หนี้ครัวเรือน คำคุ้นหูที่เป็นสาเหตุสำคัญให้ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อ หรือทำให้เรา “กู้ไม่ผ่าน” สักทีนั่นเอง แต่หนี้ครัวเรือนที่ว่านี้คืออะไร ทำไมถึงทำให้กู้ไม่ผ่าน แล้วตรวจสอบได้อย่างไรว่ามีหนี้ครัวเรือนอยู่เท่าไร รวมถึงวิธีปลดภาระหนี้ครัวเรือนอย่างไรได้บ้างให้การยื่นกู้ขอสินเชื่อผ่านแบบฉลุย ในบทความนี้เรามาอ่านกันครับ
ธนาคารแห่งประเทศไทยให้คำนิยาม “หนี้ครัวเรือน” ไว้ว่าหมายถึง เงินที่สถาบันการเงินให้กู้ยืมแก่บุคคลธรรมดาที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศ โดยบุคคลธรรมดานั้นอาจนำเงินที่กู้ยืมมาไปใช้เพื่อการจับจ่ายใช้สอยต่างๆ หรือเพื่อประกอบธุรกิจก็ได้ หรือพูดให้ง่ายๆ ก็คือภาระการใช้จ่ายที่เราใช้อยู่ โดยเน้นผ่อนจ่ายอยู่ ไม่ว่าจะเป็น
1. ผ่อนรถ
2. ผ่อนโทรศัพท์
3. บัตรเครดิต
4. ผ่อนของในบ้าน เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ต่างๆ
5. ผ่อนสุขภาพ เช่น ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ฟิตเนส
6. ค่าการศึกษาเล่าเรียน ซึ่งบางคนอาจผ่อนจ่ายค่าเทอม
7. ผ่อนเรื่องสวยงาม เช่น คอร์สบำรุงหน้า ผ่อนจ่ายค่าศัลยกรรม
หนี้ครัวเรือนเป็นส่วนประกอบสำคัญในการพิจารณาให้สินเชื่อจากธนาคารหรือสถาบันทางการเงินต่างๆ โดยข้อมูลเรื่องหนี้ครัวเรือนจะครอบคลุมเฉพาะเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เก็บข้อมูลได้เท่านั้น ไม่นับหนี้นอกระบบ ซึ่งได้แก่
หากมีหนี้ครัวเรือนในส่วนนี้มาก ธนาคารอาจจะปฏิเสธสินเชื่อได้ หรือกู้ไม่ผ่าน เพราะธนาคารจะมองว่าเราไม่มีความสามารถในการจ่ายที่มากพอ เนื่องจากหากอนุมัติให้อาจทำให้ผ่อนไม่ไหวและเกิดเป็นหนี้เสียในที่สุด
เช่น บัตรเครดิต ถ้าเรามีบัตรเครดิตหลายใบ เท่ากับเรามีสินเชื่อพร้อมใช้มากขึ้น หากเราใช้เงินในวงบัตรเครดิตสูงกว่าเงินเดือน แล้วไม่สามารถจ่ายเต็มจำนวนเมื่อสิ้นเดือนได้ ยอดคงค้างหลังจากที่เราจ่ายขั้นต่ำเหล่านั้นก็จะนับเป็นภาระหนี้ของเรา ยิ่งใครมีหลายบัตรที่มียอดคงค้างเยอะ รวมถึงยังต้องจ่ายดอกเบี้ยจากยอดคงค้างเพิ่มด้วย ธนาคารก็จะมองว่าเราไม่มีความสามารถในการผ่อนมากพอที่จะให้สินเชื่อนั่นเอง
วิธีตรวจสอบหนี้ครัวเรือนที่นิยมใช้กันมากที่สุดก็คือ การตรวจเครดิตบูโร มีหลายช่องทางให้ตรวจด้วยตนเอง ตามภาพเลยครับ
