พื้นที่บริเวณ กรุงเทพฯ และปริมณฑลมีสภาพภูมิศาสตร์เป็นที่ราบลุ่มปากแม่น้ำเจ้าพระยาและท่าจีน มีลักษณะเป็นที่ราบขนาดใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งดินและน้ำ เหมาะแก่เกษตรกรรมและการตั้งถิ่นฐานแบบชุมชนเมือง และสามารถออกสู่อ่าวไทยได้อย่างสะดวก จึงมีการตั้งถิ่นฐานมาอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน จากชุมชนเกษตรกรรมขนาดเล็กกลายเป็นเมืองท่าและกลายเป็นเมืองหลวงจนถึงการเป็นศูนย์กลางของกลุ่มประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
จากเดิมที่เคยตั้งถิ่นฐานสอดคล้องกับสภาพภูมิศาสตร์และทรัพยากร จึงสามารถใช้ความอุดมสมบูรณ์มาทำการเกษตรที่สมดุลระหว่างเศรษฐกิจกับการมีทรัพยากรน้ำอย่างเหลือเฟือ จนพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางการบริหารการปกครองและเศรษฐกิจที่ต้องมีความมั่นคงและปลอดภัยให้แก่กิจกรรมต่างๆ และมีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติต่ำ ซึ่งนำมาสู่การวางแผนและก่อสร้างองค์ประกอบต่างๆ เพื่อป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุทกภัยซึ่งเป็นภัยปกติของพื้นที่ราบลุ่มปากแม่น้ำ
อย่างไรก็ตาม อำนาจของธรรมชาติมีพลังเหนือกว่าความพยายามของมนุษย์อยู่เสมอ กรุงเทพฯ และปริมณฑลจึงประสบกับปัญหาอุทกภัยอยู่เป็นประจำ และมีอุทกภัยครั้งใหญ่ในวงรอบทุกๆ 10-20 ปี เช่น ปี 2526, 2538 และครั้งสุดท้ายที่ยังติดอยู่ในความทรงจำของคนไทยคือ มหาอุทกภัยปี 2554 ซึ่งอุทกภัยครั้งใหญ่แต่ละครั้งส่งผลกระทบแต่ต่างกันในเชิงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เช่น ปี 2538 พื้นที่ทางฝั่งตะวันออกของ กรุงเทพฯ และปริมณฑลได้รับผลกระทบหนักที่สุด แต่ในปี 2554 พื้นที่น้ำท่วมหนักคือด้านเหนือและด้านตะวันตก หน่วยงานของรัฐทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นได้ทุ่มเทกำลังทรัพย์และกำลังคนเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมใน กรุงเทพฯ และปริมณฑลมาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้หลักการพื้นฐานของการป้องกันน้ำท่วมในเขตเมือง
การป้องกันน้ำท่วมในเขตเมือง คือการกำหนดพื้นที่ที่ต้องป้องกันน้ำท่วมอย่างเข้มแข็ง คือ พื้นที่ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและชุมชนเมือง และทำการป้องกันด้วยการแบ่งน้ำที่จะท่วมเมืองออกเป็นสองส่วน คือน้ำนอกเขตเมืองกับน้ำฝนที่ตกลงในเขตพื้นที่เมือง จากนั้นก็สร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อป้องกันน้ำท่วมในเขตเป้าหมายคู่ขนานกันไป ด้วยการเบี่ยงน้ำเหนือไม่ให้เข้าสู่พื้นที่ป้องกันน้ำท่วมในเขตเมือง ด้วยแม่น้ำและคูคลองนอกเมือง เพื่อให้น้ำเหนือไม่เข้ามามีผลกระทบต่อพื้นที่เมือง
อีกทั้งยังมีแก้มลิงเพื่อพักน้ำเหนือรอไว้ลงทะเลในยามที่น้ำทะเลหนุนตลอดแนวแม่น้ำลำคลองที่วิ่งจากด้านนอกมาทะลุผ่านพื้นที่ป้องกันน้ำท่วมในเขตเมืองก็ทำเขื่อนป้องกันน้ำล้นตลิ่งเข้ามาท่วมซะ ส่วนด้านในที่มีกิจกรรมที่ไม่สามารถอยู่กับน้ำท่วมได้ เนื่องจากต้องการความมั่นคงในการประกอบกิจกรรมโดยปราศจาคภัยพิบัติทางธรรมชาติมารบกวน ก็ทำเขื่อนล้อมรอบเพื่อป้องกันน้ำนอกพื้นที่เข้ามาท่วมพื้นที่ด้านใน แล้วสร้างระบบจัดการน้ำฝนที่ตกอยู่ในพื้นที่ด้านในนี้ให้สามารถระบายออกสู่พื้นที่ด้านนอกได้ทันเวลาก่อนที่จะเกิดน้ำท่วมขัง
กรุงเทพฯ และปริมณฑลได้นำหลักการพื้นฐานดังกล่าวมาใช้กับการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญศูนย์กลางเมือง โดยแบ่งเป็น
