ความสำคัญระหว่าง “งาน” กับ “เมือง” เป็นอย่างไร
คำถามที่คนทำงานและใช้ชีวิตในเมืองคือ นอกจากที่งานจะทำให้เราอยู่รอดแล้ว งานยังมีหน้าที่บริการให้เมืองอยู่รอดอีกด้วย
แล้วเมืองมีบทบาทในการบริการเราในฐานะคนทำงานมากน้อยขนาดไหน”
ในบทความนี้ วิเคราะห์เกี่ยวกับงานด้านการบริการ ทั้งกลุ่มงานบริการที่ส่งเสริมธุรกิจ (สีโทนน้ำเงิน) และกลุ่มงานบริการวิถีชีวิต (สีโทนเหลือง) ทั้งสองกลุ่มงานนี้ มีลักษณะที่เปลี่ยนไปจากในอดีตเป็นอย่างมาก ส่งผลให้การใช้เมืองหรือการบริการเมืองของคนทำงานในทั้งสองกลุ่มนี้แตกต่างไปจากเดิมขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน กลุ่มงานบริการสังคมขั้นพื้นฐาน (สีโทนเขียว) จะยังไม่ถูกกล่าวถึง เนื่องจากเป็นกลุ่มงานที่พ่วงกับการบริการของรัฐ ซึ่งมีลักษณะการเปลี่ยนแปลงที่ช้ากว่างานบริการอีกสองกลุ่ม
หากคิดถึงพื้นที่หรือสิ่งก่อสร้างทางกายภาพของเมืองที่บริการการทำงาน พื้นที่ที่เกี่ยวข้องที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้นสถานที่ทำงาน เพียงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานี้ สำนักงานยังเคยเป็นพื้นที่เดียวสำหรับการทำงานบริการส่งเสริมธุรกิจ เช่น งานวิชาชีพ งานข้อมูลและสื่อสาร งานด้านการเงิน และงานบริหารและสนับสนุน ซึ่งปรากฎเป็นกลุ่มโทนสีน้ำเงินในแผนภูมิด้านบน เมื่อเราก้าวเท้าออกจากพื้นที่ดังกล่าว งานก็ถือว่าเป็นอันเสร็จสิ้น สิ่งที่ค้างคาก็จะถูกยกไปทำในวันถัดไป คำว่าสำนักงานกับสถานที่ทำงานจึงเป็นคำเสมือนที่สามารถถูกใช้แทนกันได้อย่างแนบเนียน
ในปัจจุบัน เมื่อการทำงานสะดวกสบายมากขึ้นสามารถพกคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คไปทำงานตามร้านกาแฟต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย ผนวกกับโครงสร้างธุรกิจแบบ Lean ของบริษัทต่างๆ ทำให้การว่าจ้างและรับจ้างงานในระยะสั้นหรือแบบฟรีแลนซ์มีมากขึ้น ส่งผลต่อให้ความยืดหยุ่นของการทำงานมีมากยิ่งขึ้น หลายบริษัทเริ่มให้ความสำคัญกับผลงานมากกว่าชั่วโมงการปรากฎตัวอยู่ในสถานที่ทำงาน การตอกบัตรเข้าที่ทำงาน ในหลายบริษัทก็เริ่มมีความสำคัญน้อยลงเรื่อยๆ ทำให้คนในปัจจุบันมีเวลาและสถานที่ทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น จนคำว่าสถานที่ทำงานสามารถถูกใช้เพื่อสื่อถึงพื้นที่ได้หลากหลายรูปแบบมากกว่าการเป็นเพียงสำนักงาน
หากมองถึงพฤติกรรมของมนุษย์ฟรีแลนซ์ในปัจจุบัน ส่วนมากยังคงทำงานด้านการบริการเพื่อส่งเสริมธุรกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมอยู่ เช่น งานออกแบบ งานเขียน งานด้านเทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งงานธุรการต่างๆ กลุ่มคนเหล่านี้ อาจมีที่ทำงานเป็นห้องกินข้าวในบ้านของตนเอง เป็นร้านกาแฟ หรือกระทั่งมีที่ทำงานในฟิตเนสก็เป็นได้ เราเริ่มสามารถสังเกตเห็นคนที่นั่งทำงานอยู่บนจอคอมพิวเตอร์ตามพื้นที่เหล่านี้ได้มากขึ้น
การทำงานในรูปแบบพื้นที่ทำงานของเมือง เช่น Co-working Space ก็เริ่มมีบทบาทในเมืองมากตามมาเช่นกัน พื้นที่เหล่านี้จึงสามารถถูกผนวกรวมไปเป็นสถานที่ทำงานของคนบางคนได้โดยปริยาย
