ทุกวันนี้ใครๆ ก็รู้จัก “เดอะสลัดคอนเซปท์” ร้านสลัดชื่อดังบนถนนนิมมานเหมินท์ ลูกค้าทั้งไทยและเทศล้วนติดใจในรสชาติและความหลากหลายของรายการผักและสิ่งประกอบอื่น รวมทั้งพอใจในคุณภาพของวัตถุดิบที่ปลอดสารพิษ
ที่สำคัญเป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับกระแสโลกที่ผู้คนสนใจดูแลสุขภาพ กระแสเมืองไทยที่มีนักท่องเที่ยวแสวงหาความแปลกต่างมากมาย และกระแสเชียงใหม่ที่ผู้คนพอใจกับอาหารคุณภาพ
เรื่องราวของร้านสลัดร้านนี้เริ่มเมื่ออดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่หมดวาระการบริหาร พบว่า ตนเองเจ็บป่วยด้วยโรคทันสมัยคือมะเร็ง ด้วยพื้นฐานเดิมเป็นอาจารย์ทางด้านเภสัชศาสตร์ จึงเลือกวิธีรักษาตัวเองโดยการควบคุมอาหารที่เน้นผักสด จึงออกไปแนะนำชาวบ้านให้ปลูกผักปลอดสารพิษ เมื่อต้องรับประทานสลัดทุกวัน วันละ 3 มื้อ ก็เกิดอาการเบื่อหน่าย ภรรยาจึงหาทางพลิกแพลงทั้งชนิดของผัก น้ำสลัด และส่วนประกอบอื่น เพื่อให้รสแตกต่างและดูแปลกแตกต่าง ต่อมาบุตรสาวมีโอกาสไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส มีโอกาสไปพบเห็นรายการอาหารฝรั่งเศสและร้านอาหารฝรั่งเศส จึงนำมาเป็นต้นแบบเปิดร้านอาหาร บริการสลัดที่สะอาด สวยงาม บริการดี ที่สำคัญคือมีรายการสลัดมากมายประกอบด้วยผักสดและปลอดสารพิษ
ด้วยเหตุนี้ร้านเดอะสลัดคอนเซปท์จึงเป็นที่นิยมในหมู่ชาวต่างชาติ นักท่องเที่ยว ผู้สูงอายุ และนักศึกษา ทุกครั้งที่ไปร้านสลัดแห่งนี้ทำให้ผมถวิลหาสลัดที่เคยรับประทานเป็นครั้งแรก ประกอบด้วย ผักกาดแก้ว แตงกวา มะเขือเทศ ข้าวโพด แครอทหั่นฝอย และหอมหัวใหญ่ ส่วนน้ำสลัดแบบครีมข้นออกหวานคล้ายรสมายองเนส
ร้านสลัดหรือที่จริงไร่ผักของ “แสวง ทัดเที่ยง” ที่เคยรู้จัก อยู่บนถนนห้วยแก้ว บริเวณหัวมุมถนนศิริมังคลาจารย์ในปัจจุบัน ซึ่งในเวลานั้นห้วยแก้วที่อยู่เชิงดอยสุเทพ ดูจะห่างไกลจากผู้คน โดยเฉพาะพวกเราชาวตลาด
แสวง ทัดเที่ยง คงเป็นเกษตรหัวก้าวหน้า มาเช่าที่ปลูกผักเมืองหนาวนานาชนิด และเปิดกิจการร้านอาหารฝรั่ง นอกจากความแปลกใหม่ของรายการอาหารแล้วบรรยากาศไร่ผักชานเมืองยังทำให้สลัดและร้านอาหารเป็นที่นิยม
อย่างไรก็ตามโอกาสที่ผมจะได้ทานสลัดนั้นน้อยครั้ง เพราะยังเป็นเด็กเล็ก ไปไหนไม่ได้ไกล ที่สำคัญเป็นรายการอาหารที่ไม่คุ้นเคย
ครั้นเมื่อแม่พาพวกเราย้ายมาอยู่ถนนห้วยแก้ว จึงมีโอกาสทานสลัดมากขึ้น แต่เมื่อถนนห้วยแก้วเริ่มคึกคัก จึงผลักดันให้แสวง ทัดเที่ยงต้องย้ายไร่ผักออกไปอยู่ที่ใหม่ไกลออกไป บนถนนเชียงใหม่-ดอยสะเก็ด นอกจากร้านอาหารจะกว้างขวางมากขึ้นแล้ว รายการอาหารยังหลากหลายมากขึ้น แต่ผมก็หาโอกาสไปทานสลัดที่ร้านใหม่ที่แม้จะอยู่ไกลจากเมือง เมื่อผมเริ่มขับขี่รถจักรยานยนต์ในตอนแรก และรถยนต์ในตอนหลัง
ทุกวันนี้ไร่ผักและร้านอาหารแสวง ทัดเที่ยงไม่ปรากฏแล้ว คงเป็นเพราะความเจริญของเชียงใหม่ ที่ขยายพื้นที่ออกไกลถึงถนนวงแหวนรอบกลางและรอบนอก
เวลาที่เปลี่ยนไปทำให้ไร่ผักหายไป ร้านสลัดของแสวง ทัดเที่ยงหายไป เวลาที่เปลี่ยนไปทำให้สลัดผักกลายเป็นอาหารสุขภาพ มีขายทั่วไป เวลาที่เปลี่ยนไปทำให้ร้านเดอะสลัดคอนเซปท์เป็นที่นิยม
ผมจึงเชื่อแน่ว่าจะยังคงมีเรื่องราวของสลัด ร้านสลัดอื่นๆ อีกมากมาย ตราบใดที่เชียงใหม่ยังอยู่ และอยู่ต่อไป
ผู้เขียน : ปริญญา ตรีน้อยใส
นามปากกาของ ศ.ดร.บัณฑิต จุลาสัย
เจ้าของหนังสือด้านสถาปัตยกรรม ถูกยกย่องจาก Dictionnaire de L'Architecture du XXe Siecle, Editions Hazan, Paris 1996
เป็น 1 ใน 3 สถาปนิกไทยประจำคริสต์ศตวรรษที่ 20