ผู้ที่เคยมีประสบการณ์หาซื้อบ้านหลายรายคงเคยใช้บริการหน่วยงานภาครัฐที่มีอยู่หลายแห่ง เพื่อให้สามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้สำเร็จ นอกจากนั้นก็ยังมีหน่วยงานที่มุ่งให้ความช่วยเหลือสนับสนุนผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในเรื่องเงินทุนในการดำเนินงาน หนึ่งในนั้นได้แก่ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่ให้การค้ำประกันสินเชื่อกับผู้ประกอบการ
ทีมงาน Baania ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม เกี่ยวกับภารกิจของ บสย. และข้อมูลการค้ำประกันสินเชื่อธุรกิจอสังหาฯ
กิจกรรมหลากหลาย ส่งผลให้ยอดค้ำประกันขยับ
ทาง บสย. มีกิจกรรมเกี่ยวกับการค้ำประกันค่อนข้างมาก อาทิ โครงการกิจกรรมมหกรรมทางการเงินกว่า 17 ครั้ง ทั่วประเทศ พร้อมจัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดสินเชื่อ กิจกรรมร่วมกับทางธนาคารโดยทำการประชาสัมพันธ์โครงการใหม่ๆ และการค้ำประกัน
สำหรับยอดค้ำประกันของ บสย. ในปี 2561 ในช่วง 4 เดือนแรก สามารถค้ำประกันไปกว่าสามหมื่นล้านบาท มีจำนวนลูกค้าที่ได้รับการค้ำประกันจำนวน 40,000 ราย เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
ทั้งนี้ยอดการค้ำประกันตลอดทั้งปีตั้งเป้าทั้งหมดไว้ หนึ่งแสนหนึ่งหมื่นล้านบาท โดยในปี 2561 นี้ บสย. มีโครงการที่สำคัญ เรียกว่าโครงการค้ำประกันลูกค้าทั่วไป ระยะที่ 6 โครงการนี้มีเงินทุนทั้งหมดแปดหมื่นหนึ่งพันล้านบาท เริ่มโครงการเดือนสิงหาคม 2560 รวมทั้งหมด 10 เดือน สิ้นสุดในเดือนมิถุนายน
โครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการที่ดี เพราะ บสย. ยกเว้นค่าธรรมเนียมให้กับลูกค้า จำนวน 4 ปี อาทิ หากลูกค้าใช้เงินค้ำประกัน บสย. จำนวนหนึ่งล้านบาท ค่าธรรมเนียมปีละหมื่นเจ็ดพันห้าร้อยบาท รวมทั้งหมดประมาณเจ็ดหมื่นบาทหรือร้อยละ 7 ที่ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม
ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจทั่วประเทศ ทั้งกรุงเทพและต่างจังหวัด
สำหรับลูกค้าที่ใช้บริการค้ำประกันสินเชื่อจาก บสย. นั้น ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 60 กลุ่มผู้ประกอบการต่างจังหวัด ร้อยละ 40 กระจายตัวอยู่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ประมาณร้อยละ 13-14 โดยการเติบโตนับว่าใกล้เคียงกันมาก อาทิ ในปี 2560 ภาคเหนือมีประมาณร้อยละ 14 ภาคใต้ร้อยละ 12 แต่ในปี 2561 ภาคเหนือร้อยละ 13 ภาคใต้ร้อยละ 14 ซึ่งเป็นธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวมากขึ้น
ทั้งนี้ในภาคเหนือค่อนข้างกระจายตัวในหลายธุรกิจมากขึ้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจเกี่ยวกับการบริการกว่าร้อยละ 22 รองลงมาเป็นธุรกิจเกี่ยวกับโรงงาน, ธุรกิจการเกษตร และการผลิต
นอกจากนั้น บสย. ได้ร่วมกับธนาคาร ธ.ก.ส. ผลักดันนโยบายช่วยเหลือด้านเกษตรกร
โดย ธ.ก.ส. ได้แบ่งสินเชื่อออกเป็น 2 ประเภท ร้อยละ 80 เป็นสินเชื่อเกี่ยวกับเกษตรกร ร้อยละ 20 เป็นเกษตรกรเพิ่มมูลค่า ซึ่งจะทำสินเชื่อนอกภาคเกษตรได้ โดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นธุรกิจเกี่ยวกับ SME และธนาคาร ธ.ก.ส. ก็เริ่มใช้การบริการของ บสย. ในการปล่อยสินเชื่อที่เป็นผู้ประกอบการของ SME ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีธุรกิจภาคเกษตรเพิ่มมากขึ้นด้วย
