หลังจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินการให้สอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาล ด้วยการเร่งผลักดันลงทุนด้านการขนส่งทางรางเพื่อรองรับการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว
มีการเร่งรัดแผนการลงทุนโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย ระยะทาง 323 กิโลเมตร วงเงินกว่า 7.6 หมื่นล้านบาท เพื่อสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 2 จังหวัดเชียงราย คาดว่าจะเปิดประมูลหาผู้รับเหมาในปี 2560 และจะสามารถเปิดให้บริการเดินรถได้ภายในปี 2563
เริ่มจากสถานีรถไฟเด่นชัย จ.แพร่ไปยัง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ระยะทาง 326 กิโลเมตร จำนวน 26 สถานี ใช้งบประมาณกว่า 7.7 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้างราว 7.1 หมื่นล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดิน 3,808 ล้านบาท (ค่าเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 7,292 แปลง จำนวนพื้นที่ 9,661 ไร่) ในพื้นที่ 4 จังหวัด, 17 อำเภอ, 59 ตำบล ได้แก่
พื้นที่ อ.เด่นชัย, อ.สูงเม่น, อ.เมืองแพร่, อ.หนองม่วงไข่, อ.สอง จังหวัดแพร่ พื้นที่ อ.งาว จังหวัดลำปาง, พื้นที่ อ.เมืองพะเยา, อ.ดอกคำใต้, อ.ภูกามยาว จังหวัดพะเยา และ, พื้นที่ อ.ป่าแดด, อ.เทิง, อ.เมืองเชียงราย, อ.เวียงชัย, อ.เวียงเชียงรุ้ง, อ.ดอยหลวง, อ.เชียงแสน, อ.เชียงของ จังหวัดเชียงราย มีการก่อสร้างอุโมงค์ 3 แห่ง ในพื้นที่ อ.สอง จังหวัดแพร่ ความยาว 6.4 กิโลเมตร (ถือเป็นอุโมงค์ที่ยาวที่สุดในประเทศ) ในพื้นที่ อ.เมืองพะเยา ความยาว 2.8 กิโลเมตร และในพื้นที่ อ.ดอยหลวง จ.เชียงราย ความยาว 3.6 กิโลเมตร
นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ภาพประกอบ: http://www.thansettakij.com
ด้านนายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับจุดจอดสถานีรถไฟ ในพื้นที่ตัวเมืองของจังหวัดเชียงราย เชื่อว่าจะมีการพัฒนาด้าน อสังหาริมทรัพย์อย่างแน่นอน เพราะการคมนาคมมีความสะดวกสบาย ทำให้ในอนาคตโครงการหมู่บ้านจัดสรร, อาคารพาณิชย์ และการพัฒนาด้านต่างๆ ก็จะเข้าสู่พื้นที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นการขยายตัวของเมืองต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้จุดจอดสถานีพื้นที่อำเภอรอบนอก เช่น สถานีเวียงเชียงรุ้ง อ.เวียงเชียงรุ้ง สถานีบ้านเกึ๋ยง สถานีบ้านเขี๊ยะ อ.เชียงของ เป็นจุดที่มีสินค้าเกษตรกรรม เช่น ยางพารา และข้าวโพด ในพื้นนี้บริเวณนี้จะมีการพัฒนาของโกดังสินค้า เพื่อเป็นจุดที่เปลี่ยนถ่ายสินค้าของชุมชนที่ใช้การขนส่งทางรถไฟ
นายอนุรัตน์ อินทร
ด้านนายอนุรัตน์ อินทร ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย กล่าวว่าในจุดที่จะมีการสร้างสถานีรถไฟในจังหวัดเชียงรายนั้น จะมีการพัฒนาทั้งด้านการค้า-การลงทุนเพิ่มขึ้น เมื่อมีสถานีรถไฟก็จะเกิดชุมชนเพิ่มขึ้น การลงทุนด้านการค้า ร้านจำหน่ายอาหาร สินค้าท้องถิ่น รวมไปถึงอาคารที่พัก
สำหรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดเชียงราย ถือเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญในการเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการเดินทาง, การค้า และการลงทุนของภาคเหนือ ประกอบด้วย 21 ตำบล ใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเชียงของ อำเภอเชียงแสน และอำเภอแม่สาย มีชายแดนติดกับประเทศเมียนมา สปป.ลาว รวมทั้งเชื่อมต่อไปถึงมณฑลยูนนาน ประเทศจีนได้อีกด้วย
รฟท.ประเมินว่าการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ เด่นชัย-เชียงราย จะช่วยเพิ่มโอกาสการพัฒนาทางเศรษฐกิจในพื้นที่ได้ โดยคาดว่าภายในปี 2565 จะมีผู้โดยสารมากถึง 2 ล้านคนต่อปี และมีปริมาณขนส่งสินค้าได้สูงถึง 2.09 ล้านตันต่อปี
บทความแนะนำ