Highlight
เมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครที่ใคร ๆ ต่างก็ต้องการความรวดเร็วในการเดินทาง แต่ด้วยโครงสร้างของเมืองและระบบคมนาคมสาธารณะ แม้ว่าภาครัฐและเอกชนเร่งระดมทุนกันพัฒนามากมาย แต่ “มหานคร” หรือ “Megacity” ที่มีขนาดใหญ่แบบนี้ย่อมต้องมีจุดบอดให้เห็น เรามาร่วมกันค้นหาจุดเหล่านั้นไปพร้อมกันครับ
อัพเดตโครงข่ายรถไฟฟ้า เปิดทำเลทองแห่งอนาคต
จากการวิเคราะห์ที่ตั้งของสิ่งอำนวยความสะดวกในหลายๆด้านของชีวิต ทำให้เราได้ค่าคะแนนตัวหนึ่งออกมา ซึ่งหลายท่านอาจจะเริ่มคุ้นเคยกับมันบ้างแล้ว คือ Living score เป็นค่าตัวเลขตั้งแต่ 1-10 ช่วยบอกว่าแต่ละที่ตั้งหรือทำเลนั้นๆ ว่าสามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกได้ดีมากน้อยแค่ไหน ถ้าดีมากเท่ากับคะแนนเต็ม 10 ไปเลย ถ้าน้อยหน่อยก็ค่อยๆ ลดหลั่นกันไป
Living score นี้จะประกอบร่างมาจากหลายองค์ประกอบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นความสะดวกในการเดิน การขับรถ หรือการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ ในครั้งนี้จะพูดถึงการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะเป็นหลักนะครับ โดยเรียกว่าค่าคะแนน Transit score พื้นที่ใดที่มี Transit score สูง(เต็ม10) หมายถึง เป็นพื้นที่ที่สะดวกในการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ ลองคิดดูถ้าหากว่าบริเวณที่ไม่มีระบบขนส่งสาธารณะที่รัฐ(หรือเอกชน)ให้บริการแล้ว ก็คงถึงคราวต้องรับภาระไว้บนสองขาของแต่ละคน
ย่านที่มีค่าเฉลี่ย Transit score น้อยมาก ๆ ในกรุงเทพฯ ได้แก่ ท่าข้าม แสมดำ คลองสามวา หทัยราษฏร์ รังสิตคลอง12 เรามาดูกันไปแต่ละย่านดีกว่าครับ ว่าทำไมถึงได้คะแนนออกมาแบบนี้
อันดับแรกเลย เมื่อเทียบกับเส้นทางรถไฟฟ้าทั้งหมดนของกรุงเทพฯ จะเห็นได้ว่า พื้นที่ดังกล่าวมีระยะทางค่อนข้างจะไกลจากสถานี
ย่านท่าข้าม ทางฝั่งบางขุนเทียนที่เลยแนววงแหวนกาญจนาออกไป เป็นย่านที่ค่อนไกลจากขนส่งมวลชนจริง ๆ ถนนบางขุนเทียนโดยเฉพาะตอนปลายแบบนี้แทบจะไม่มีรถโดยสาร รถเมล์ สองแถว เหตุผลหนึ่งก็คือบริเวณนั้นไม่มีชุมชนหานาแน่นด้วย จึงยิ่งทำให้ไม่มีการบริการสาธารณะแทรกตัวเข้าไปหา
อย่างแสมดำยังไม่ลำบากเท่า เนื่องจากพื้นที่ด้านเหนือใกล้กับถนนพระราม2 เป็นหนึ่งในศูนย์กลางการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะด้านตะวันตกของเมือง แม้ว่าโซนนี้จะอยู่ห่างออกมาพอสมควร แต่ก็สามารถนั่งรถต่อไปยังท่ารถ ที่มีทั้งรถเมล์ รถตู้ สองแถว และอีกมากมายที่พาคุณไปได้ทุกที่
ส่วนทางตะวันออกของกรุงเทพฯ จุดอ่อนจะอยู่ตั้งแต่ ย่านคลองสามวา ไล่ขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่ใช่เพราะคนอยู่น้อยจนไม่ให้น้ำหนักไปกับการพัฒนาบริการสาธารณะเหมือนกับแสมดำนะครับ แต่มีสาเหตุมาจากโครงสร้างถนนของพื้นที่บริเวณนั้น ถ้ามองแผนที่จะพบว่า บริเวณคลองสามวาแทบไม่มีถนนขนาดใหญ่ๆ ข้ามไปทางเหนือก็ยังมีวงแหวนกาญจนา ทางใต้มีถนนรามอินทรา จุดเด่นของโซนนี้อยู่ที่การมีรถเมล์ รถตู้มากมายวิ่งไปทางมีนบุรี ขณะที่การเดินทางเพื่อเข้าถึงย่านคลองสามวาต้องมาทางถนนทั้ง 2 สายตามที่กล่าวว่า ซึ่งต้องต่อรถเจ้าถิ่นอย่างสองแถวที่รอให้บริการอยู่ในแถบนี้ทำให้ต้องใช้เวลาอีกพอสมควรในการเดินทาง
นี่แหละครับย่านที่คุณจะต้องพึ่งพาสองแข้งสองขาของคุณเองในการเดินทาง ทั้งที่ต้องเดินด้วยลำแข้งจริงๆ แต่ด้วยระยะทางคงจะไม่ไหว เปลี่ยนเป็นใช้ขามาเหยียบคันเร่งไปทำงานแล้วกันครับ ถ้าจะให้เพอร์เฟคก็ต้องหางานที่ทำจากบ้านได้เลย ฟรีแลนซ์ ทำงานทางไกล เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีก็ช่วยให้อะไร ๆ ง่ายขึ้น จะต้องลำบากเดินทางฝ่ารถติดเข้าเมืองทำไมล่ะครับ ถ้าได้นั่งทำงานที่บ้าน คอนโดติดรถไฟฟ้าก็ยังต้องหลบไห้เลย กับความคุ้มนี้
แม้จะยากอยู่สักหน่อยในการเดินทางเข้าพื้นที่ที่ได้กล่าวไปแต่ข้อดีแถบนี้ก็มีนะครับ คุณจะได้บ้านหรือทาวน์โฮมที่มีพื้นที่กว้างขว้างให้ลูกๆ ได้วิ่งเล่น ในราคาเฉลี่ย 2.9 ล้านบาท ด้วยขนาดพื้นที่กับราคาค่อนข้างลงตัวกับครอบครัวเล็กๆ เริ่มลงหลักปักฐาน งบซื้อบ้านไม่สูงมาก ทำเลก็ไม่ได้ขี้เหร่หากจะขับรถขึ้นทางด่วนเข้าเมืองไปเรียน ไปทำงาน
มองหาบ้านแบบไหน ทุกอย่างต้องชั่งน้ำหนักให้ดีเพื่อให้ได้บ้านที่ใช่และถูกใจสำหรับทุกคนในครอบครัว แล้วเจอกันกับบทความครั้งหน้าครับ