เปิดโอกาสธุรกิจรายเล็ก-สตาร์ทอัพ พร้อมประสานสถาบันการเงิน
ในปี 2561 บสย. ยังมีโครงการใหม่อีก 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการลูกค้าทั่วไป วงเงินในค้ำประกันประมาณแสนห้าหมื่นล้านบาท, 2.โครงการค้ำประกันลูกค้าไมโคร ระยะที่ 2 วงเงินหมื่นสามพันห้าร้อยล้านบาท และช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2561 จะเริ่มโครงการไมโคร ระยะที่ 3 วงเงินหมื่นห้าพันล้านบาท ที่มีผู้ประกอบการรายเล็กสนใจเข้าร่วมโครงการลูกค้าไมโคร ในแต่ละเดือนหนึ่งจำนวน 6-7 พันราย ในกลุ่มนี้ร้อยละ 70 ที่เป็นลูกค้าของ บสย. ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กที่เป็นลูกค้าของ บสย. ก็จะทำให้กู้เงินได้ง่ายขึ้น โดยธนาคารที่เข้าร่วมในโครงการ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารไทยเครดิต ธนาคารทิสโก้ ธนาคารกรุงเทพ
ด้านการค้ำประกันในครึ่งปีหลังเป็นโครงการ gs7 และโครงการไมโคร ระยะที่ 3 ระยะเวลาในการทำงานประมาณ 2 เดือน ในการประชาสัมพันธ์ คาดว่าจะมียอดเงินค้ำประกันประมาณเดือนกันยายนถึงธันวาคม ส่วนการค้ำประกันที่เกี่ยวกับธุรกิจสตาร์ทอัพมีวงเงินประมาณหมื่นล้านบาท
ธุรกิจกลุ่มอสังหาฯ ภาคเหนือ เชียงใหม่-เชียงรายสนใจใช้บริการ
การค้ำประกันในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังมีจำนวนไม่มากนัก เพราะในอดีต บสย. ไม่มีโครงการค้ำประกันให้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถขอสินเชื่อโดยใช้ที่ดิน, บ้าน มาค้ำประกันได้
แต่ถ้าเป็นธุรกิจรับเหมาก่อสร้างพบว่ามีลูกค้าค่อนข้างมาก เช่นโครงการที่ธนาคารกรุงไทยร่วมกับโครงการภาครัฐ ก็มีลูกค้าของ บสย. ขอค้ำประกันวงเงินประกัน
การแบ่งประเภทธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาฯ ที่ได้รับอนุมัติการค้ำประกันสินเชื่อในภาคเหนือมี 3 ประเภท ได้แก่ รับเหมาก่อสร้าง, จำหน่ายวัสดุก่อสร้าง, โครงการบ้านจัดสรร ซึ่งกลุ่มรับเหมาก่อสร้างที่มีมูลค่าการขออนุมัติมากที่สุด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 242 ราย มูลค่า 940.12 ล้านบาท รองลงมาได้แก่จังหวัดเชียงราย จำนวน 131 ราย มูลค่า 404.44 ล้านบาท
กลุ่มจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่มีมูลค่าการขออนุมัติมากที่สุด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 185ราย มูลค่า 459.67 ล้านบาท รองลงมาได้แก่จังหวัดเชียงราย จำนวน 165 ราย มูลค่า 448.39 ล้านบาท ส่วนโครงการหมู่บ้านจัดสรรของจังหวัดเชียงใหม่ที่ขออนุมัติการค้ำประกันสินเชื่อ จำนวน 2 ราย มูลค่า 1.112 ล้านบาท
การดำเนินงานของ บสย. นับว่าสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการหลากหลายกลุ่ม รวมถึงผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ที่จะช่วยให้ธุรกิจมีเงินทุนหมุนเวียนเพื่อให้ เติบโตทันกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน