ความที่กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย ทำให้กรุงเทพฯ เป็นดั่งศูนย์กลางของสถาบันต่างๆ ทั้งการปกครอง การศึกษา การคมนาคม โดยเฉพาะเศรษฐกิจ คงหลีกเลี่ยงได้ยากที่ใครหลายคนจะเปรียบกรุงเทพฯ เป็นดั่งหัวใจหลักของประเทศ กระทั่งหน่วยงานต่างๆ ให้ความสำคัญในการป้องกันน้ำท่วมมากกว่าพื้นที่อื่น
อย่างไรก็ตาม อย่างที่เราเคยกล่าวไว้ในบทความที่แล้ว หากมองกรุงเทพฯ ในเชิงภูมิศาสตร์จะพบว่า กรุงเทพฯ เป็นดั่งพื้นที่รับน้ำที่ไหลมาจากทุกทิศทาง ฉะนั้นชะตากรรมกรุงเทพฯ จำต้องเผชิญหน้ากับมวลน้ำมหาศาลทุกปีเป็นเรื่องปกติ เราจึงมักได้ยินเสียงบ่นของมนุษย์กรุงเทพฯ ว่า “กี่ปีๆ น้ำก็ท่วมอยู่ดีนั่นแหละ”
ด้วยความสงสัยของศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) เราจึงไปสืบค้นข้อมูลเพื่อย้อนเวลากลับไปดูในระยะ 12 ปีที่ผ่านมาว่า แท้จริงแล้วมหานครกรุงเทพฯ เผชิญหน้ากับสภาวะน้ำท่วมมาแล้วกี่ครั้งกี่ครากันแน่? ก่อนที่ปี 2560 นี้ กรุงเทพฯ จะต้องเผชิญหน้ากับมันอีกครั้ง
(ตารางสรุปสภาวะน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครย้อนหลัง 12 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 – 2559)
จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) พบว่า สภาวะน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครย้อนหลัง 12 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 - 2559 กรุงเทพฯ จมน้ำเพียง 5 ปีเท่านั้น โดยมีการท่วมต่อเนื่อง 4 ปีคือช่วง พ.ศ. 2553 – 2556 และรุนแรงสุดในปี พ.ศ. 2554 โดยแบ่งการท่วมในแต่ละปีดังนี้...
(ภาพพื้นที่น้ำท่วมในกรุงเทพมหานครประจำปี พ.ศ. 2549)
ปี 2549
สภาวะน้ำท่วมปี 49 เริ่มจากเหตุการณ์ฝนตกผิดปกติในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างเป็นเวลาหลายวัน ทำให้ดินบนภูเขาไม่สามารถอุ้มน้ำฝนได้ ประกอบกับในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม ที่พายุช้างสารเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย ทำให้เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเกิดน้ำท่วมอย่างหนักเป็นบริเวณกว้าง
ขณะที่กรุงเทพฯ ต้องพบกับสภาวะฝนถล่มในขั้นวิกฤต วัดค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำฝนได้ถึง 80 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ตกหนักสุดในเขตบางซื่อซึ่งวัดได้ถึง 110.5 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่ระบบระบายน้ำท่วมของกรุงเทพฯ สามารถรองรับได้เพียง 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น เมื่อมวลน้ำเหนือไหลมาผสมโรงกับปริมาณน้ำฝน จึงไม่แปลกที่กรุงเทพฯ จะเกิดน้ำท่วมขังถึงขั้นวิกฤต โดยเฉพาะพื้นที่แอ่งกระทะรับน้ำบริเวณด้านตะวันออกได้รับผลกระทบหนักสุด
(ภาพพื้นที่น้ำท่วมในกรุงเทพมหานครประจำปี พ.ศ. 2553)
ปี 2553
