คุณครูประถมสอนไว้ว่าประเทศไทยมีสามฤดูกาล คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว แต่คนกรุงเทพฯ หลายคนคง จะแย้งว่า ไม่จริง ประเทศไทยมีแค่สองฤดูกาล คือ ร้อน กับร้อนจิ๊บจ๋าย หน้าหนาวไม่มีหรอก อย่างมากก็ได้หยิบเสื้อกันหนาวมาใส่ให้สนุกสนานกันก็แค่วันสองวัน นอกนั้นก็ร้อนตามเดิมแหละ แต่ฤดูหนึ่งที่คงเถียงไม่ได้ว่าประเทศไทยมีฤดูฝน และช่วงนี้แหละเป็นช่วงที่หลาย ๆ คนเบื่อมาก เพราะทําไมฝนตกรถต้องติดหนักทุกทีเลย มันเป็นอะไรกันนักกันหนา ต่างคนก็ต่างหาสาเหตุกันไป เราลองมาดูตามหลักวิชาการจราจรกันบ้างว่า
การจราจรก็มีปรากฏการณ์เดียวกับสินค้าทั่วไปตามหลักเศรษฐศาสตร์ คือ มีอุปสงค์ (DEMAND) ความต้องการในการเดินทางเป็นจำนวนยานพาหนะที่ต้องการสัญจร และอุปทาน (SUPPLY) คือความจุของถนน ราง คลอง ที่จะรองรับการเดินทาง ถ้าถนนมีมากกว่ารถยนต์ก็แปลว่าการจราจรไม่ติดขัดหรอก มีถนนให้รถวิ่งกันสบาย ๆ แต่ถ้ามีถนนน้อยกว่ารถยนต์ที่ต้องการจะสัญจรเมื่อไหร่ การจราจรก็ต้องติดขัดเป็นธรรมดา ปัญหาของการจราจรในมหานครอย่างกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ๆ หลายแห่งในโลก ก็ล้วนมาจากเหตุว่ามีพื้นที่ถนนไม่พอรองรับปริมาณรถยนต์ที่ต้องการสัญจรทั้งสิ้น จะเป็นเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าและเย็น หรือมีปัญหาในเวลาอื่น ๆ เพิ่มมาอีกก็แล้วแต่สถานการณ์ของแต่ละเมือง
แล้วทำไมตอนฝนตกการจราจรจึงทวีความติดขัดเพิ่มไปอีก ทั้งๆ ที่ถนนก็มีเท่าเดิมและคนก็ต้องการเดินทางเท่าเดิมนั่นแหละ คำตอบคือ ถ้าฝนตกเมื่อไหร่ จะมียานพาหนะสัญจรเพิ่มขึ้นไปพร้อมกับพื้นที่สัญจรบนถนนที่ลดลง สถานการณ์ปกติก็แย่อยู่แล้ว ดันมามี DEMAND เพิ่มแต่ SUPPLY ลดลงก็ยิ่งแย่เข้าไปอีก แต่ฝนตกทำอะไรให้เกิดปรากฏการณ์พิเศษนี้ขึ้นได้ล่ะ ลองมาดูพฤติกรรมการเดินทางของคนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเมื่อตอนฝนตกดูแล้วกัน
เมื่อฝนตก จะมียานพาหนะที่ต้องการสัญจรเพิ่มขึ้น เนื่องจากระบบการเดินทางด้วยการเดินเท้าและขนส่งมวลชนไม่สามารถหลีกเลี่ยงฝนได้อย่างสมบูรณ์แบบ จะขึ้นรถเมล์ รถไฟฟ้า ยังไงก็ต้องมีการเดินเท้าเข้าออกป้ายหยุดรถที่ต้องตากฝน คนที่พอจะมีทางใช้รถยนต์ส่วนตัวได้หรือใช้แท็กซี่ก็ไม่ใช้ขนส่งมวลชน ทำให้ยานพาหนะที่ต้องการสัญจรเพิ่มขึ้น อีกทั้งพ่อแม่ญาติพี่น้องของคนที่ใช้ขนส่งมวลชนก็ไม่อยากให้ญาติตัวเองลำบาก ขับรถออกมารับที่ป้ายหยุดรถจะได้ไม่ต้องเดิน นั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือนั่งรถเมล์แล้วเดินตากฝนเข้าบ้าน หรืออาจจะต้องไปรับกันถึงสถานศึกษาหรือที่ทำงาน ไม่ต้องใช้ขนส่งมวลชนกันแล้วก็มีการใช้รถยนต์ส่วนตัวเพิ่มขึ้นอีก
