วิธีการทำบันไดไม้ไผ่ ด้วยตัวเองแบบง่ายเป็นอย่างไร วันนี้ Baania ขอนำทุกท่านมามาดูกัน ไม้ไผ่ วัสดุจากธรรมชาติ ชนิดไม้เนื้อแข็ง ลำต้นตรงยาว แข็งแรง มีน้ำหนักเบา ยืดหยุ่น และสามารถดัดงอได้ มีประโยชน์มากมายทั้งการนำมาทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ของเล่นสำหรับเด็ก หรือแม้กระทั่งใช้งานก่อสร้าง รวมไปถึงการปลูกไว้เพื่อประดับบ้าน
เริ่มกันที่การทำความรู้จักกับประเภทของไม้ไผ่ ที่นิยมนำมาใช้ในงานก่อสร้าง โดยใช้ในการทำฟาก เสาค้ำยัน แผ่นสานไม้ไผ่ ไม้ไผ่อัด หรือเฟอร์นิเจอร์ ได้แก่ ไผ่ป่า ไผ่สีสุก ไผ่เลี้ยง ไผ่ตง ไผ่บงใหญ่ ไผ่เป๊าะ ไผ่หก ไผ่ซาง ไผ่ซางนวล ไผ่ซางหม่น ไผ่ไร่ ไผ่ข้าวหลาม และไผ่เอี๊ยะ
สำหรับลักษณะไผ่ที่เหมาะสมในการนำมาก่อสร้าง คือ ไผ่มีอายุในช่วง 3-6 ปี ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 70 เซนติเมตร ความยาวระหว่างข้ออยู่ในช่วง 300 - 600 มิลลิเมตร ความหนาของปล้องอย่างน้อย 8 มิลลิเมตร ลักษณะรูปทรง และผิวภายนอกที่ควรตรวจสอบ คือ ความเรียวของลำไม้ไผ่ และสภาพผิวภายนอกเสียหาย หรือมีรูแมลงเจาะลึกหรือไม่ (Janssen J.A. Jules, 2000; BNBC, 2012; INBC, 2016)
มาต่อกันที่เครื่องมือ และอุปกรณ์สำหรับใช้ทำบันได โดยขอจำแนกออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
จะเห็นได้ว่าวัสดุนั้นสามารถหาได้ตามท้องถิ่น เพราะไผ่มักจะปลูกไว้ตามบ้านเรือนต่าง ๆ สำหรับเครื่องมือก็สามารถหาได้ง่าย ๆ ตามท้องตลาด หรือร้านค้าใกล้บ้านของท่าน ถือว่าค่อนข้างสะดวก และประหยัดงบประมาณ
สำหรับวิธีการทำบันไดไม้ไผ่ ก็ไม่ยุ่งยาก หรือซับซ้อน โดยมีวิธีการทำบันไดไม้ไผ่ ดังนี้
1. ตัดไม้ไผ่ซาง 2 ลำ นำไผ่ซางมาเป็นแม่บันได โดยวัดจากฐาน 40 เซนติเมตร จากนั้นวัดทุกระยะ 40 หรือ 35 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม แล้ววัดต่ออีก 40 เซนติเมตร เพื่อเป็นปลายบันได จากนั้นให้นำเลื่อยมาตัดส่วนที่เหลือออก
2. ตัดไผ่รวก หรือไผ่อื่นๆ ขนาดประมาณ 1 ¼ หรือ 1 ½ ความยาว 45 เซนติเมตร ตามจำนวนขั้นบันได หรือสำหรับท่านที่ต้องการฐานกว้างปลายแคบ ก็สามารถตัดแต่ละขั้นลดลง 0.5 เซนติเมตรก็ได้
3. ทำการจัดแม่บันไดให้ส่วนโก่งเข้าหากัน หรือหันออกจากกันให้อยู่ในระนาบบันได
4. เจาะลูกบันไดด้วยสว่านถ้วย หรือสิ่ว โดยทำการหมุนแม่บันไดมาเจาะแนวระนาบ ขนาดรูเท่ากับลูกบันได กรณีที่ใส่ไม่เข้า ให้เหล่าลูกบันได และทดลองใส่อีกครั้ง
5. ทำลูกบันได โดยทำการขีดระยะที่ลูกบันไดจะฝังลึกลงไป และอยู่ที่ตำแหน่งใด จากนั้นให้ทำการทาบตะปูแบบเฉียงให้ปลายตะปูโผล่มาเล็กน้อย ทำเครื่องหมายตำแหน่งการเข้า-ออกของตะปู
6. ใช้สว่านเจาะ และตอกตะปูลงให้ตรงตามเครื่องหมายที่ขีดไว้ จากนั้นให้นำลูกบันไดมาประกอบเข้ากับแม่บันได โดยใช้ค้อนเคาะเล็กน้อย
7. ถ้าบันไดโก่งให้ใช้แคลมป์อัด หรือนำลวด หรือเชือกมาผูกมัดแล้วขันชะเนาะ
เป็นอย่างไรกันบ้างกับ วิธีการทำบันไดไม้ไผ่ด้วยตนเอง อุปกรณ์ที่ต้องจัดเตรียมก็หาได้โดยทั่วไป ทุกท่านสามารถลองนำขั้นตอนเหล่านี้ไปประยุกต์ทำเองได้ที่บ้าน
มาถึงหัวข้อสุดท้าย ในการดูแลรักษาให้ไม้ไผ่มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน กับ 4 วิธีในการดูแลรักษาบันไดไม้ไผ่ที่คุณควรรู้
1. ควรเก็บบันไดไว้ในที่ร่ม ไม่ควรนำไปวางไว้กลางแดด เนื่องจากความร้อนจากแสงแดดทำให้ไม้ไผ่แตก หรือนำไปตากฝน เพราะจะทำให้ไม้เปื่อย และผุพังได้ง่าย
2. ไม่วางบันไดไว้บนพื้นดินโดยตรง เนื่องจากเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของมอด หรือปลวก มากัดกินเนื้อไม้
3. ทาน้ำยากันมอด หรือเชื้อรา โดยทาเดือนละ1 - 2 ครั้ง หลังจากทาน้ำยาควรนำไปผึ่งแดดให้แห้ง และนำกลับมาเก็บไว้ในที่ร่ม
4. ตรวจสอบก่อนนำไปใช้งาน ให้ท่านตรวจสอบความแข็งแรง และสังเกตว่ามีรอยร้าว หรือรอยแตก รวมถึงตะปูนั้นโผล่มาจากเนื้อไม้หรือไม่ เพราะอาจจะทิ่มแทง และก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้งานได้
วิธีการบำรุงรักษาบันไดไม้ไผ่ถือว่าไม่ได้มีความยุ่งยากแต่อย่างใด แต่สิ่งสำคัญคือการหมั่นสังเกต การนำไปเก็บรักษา รวมถึงการตรวจสอบก่อนใช้งาน เพราะความปลอดภัยถือเป็นหัวใจหลักของผู้ปฏิบัติงาน
สำหรับวิธีทำบันไดไม้ไผ่ด้วยตนเอง ก็ได้จบลงไปแล้ว เป็นอย่างไรกันบ้าง หวังว่าข้อมูลที่ Baania ได้รวบรวมมาฝากแก่คุณผู้อ่านคงจะถูกใจ และสามารถนำไปปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ที่สำคัญ! อย่าลืมใส่ใจรายละเอียดเรื่องความปลอดภัย ให้ได้ทั้งบันไดที่ดี และมีคุณภาพพร้อมใช้งาน
ที่มาภาพประกอบ :