เมื่อวันหนึ่ง ประเด็นพูดคุยในวงสนทนา…. ใครเคยทำอะไรผ่านมือถือบนรถไฟฟ้าบ้าง แล้วก็พบว่าหลายคนอาจใช้เวลาไปกับการอ่านหนังสือ การฟัง podcast การเล่นเกม หรือการพักผ่อนในรูปแบบอื่นๆ หลายคนอาจจะเคยชินกับการตอบอีเมลหรือเมสเสจบนรถไฟฟ้า ที่สุดโต่งกว่านั้นคงต้องยกให้การเขียนโค้ดโปรแกรมมิ่งบนมือถือ บางคนเคยเขียนบทความ บางคนเคยนั่งทำการวิเคราะห์การเงิน หรือบางคนก็เคยไปถึงขั้นการขึ้นโมเดล 3 มิติในมือถือก็มี
ถึงแม้เวลาการเดินทางเข้าเมืองด้วยระบบสาธารณะจะส่งผลมาจากการกระจายตัวของที่อยู่ที่ไม่สอดคล้องกับการกระจุกตัวของงานในใจกลางเมือง แต่ในมุมของพื้นที่ในการทำงาน การมีบริการการเดินทางสาธารณะของเมืองก็มีนัยยะในการเพิ่มสถานที่ทำงานให้เราด้วยเช่นกัน
กิจกรรมดังกล่าวต่างกันกับการขับรถส่วนตัว เนื่องจากผู้ขับขี่ควรรักษาความปลอดภัยบนท้องถนนจึงไม่ควรใช้มือถือหรือทำงานในรูปแบบอื่นๆ ในเวลาเดียวกัน เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วการใช้บริการรถไฟฟ้า รถเมล์ หรือ ระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ ก็อาจจะมีข้อดีในการเป็นสถานที่ทำงานเพิ่มเติมไปจากการใช้งานด้านการเดินทางของระบบเหล่านี้ได้เช่นเดียวกัน
เมื่อเรารวมพื้นที่ทำงานเหล่านี้เข้ากับพื้นที่สำนักงานในรูปแบบเดิมจะเริ่มเห็นได้ว่าสถานที่ทำงานในรูปแบบต่างๆ มีการกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ที่หลากหลายของเมือง และมีส่วนในการเปลี่ยนวิถีการทำงานของคนเมืองเช่นเดียวกัน
ในอีกกลุ่มหนึ่งของงานบริการ คืองานบริการวิถีชีวิตขั้นพื้นฐาน งานกลุ่มนี้อาจรวมถึงกลุ่มแม่บ้าน งานร้านอาหาร และงานบริการด้านอื่นๆ ซึ่งความต่างของงานประเภทนี้กับงานบริการที่กล่าวไปข้างต้นมีอยู่หลายประเด็น ทั้งเรื่องของอัตราค่าจ้าง ระยะเวลาของวัฏจักรงานหนึ่งๆ (Work cycle) และความยากในการเรียนรู้หรือฝึกทักษะ (Learning curve) แต่ประเด็นหนึ่งที่ต้องการพูดถึงและที่สืบเนื่องกับพื้นที่การทำงานของเมือง คือ กลุ่มคนที่งานบริการวิถีชีวิตเหล่านี้มักจำเป็นที่จะต้องอยู่ในพื้นที่ทำงานเพื่อทำงานดังกล่าว เช่น แม่บ้านก็จำเป็นต้องไปที่บ้านหรือบริษัทนั้นๆ เพื่อทำความสะอาด พนักงานเสิร์ฟอาหารก็จำเป็นที่จะต้องอยู่ในร้านอาหารเพื่อเสิร์ฟ
ในทางกลับกัน คนที่ทำงานในกลุ่มนี้มักมีลักษณะการทำงานคล้ายฟรีแลนซ์เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ถึงแม้ว่าหลายคนจะต้องรับงานที่หลากหลายด้วยความจำเป็นที่สืบเนื่องมาจากอัตราจ้างที่มีราคาไม่สูงมากก็ตาม ทำให้งานเหล่านี้กลับมีความยืดหยุ่นของการใช้สถานที่ทำงานเป็นพื้นอยู่แล้ว หากการพัฒนาเมืองตั้งอยู่บนพื้นฐานความยืดหยุ่นและความหลากหลายในการใช้งาน ทั้งในเชิงเวลาและสถานที่ เมืองก็น่าที่จะตอบโจทย์คนทำงานบริการเมืองมากขึ้นได้ และในทางกลับกันงานเหล่านั้นก็จะช่วยบริการให้เมืองเติบโตขึ้นอย่างยั่งยืนเช่นกัน
เดิมทีการหาลูกค้าของงานบริการทั้งสองอย่างนี้มีทั้งในรูปแบบการว่าจ้างในระยะยาว เช่น บริษัทที่ว่าจ้างนักธุรการ ร้านอาหารที่จ้างพนักงานเสริฟ บริษัทที่จ้างพนักงานทำความสะอาด หรือครัวเรือนที่จ้างแม่บ้านประจำ นอกจากนี้ยังมีงานบริการบางประเภทที่ลูกค้าจะต้องว่าจ้างโดยการไปหาถึงที่ เช่น บริษัทออกแบบ บริษัททนาย ร้านตัดผม ร้านนวด วินมอเตอร์ไซค์ ฯลฯ ซึ่งโอกาสการว่าจ้างมักเป็นการแนะนำปากต่อปากจากคนรู้จักหรือลูกค้าเดิม แต่ในปัจจุบัน การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมีความแพร่หลายมากขึ้น