บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เป็นหน่วยงานที่ดำเนินการและจัดการท่าอากาศยาน ดำเนินงานมานานกว่า 39 ปี ให้ความสำคัญด้านบริหารความเติบโตและแสวงหาโอกาสเพื่อพัฒนาได้รอบด้าน และมีผลประกอบการให้เติบโตต่อเนื่องด้วยการลงทุนขยายท่าอากาศยานเพื่อรองรับผู้โดยสารที่ เดินทางมายังประเทศไทย ให้เพียงพอและสะดวกสบาย
ภายใต้การบริหารงานของ นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. มีการดำเนินงานหลากหลายโครงการที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการพัฒนาท่าอากาศยานให้ลุล่วงเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด เพื่อให้สามารถรักษาความเป็นผู้นำธุรกิจท่าอากาศยานของภูมิภาคได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังมีเรื่องราวต่างๆ น่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่องใกล้ตัวชาวเชียงใหม่ เกี่ยวกับสนามบินแห่งใหม่จะเป็นอย่างไรมาติดตามกันเลย...
เปิดประตูต้อนรับผู้โดยสารทั่วโลกกว่า 140 ล้านต่อปี
ปัจจุบัน ทอท. มีสายการบินเข้ามาทำการบิน ณ ท่าอากาศยานของ ทอท. มากกว่า 130 สายการบิน โดยทำการบินไปยังเมืองต่างๆมากกว่า 170 เส้นทางทั่วโลก ซึ่งพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน ทอท. มีผู้โดยสารมาใช้บริการ ท่าอากาศยานของ ทอท. ประมาณ 140 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ของปีก่อน โดยมีเที่ยวบิน 875,000 เที่ยว เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2
ปัจจุบัน ทอท. บริหารสนามบินจำนวน 6 แห่ง ในภาคเหนือ 2 แห่ง, ภาคใต้ 2 แห่ง, ภาคกลาง 2 แห่ง คือ สุวรรณภูมิและดอนเมือง รองรับผู้โดยสารได้ 140 ล้านคน ล่าสุดคณะรัฐมนตรีมีมติให้ ทอท.บริหารสนามบินหลักและรองในอีก 2 ภาค คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยให้อุดรธานี เป็นสนามบินใหญ่และสนามบินสกลนคร เป็นสนามบินเล็ก เช่นเดียวกันภาคตะวันตก ได้แก่ สนามบินตากแต่จะเป็นสนามบินเล็ก และที่ จ.ชุมพร โดยขณะนี้อยู่ในกระบวนการเตรียมการรับโอนจากกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม
เตรียมปักหมุดสนามบินแห่งที่ 2 หลังผู้โดยสารทะลุ 10 ล้านคน
ในส่วนของท่าอากาศยานเชียงใหม่ในปัจจุบัน จำนวนผู้โดยสารเต็มความสามารถที่รองรับได้แล้ว จากจำนวน 8 ล้านคนต่อปี แต่ขณะนี้มีผู้โดยสารใช้บริการ ท่าอากาศยานเชียงใหม่สูงถึงปีละ 10 ล้านคน อีกทั้งปัญหาของสนามบินเชียงใหม่ปัจจุบันคือ มีเมืองมาขยายตัวล้อมสนามบินซึ่งหากมีผู้โดยสารใช้บริการมากถึง 18 -20 ล้านคน สิ่งที่น่าเป็นห่วงในอนาคตก็คือ ปัญหาเรื่องการจราจรภายในเมือง และหากมีเที่ยวบินในช่วงเวลาหลังเที่ยงคืน ก็จะเป็นการรบกวนชาวบ้านอีกด้วย
ทางกรมการบินพลเรือน(เดิม) หรือกรมท่าอากาศยาน เคยทำการศึกษาพื้นที่ก่อสร้างสนามบินแห่งที่ 2 โดยเลือกพื้นที่ ไว้ 4-5 แห่ง ซึ่งพบว่า บริเวณอ.บ้านธิ จ.ลำพูนเชื่อมต่อกับอ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ มีความเหมาะสมที่สุด มีเนื้อที่ 11,100 ไร่ แต่ทางทอท.จะใช้พื้นที่เพื่อก่อสร้างสนามบินแห่งที่ 2 เพียง 7,000 ไร่ โดยจะใช้แนวรันเวย์เดียวกับทิศทางของสนามบินเดิม เพราะหากทิศทางลมร่องเขาไม่เหมือนกัน การก่อสร้างรันเวย์จะแตกต่างกันทำให้การบริหารจราจรทางอากาศไม่ดีพอ และห่างจากสนามบินเดิมประมาณ 25 กิโลเมตร
กระบวนการได้มาที่ดินพบมีจำนวนกว่า 5,000 แปลง
สำหรับโครงการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่นั้น อยู่ในขั้นตอนรอสำนักการบินพลเรือนเสนอแผนการบินของชาติโดยรวมก่อน และหากสามารถนำเรื่องเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีได้ในเดือนธันวาคมนี้ ก็จะเข้าสู่กระบวนการเตรียมที่ดิน เพื่อการได้มาซึ่งที่ดิน เบื้องต้นได้มีการลงพื้นที่สำรวจเขตแนวที่ดิน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่าที่ดินบริเวณพื้นที่ก่อสร้างเป็นที่ดินมีโฉนดประมาณ 5,000 แปลง ซึ่งจะต้องใช้กฎหมายเวนคืนที่ดินในการดำเนินการต่อไป
จากนั้นจึงเป็นขั้นตอนการก่อสร้าง คาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 4 ปี ซึ่งสนามบินแห่งที่ 2 โดยสนามบินแห่งใหม่จะให้บริการเส้นทางบินภายในประเทศ รองรับจำนวนผู้โดยสารได้ปีละ 10-15 ล้านคน ใช้เงินลงทุนประมาณ 60,000 ล้านบาท จำนวนดังกล่าวไม่รวมค่าที่ดินอีกประมาณ สองถึงสามพันล้านบาท โดยสนามบินเดิม จะให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศ
มุ่งพัฒนาสนามบิน 2แห่งแบบคู่ขนาน
สำหรับสนามบินแห่งเดิม จะมีการพัฒนา แบบคู่ขนาน โดยมีโครงการก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์บริเวณด้านฝั่งขวาของสนามบิน ใช้งบประมาณในการดำเนินการ 2,000-3,000 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในช่วงต้นปี 2562
อาคารอเนกประสงค์ดังกล่าว มีเนื้อที่หมื่นตารางเมตร ทอท. จะเสนอให้เป็นการลงทุนร่วมรัฐและเอกชน (PPP) ซึ่งคาดว่าใช้เงินลงทุนไม่เกิน 1,000 ล้านบาท แผนงานนี้ได้เพิ่มไปในแผนแม่บทของท่าอากาศยานเชียงใหม่ และบอร์ดได้อนุมัติไปแล้วเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในการก่อสร้างสนามบินแห่งที่ 2 ของ ทอท. นอกจากจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสาร-นักท่องเที่ยวในการเดินทาง และยังเป็นการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์พร้อมทั้งช่วยสร้างรายได้ สร้างงานให้กับชุมชน อีกทางหนึ่งด้วย…