สาเหตุน้ำท่วมปีนี้เกิดจากอิทธิพลของสภาพอากาศที่มีร่องมรสุมกำลังแรงจากปรากฏการณ์ลานีญาที่มาเร็วกว่าปกติ ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกชุกหนาแน่นจนเกิดน้ำท่วมเฉียบพลันและน้ำป่าไหลหลาก ประกอบกับน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณมากจนต้องเร่งระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา มวลน้ำมหาศาลจึงเอ่อล้นออกจากแม่น้ำเข้าท่วมหลายจังหวัดเป็นต้นมาไล่จนถึงกรุงเทพฯ แม้เขื่อนเจ้าพระยาจะพยายามปล่อยน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อชะลอน้ำไหลเข้ากรุงเทพฯ แต่สุดท้ายมวลน้ำก็ยังเดินทางมาถึงเราอยู่ดี โดยท่วมขังบริเวณแอ่งกระทะฝั่งตะวันออกเช่นเดิม คือ เขตหนองจอก ลาดกระบัง คลองสามวา มีนบุรี สายไหม สะพานสูง และคันนายาว ตามลำดับ
(ภาพพื้นที่น้ำท่วมในกรุงเทพมหานครประจำปี พ.ศ. 2554)
ปี 2554
นับเป็นปีที่สภาวะน้ำท่วมรุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี จนสื่อหลายๆ สำนักเรียกว่า ‘มหาอุทกภัย’ความรุนแรงครั้งนี้กินเวลาท่วมทั้งประเทศนานกว่า 6 เดือน เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมก่อนจะสิ้นสุดกลางเดือนมกราคม มีรายงานว่าราษฎรได้รับผลกระทบกว่า 12.8 ล้านคน ธนาคารโลกประเมินมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท และจัดให้เป็นภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่มีมูลค่าความเสียหายมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลกอีกด้วย ทั้งนี้สาเหตุน้ำท่วมหลักมาจากปัจจัยธรรมชาติที่ฝนที่มาเร็วกว่าปกติ และปริมาณฝนสะสมทั้งประเทศสูงกว่าค่าเฉลี่ย 35%
ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม สรุปรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครว่า เรามีพื้นที่ประสบภัยจำนวน 36 เขต จาก 50 เขต แต่ในความจริงตามข้อมูลของ GISTDA พบว่ากรุงเทพฯ ท่วมทุกเขต เพียงแต่มี 23 เขตที่ท่วมต่ำกว่า 20% ของพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ ‘ไข่แดง’ ย่านเศรษฐกิจ อาทิ เขตปทุมวัน, บางรัก, สาธร, ดินแดง, พญาไท ฯลฯ เพราะ กทม. และรัฐบาลพยายามปกป้องไว้อย่างสุดความสามารถ ระดมเครื่องสูบน้ำมาดักไว้ไม่ถึงพื้นที่เศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้สร้างความตื่นตัวให้กับคนทั้งประเทศในการตั้งคำถามต่อปัจจัยตัวใหม่อย่างการบริหารจัดการน้ำว่า แท้จริงแล้วปัญหาน้ำท่วมเกิดจากความไม่พร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน หรือความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกันแน่?
(ภาพพื้นที่น้ำท่วมในกรุงเทพมหานครประจำปี พ.ศ. 2555)
ปี 2555
จากความรุนแรงเมื่อปี 54 ทำให้รัฐบาลจริงจังในการบริหารจัดการน้ำมากขึ้น แต่ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้อย่างสภาพอากาศก็เป็นจุดเริ่มต้นของสภาวะน้ำท่วมในปีนี้
หน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมปี 2555 ว่า มีสาเหตุต่างจากปี 2554 ที่มีน้ำเหนือมหาศาลหลากลงมา เพราะปีนี้จะเกิดจากร่องมรสุมและพายุผิดปกติ ซึ่งทำให้ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก โดยเริ่มมีความชัดเจนช่วงปลายเดือนพฤษภาคมหลังกรมอุตุนิยมวิทยาออกแถลงการณ์ระบุถึงร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทย ทำให้ทั่วทุกภาคของประเทศมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักบางแห่ง เฉพาะในกรุงเทพมหานครก็มีฝนตกหนักต่อเนื่องเป็นเวลานาน ส่งผลให้มีน้ำท่วมขังทั้งหมด 16 จุด อาทิ เขตทวีวัฒนา, ดินแดง, บางพลัด และสามเสน ส่วนพื้นที่ฝั่งตะวันออกได้รับผลกระทบจากมวลน้ำเหนือมาผสมเล็กน้อย