มามองด้านพื้นที่ถนนกับบ้าง ฝนตกแล้วทำให้พื้นผิวการจราจรลดลงได้ด้วยเหรอ ถ้าเป็นมหานครอื่นคงไม่ได้ แต่มหานครในประเทศไทยกลับมีปัญหานี้ได้ด้วย เพราะระบบระบายน้ำที่มี “น้ำรอระบาย” อยู่เป็นจำนวนมากและเป็นเวลานาน ก็ทำให้ความเร็วในการสัญจรลดลงมาก และมีบางช่องจราจรที่น้ำท่วมจนรถไม่สามารถไปวิ่งได้ พื้นผิวการจราจรก็ลดลง
นอกจากนี้ยังมีการจอดรับคนที่ถี่ขึ้นเพราะคนอยากขึ้นแท็กซี่หรือมีญาติพี่น้องมารับตามพื้นที่สำคัญเพื่อญาติตัวเองจะได้ไม่ต้องลุยฝนเพิ่มขึ้นอีก ผู้เขียนเคยเจอรถจักรยานยนต์หลบฝนอยู่ใต้ทางด่วนก่อนขึ้นสะพานสาทรทางฝั่งกรุงเทพฯ กินมาสามช่องจราจร ทำให้ถนนสาทรติดทั้งถนนทั้ง ๆ ที่ข้ามสะพานไปก็โล่ง และทุกคนคนเคยเจอรถกระบะรถบรรทุกจอดรถเพื่อเอาผ้าใบคลุมกับฝนให้สินค้าในกระบะท้าย และคงสงสัยว่าทำไมไม่คลุมมาตั้งแต่แรก จะได้ไม่ต้องจอดรถมาคลุมผ้าใบให้การจราจรติดขัด
เมื่อพิจารณาทั้งด้าน DEMAND และ SUPPLY ด้านการสัญจรในมหานครเมื่อตอนฝนตกแล้ว เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ฝนเป็นต้นทางให้ถนนลดลงในขณะที่มีการสัญจรส่วนบุคคลเพื่อหลีกเลี่ยงการตากฝนมากขึ้นพร้อม ๆ กัน แปลว่าฝนตกทำให้คนกรุงเทพฯ เปลี่ยนพฤติกรรมจากเดินทางด้วยขนส่งมวลชนที่รถคันเดียวขนส่งคนได้เยอะๆ มาใช้รถยนต์ส่วนตัวหรือแท็กซี่ที่ขนส่งคนได้น้อยลงแทน จำนวนรถที่จะวิ่งบนถนนก็เพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับระบบระบายน้ำและพฤติกรรมการใช้รถที่ไม่เหมาะสม แต่ทำไมมหานครในประเทศที่พัฒนาแล้วไม่มีปัญหานี้ล่ะ
จะมีแค่เมืองไทยมั้ยที่ฝนตกทําไมรถติด ลองไปส่องดูมหานครอื่นๆ แล้วพบว่า การสัญจรด้วยระบบขนส่งมวลชนทั้งตัวระบบและการเดินทางเข้าออกจากระบบของประเทศอื่นๆ มีความสะดวกสบายและไม่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศมากเท่ากับบ้านเรา การเดินเท้าเข้าออกป้ายหยุดรถต่างๆ เป็นทางเดินที่มีหลังคาคลุมหรือเดินในอาคาร ปราศจากหาบเร่แผงลอยมากีดขวาง และพื้นผิวก็ไม่ได้เป็นกับระเบิดน้ำกระจายแบบของบ้านเรา เรียกว่า ต่อให้ฝนหรือหิมะตกก็ยังสัญจรได้ด้วยความสะดวกสบายใกล้เคียงกับสภาพปกติ มีความมั่นคงสูง ไม่ได้รับผลกระทบจากลมฟ้าอากาศมากนัก ดังนั้น การแก้ปัญหาฝนตกรถติด จึงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่รถยนต์ส่วนตัวหรือถนน แต่ต้องไปทำให้ขนส่งมวลชนและการเข้าออกไปยังต้นทางและปลายทางสู่ระบบขนส่งมวลชนไม่ได้รับผลกระทบจากฝนตกรถติด จึงทำให้ความต้องการเดินทางด้วยรถยนต์และพื้นผิวการจราจรไม่ได้รับผลกระทบจากฝนตกนั่นเอง
ใครที่ต้องการค้นหาบ้านและคอนโดที่เดินทางสะดวก ลดปัญหาฝนตกรถติดสามารถหาได้ที่<<3d87917c80fdde4f4f470b647db432dc>>
เขียนโดย : รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา
หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อีเมล : [email protected]