รองรับคนจากหลากหลายกลุ่มรายได้และความสามารถ บริษัทใหม่ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีในการสร้างแพลตฟอร์มเพื่อเอื้อให้การเข้าถึงการว่าจ้างเหล่านี้ก็มีมากขึ้น สร้างโอกาสในการ “พบกัน” ของทั้งผู้จ้างและผู้ให้บริการ โลกออนไลน์และโลกกายภาพของการทำงานจึงสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้นมากขึ้นไปโดยปริยาย ส่งเสริมให้ปริมาณคนทำงานที่ใช้สถานที่ในเมืองอย่างยืดหยุ่นมีมากขึ้นเรื่อยๆ
จากเดิมที่การทำงานมีความชัดเจนด้านสถานที่ทำงานอยู่มาก ปริมาณการเดินทางระหว่างวันก็มีเพียงการเข้างานและการเลิกงานของคนมือง ทำให้เกิดช่วงที่การจราจรหนาแน่นเพียงช่วงเช้าและช่วงหัวค่ำ แต่เมื่อในหนึ่งวัน เราเริ่มต้องเดินทางไปหลายที่ ทั้งเพื่อบริการลูกค้าที่หลากหลาย เพื่อการรับจ้างแบบระยะสั้นในหลายพื้นที่ เพื่อการประชุม หรือเพื่อการเปลี่ยนบรรยากาศที่ทำงาน การใช้สถานที่ทำงานในเมืองเริ่มมีไม่มีแบบแผนที่ชัดเจนเหมือนในสมัยก่อน
ทำให้สันนิษฐานได้ว่าความยืดหยุ่นของการทำงานและสถานที่ทำงานที่ได้กล่าวมาทั้งหมด อาจเป็นสาเหตุที่ความหนาแน่นของการจราจร และผู้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะในเมืองไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงช่วงเช้าและหัวค่ำเหมือนอย่างเคย
แม้เมืองจะมีส่วนช่วยบริการให้เกิดพื้นที่ทำงานในบริบทต่างๆ แต่ในขณะเดียวกัน การออกแบบและพัฒนาเมืองอาจต้องกลับมาตั้งคำถามกับความยืดหยุ่นของการใช้พื้นที่ในเมือง
เมื่อเรามีอิสระในการใช้เมืองมากขึ้นและสามารถใช้พื้นที่ของเมืองได้ในเวลาและสถานที่ที่หลากหลายมากขึ้น พื้นที่สาธารณะของเมืองอาจมีบทบาทในการเป็นพื้นที่ส่งเสริมเศรษฐกิจผ่านการเป็นพื้นที่ทำงานบริการหน้าคอมพิวเตอร์ของคนเมืองได้ ความต้องการการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะและการเดินเท้าที่สืบเนื่องมาจากการเพิ่มปลายทางในหนึ่งวันจึงต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามมา
ความยืดหยุ่นในการใช้เวลาของคนเมืองจึงเป็นทั้งโอกาสที่ธุรกิจบริการรายย่อยต่างๆ สามารถฉวยมาใช้สนับสนุนกิจการของตน เสริมสร้างความคึกคักของเมืองไปในตัว นอกไปจากนี้
ในความยืนหยุ่นดังกล่าวยังเป็นความท้าทายสำหรับกายภาพเมือง ที่จะต้องปรับตัวเอื้อให้ลักษณะการทำงานที่เปลี่ยนไปเหล่านี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ นอกจากที่การส่งเสริมประสิทธิภาพของการทำงานจะส่งผลต่อโอกาสทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการหารายได้ และสร้างความคึกคักให้กับเมืองแล้ว เมื่อเมืองตอบสนองให้การทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี คุณภาพของชีวิตคนเมืองก็น่าจะดีขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน
ที่มาข้อมูล:
Nostra Map. (2557).ข้อมูลเชิงพื้นที่ ตำแหน่งอาคารสำนักงาน ร้านกาแฟ และรถไฟฟ้า (BTS, MRT)
ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง. (2557). แผนที่เมืองเดินได้: ศักยภาพการเข้าถึงสาธารณูปการด้วยการเดินเท้า. โครงการเมืองเดินได้เมืองเดินดี, โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.).
ธนาคารแห่งประเทศไทย (2562). EC_RL_009_S4 ภาวะการทำงานของประชากร จำแนกตามประเภทธุรกิจ (ISIC Rev.4).link.