การสร้างคันกั้นน้ำพระราชดำริและเบี่ยงน้ำเหนือออกนอกเมืองให้ลงสู่อ่าวไทยได้โดยไม่ต้องผ่านพื้นที่ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เป็นแนวทางที่จะทำให้พื้นที่ในคันกั้นน้ำพระราชดำริเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการเกิดอุทกภัย อีกทั้งยังอยู่ในระยะที่เดินทางสะดวก ส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยในคันกั้นน้ำพระราชดำริมีราคาสูงกว่าโครงการที่อยู่ด้านนอกค่อนข้างมาก
ยกตัวอย่างโครงการในย่านมีนบุรี แถบชานเมือง ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเทพมหานคร กายภาพของพื้นที่เดิมเป็นย่านเกษตรกรรม มีบึงและแหล่งน้ำกระจายตัวอยู่ในย่าน และเมื่อความเจริญเริ่มขยายจากใจกลางกรุงเทพฯ ทำให้ย่านเกษตรกรรมเดิมอย่างมีนบุรี ปรับตัวเป็นย่านที่พักอาศัยเพราะความอุดมสมบูรณ์ของตัวพื้นที่ ความสะดวกสบายในการเดิมทางเข้ามาทำงานในเมือง รวมไปถึงยังมีพื้นที่สวน พื้นที่ไร่การเกษตรเดิมอีกหลายแปลงที่ยังพัฒนาเป็นโครงการจัดสรรได้ ทำให้ช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา มีโครงการจัดสรรจากเหล่าผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เกิดขึ้นในย่านนี้หลายโครงการ หากเลือกเปรียบราคา ของโครงการจัดสรร ในแบรนด์ของผู้ประกอบการเจ้าของเดียวกัน โดยมีเกณฑ์ที่เป็นปัจจัยตัววัดผล คือ โครงการหนึ่งอยู่ในเขตคั้นกั้นน้ำพระราชดำริ และอีกโครงการอยู่นอกคั้นกันน้ำ
จากตารางเปรียบเทียบแม้จะต่างกันในช่วงของระยะเวลาการเปิดตัว แต่ตัวสินค้าที่เป็นบ้านพักอาศัย ประเภท ทาวน์โฮม 2 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอย และฟังก์ชันการใช้งานตัวบ้านเหมือนกัน แต่ราคาของโครงการจัดสรร ก. ซึ่งมีบริเวณที่ตั้งอยู่ในเขตแนวคันกั้นน้ำพระราชดำริ ก็ยังมีราคาสูงกว่า โครงการจัดสรร ข. กว่า 400,000 บาท
อย่างไรก็ตาม ยังต้องการรูปแบบการบริหารจัดการระบายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งน้ำเหนือที่ลงมาจากต้นน้ำสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาให้แบ่งออกไปยังแม่น้ำท่าจีนตั้งแต่จังหวัดชัยนาท สุพรรณบุรีและอ่างทอง การจัดการให้น้ำเหนือที่มาถึงด้านเหนือของ กรุงเทพฯ และปริมณฑลออกไปยังพื้นที่ระบายน้ำนอกคันกั้นน้ำพระราชดำริทั้งด้านตะวันออกและตะวันตก การสร้างคันกั้นน้ำและเขื่อนตลอดแนวแม่น้ำเจ้าพระยาที่แข็งแรงและครบถ้วน มีมาตรการทางผังเมืองและการควบคุมอาคารเพื่อไม่ให้มีสิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำ การทำความสะอาดช่องทางระบายน้ำให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่มีเศษขยะต่าง ๆ มาขัดขวางการระบายน้ำ และการติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องดันน้ำเพื่อช่วยเหลือเมื่อฝนตกหนัก
โครงสร้างพื้นฐานเพียงอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอต่อการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ศูนย์กลาง กทม.และปริมณฑล แต่ต้องการการดำเนินการและปฏิบัตตามแผนอย่างเคร่งครัด เพื่อให้พื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ สังคมและชุมชนเมืองหลักของประเทศไทยมีความมั่นคงและปลอดภัยในการดำรงชีวิตแบบเมืองอย่างเหมาะสม
เขียนโดย : รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา
หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อีเมล : [email protected]