาดใหญ่สำหรับร้านค้าแผงลอย รวมทั้งขยายพื้นที่ไปยังตลาดต้นลำไย ด้วยเหตุนี้บริเวณข่วงเมรุเดิมจึงเป็นตลาดซื้อขายของชาวบ้าน
เวลามีข่าวการต่อต้านโครงการต่างๆ ที่ผู้คัดค้านจะนำชื่อมาเป็นข้ออ้างว่าไม่เหมาะสม ก็จะนึกถึงโครงการพัฒนาเมืองบริเวณช้างม่อยและข่วงเมรุ ที่แม้จะมีชื่ออัปมงคลแต่ก็หาได้เป็นอุปสรรคไม่ ทุกวันนี้บริเวณตลาดวโรรสและตลาดต้นลำไย รวมทั้งถนนช้างม่อย ถนนวิชยานนท์และถนนข่วงเมรุ ล้วนมีบทบาทเป็นย่านการค้าสำคัญของเชียงใหม่นับแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน
ส่วนผู้เขียนนอกจากเลิกอับอายและสงสัยแล้ว ยังอาศัยประสบการณ์ที่เคยพำนักอยู่อาศัยในช่วงวัยเด็กนำมาเล่าขานความเป็นมาของบ้านเมืองเชียงใหม่ อย่างเช่นเรื่องราวในโฮมบายเออร์ไกด์ เชียงใหม่ฉบับนี้ (ฮา)
ผู้เขียน : ปริญญา ตรีน้อยใส
นามปากกาของ ศ.ดร.บัณฑิต จุลาสัย
เจ้าของหนังสือด้านสถาปัตยกรรม ถูกยกย่องจาก Dictionnaire de L'Architecture du XXe Siecle, Editions Hazan, Paris 1996
เป็น 1 ใน 3 สถาปนิกไทยประจำคริสต์ศตวรรษที่ 20