นอกจากทุนการศึกษาที่ผมได้รับจากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ในฐานะเป็นนักเรียนคนที่ 3 ของครอบครัวที่เข้าเรียนแล้ว ผมยังเคยได้รับทุนการศึกษาอีกครั้งหนึ่งเมื่อเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
การได้รับทุนครั้งหลังไม่ง่ายเหมือนสมัยเด็กๆ และยังได้รับทุนเพียงครั้งเดียวหลังจากผ่านกิจกรรมนานหลายเดือน ทุนการศึกษานี้ยังเกี่ยวพันกับการเมืองระหว่างประเทศ คือองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สปอ.) หรือ Southeast Asia Treaty Organization: SEATO (พ.ศ.2497-2520) ที่เป็นหน่วยงานความร่วมมือทางทหารระหว่างประเทศ
ช่วงเวลานั้นกระแสการต่อต้านคอมมิวนิสต์ยังอบอวลไปทั่วประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียนถ้าไม่เป็นคอมมิวนิสต์ก็ได้รับการช่วยเหลือจากจีนและรัสเซีย
ด้วยเหตุนี้สหรัฐอเมริกาจึงเลือกไทยเป็นพันธมิตร ส่งผลให้รัฐบาลไทยสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ มากมาย อย่างเช่นการส่งทหารไทยไปช่วยทหารอเมริกันรบในเกาหลี เวียดนาม ลาว กัมพูชา ทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ (ฮา)
นอกจากกิจกรรมทางทหารแล้วองค์กร SEATO ยังมีกิจกรรมทางสังคม หรือจิตวิทยาในการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ รวมทั้งการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาประชาคมโลก ทุนการศึกษา SEATO เกิดขึ้นเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในหมู่เยาวชนผ่านกิจกรรมการตอบคำถามความรู้รอบตัว ที่มีการถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์ไปทั่วภาคเหนือ ตัวแทนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนต่างๆ สิบกว่าแห่งต้องเดินทางไปแข่งขันร้องเพลงแลกเงินล้าน เอ๊ย! ไม่ใช่ ตอบคำถามความรู้เกี่ยวกับองค์กร เอ๊ย! ไม่ใช่ ความรู้ทั่วไป
บังเอิญว่าตัวแทนโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัยคือเพื่อนผมที่ชื่อ “สมิง เก่าเจริญ” ผู้สอบได้คะแนนสูงสุดของชั้นปีและผม (ฮา)
ไม่รู้ว่าทางโรงเรียนหรือครูคิดอย่างไร เพราะผมไม่ใช่นักเรียนที่สอบได้เป็นลำดับสอง และไม่มีทีท่าความเก่งกาจใดให้ปรากฏ ซึ่งมารู้ภายหลังว่าครูเลือกผมเพราะเห็นว่าผมชอบอ่านการ์ตูนมาก น่าจะมีความรู้รอบตัวดี (ฮา)
ประจักษ์พยานในเรื่องนี้ที่ปรากฏในปัจจุบันคือเพื่อนผมที่เรียนเก่ง ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์นายแพทย์ ผู้มีชื่อเสียงแห่งโรงพยาบาลรามาธิบดี
ส่วนผมที่ชอบอ่านการ์ตูนปัจจุบันเป็นแค่นักเขียนในโฮมบายเออร์ไกด์ เชียงใหม่ และมีความสามารถเขียนแค่เรื่องตัวเอง บ้าน ถนน และเมืองเชียงใหม่เท่านั้น (ฮา)
ผู้เขียน : ปริญญา ตรีน้อยใส
นามปากกาของ ศ.ดร.บัณฑิต จุลาสัย
เจ้าของหนังสือด้านสถาปัตยกรรม ถูกยกย่องจาก Dictionnaire de L'Architecture du XXe Siecle, Editions Hazan, Paris 1996
เป็น 1 ใน 3 สถาปนิกไทยประจำคริสต์ศตวรรษที่ 20