นอกจากนี้เรายังสามารถตรวจภาระหนี้เบื้องต้นด้วยตนเองได้เบื้องต้น ซึ่งต้องเข้าใจก่อนว่า โดยปกติแล้วในการขอสินเชื่อกู้ซื้อบ้าน ธนาคารมักใช้เกณฑ์ภาระหนี้ไม่เกิน 30-40% ของรายได้ต่อเดือน ฉะนั้นสามารถคิดภาระหนี้ของตัวเองได้เบื้องต้น ตามขั้นตอนนี้
1. ด้วยการรวบรวมภาระหนี้ที่มีดอกเบี้ยของเราออกมา โดยแบบเป็น 2 กลุ่มคือ
2. นำภาระหนี้ที่รวบรวมได้มาหารรายได้ต่อเดือน แล้วคูณ 100 เราก็จะทราบว่าภาระหนี้ของเราคือกี่เปอร์เซ็น
หากพบว่าภาระหนี้ของเรามากเกินกว่าที่ธนาคารจะให้สินเชื่อได้ เราต้องมาแก้หนี้กันก่อนที่จะไปยื่นขอสินเชื่อนะครับ โดยเราจะต้องทำให้เครดิตบูโรของเรากลับมาอยู่ในสภาวะปกติ ซึ่งมี 3 วิธีหลักๆ ดังนี้
1. ชำระหนี้ที่ค้างไว้
หากหนี้ที่ค้างไม่ใช่หนี้ NPL ให้ไปชำระหนี้ให้เรียบร้อยจนมีสถานะเป็นปกติก่อน แล้วค่อยไปทำเรื่องขอกู้บ้าน
2. ชำระให้ถึงยอดชำระขั้นต่ำ เพื่อให้บัญชีมีสถานะปกติ
หากชำระอย่างปกติต่อเนื่องกันหลายงวดๆ จะทำให้มีโอกาสมากขึ้นที่จะได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากธนาคาร เพราะเครดิตบูโรจะแสดงข้อมูลย้อนหลังเพียง 3 ปี หากภายใน 3 ปีล่าสุดมีประวัติการชำระดี ข้อมูลการชำระดีเหล่านั้นก็จะเข้ามาแทนที่ข้อมูลเดิม
3. คลินิกแก้หนี้
คลินิกแก้หนี้ คือ ตัวกลางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้แทนเจ้าหนี้อย่างครบวงจร นำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับหน่วยงานและสถาบันการเงินต่างๆ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้แทนเจ้าหนี้อย่างครบวงจร ภายใต้เกณฑ์และกรอบกฎหมายที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ในขณะเดียวกันก็เป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้ประชาชนมีโอกาสปลดหนี้สินได้ นอกจากนี้ยังให้ความรู้ทางการเงิน การวางแผนและบริหารการเงินที่ดีด้วย
ลองตรวจสอบกันดูนะครับว่าสาเหตุของการกู้ไม่ผ่านนั้นมาจากอะไร แต่รับรองว่ามาจากหนี้ครัวเรือนเป็นส่วนใหญ่แน่นอน หากใครพบว่าตัวเองมีหนี้ครัวเรือนอยู่ ทั้งที่ยื่นกู้แล้วไม่ผ่านหรือกำลังจะยื่นกู้ขอสินเชื่อ ผมอยากให้เคลียร์หนี้ครัวเรือนเหล่านี้ก่อน พร้อมศึกษาเทคนิคกู้สินเชื่อบ้านในช่วงนี้ให้ดีก่อน จะได้ไม่ต้องยื่นเอกสารขอสินเชื่อหลายรอบ และที่สำคัญจะได้ช่วยปลดภาระหนี้ออกก่อนที่จะสร้างหนี้ก้อนใหม่ มิฉะนั้นหนี้อาจอิรุงตุงนังหนักกว่าเดิมก็ได้นะครับ แต่ถ้าใครมั่นใจว่ากู้ได้แน่ เรามาหาบ้านและคอนโดในฝันรอกันได้เลยครับที่ Baania