(ภาพพื้นที่น้ำท่วมในกรุงเทพมหานครประจำปี พ.ศ. 2556)
ปี 2556
ยังคงเหมือนเดิมทุกประการ ปัจจัยหลักของสภาวะน้ำท่วมยังเป็นเรื่องของภูมิศาสตร์และภูมิอากาศในร่องมรสุม โดยปี 2556 นี้ประเทศไทยต้องเผชิญหน้ากับพายุโซนร้อนและพายุดีเปรสชันจำนวนมาก กระทั่งกรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศ "ฝนตกหนักบริเวณประเทศไทย" เพื่อให้เฝ้าระวังอันตรายจากฝนตกหนักที่จะเกิดขึ้น
มวลน้ำเหนือขนาดใหญ่บวกกับปริมาณน้ำฝนจำนวนมาก ทำให้ระดับในแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นสร้างความเสียหายหลายพื้นที่ในภาคกลางตอนล่างเป็นวงกว้าง เช่น สระแก้ว ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา หรือปทุมธานี ที่ต้องจมอยู่ใต้บาดาลเป็นเวลานาน ขณะที่ตัวเมืองชั้นในของกรุงเทพฯ รอดพ้น แต่เมืองชั้นนอกฝั่งตะวันออก ได้แก่ มีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง และคลองสามวา ซึ่งเป็นเขตแอ่งกระทะจนเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากเหมือนเดิม
(ภาพพื้นที่น้ำท่วมในกรุงเทพมหานครประจำปี พ.ศ. 2560)
ปี 2560
ครั้นสิ้นสุดฤดูฝนก็เข้าสู่ช่วงฤดูน้ำหลากประมาณเดือนตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคม จนถึงต้นปีถัดไป ช่วงเวลานี้แหละ ถือเป็นช่วงเวลาที่มนุษย์กรุงเทพฯ หวั่นใจต่อสภาวะน้ำท่วมเป็นอย่างมาก ยิ่งหากมีสภาพอากาศแปรปรวนก็ยิ่งระทึกใจทวีคูณ เพราะแค่ฝนตกถล่มคืนวันที่ 13 ตุลาคมคืนเดียว ก็ทำให้พระนครจมอยู่ใต้บาดาลกันแล้ว
ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในปีนี้ว่า เนื่องจากประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อนตาลัส เซินกา พายุไต้ฝุ่นทกซูรี และพายุดีเปรสชั่น ในทางสถิตินับว่ามีปริมาณน้ำฝนรวมสะสมใกล้เคียงกันกับปี 2554 (1,798 มิลลิเมตร) แต่รัฐบาลยืนยันว่า น้ำจะไม่ท่วมกรุงเทพฯ แน่นอน เพราะได้พยายามบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมตามช่วงเวลา และมีแผนการดูแลเยียวยาตามความเหมาะสมอย่างดีที่สุด
ณ วันนี้กรุงเทพฯ รับมือกับมวลน้ำได้ประมาณหนึ่งแล้ว แต่จังหวัดโดยรอบยังคงจมน้ำอยู่วันยังค่ำ
12 ปีที่ผ่านมา กรุงเทพฯ น้ำท่วมเพียง 5 ครั้ง ทว่าต่างจังหวัดกลับต้องเผชิญหน้ากับน้ำท่วม ‘ทุกปี’ นี่อาจสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำของกรุงเทพฯ ที่หน่วยงานต่างๆ ให้ความสำคัญมากกว่า คำถามทิ้งท้ายของเราคงไม่ใช่แค่ว่ากรุงเทพฯ จะท่วมอีกครั้งหรือไม่? แต่เราอยากตั้งคำถามถึงความใส่ใจของรัฐบาลในการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและเท่าเทียม มากกว่าการไล่ให้คนต่างจังหวัดในพื้นที่น้ำท่วมไปเปลี่ยนอาชีพเป็นทำการประมงนั่นเอง
ข้อมูลจาก
ชุดบทความ : เพราะเป็นคนกรุงเทพ จึงเจ็บปวด
โดย ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง
เรื่อง สหธร เพชรวิโรจน์ชัย นักจัดการองค์ความรู้
ที่มา goo.gl/Rju5TB