การพัฒนาเมืองเชียงใหม่กระทั่งกลายเป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ นอกจากมีภาครัฐที่กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองแล้ว ภาคเอกชนถือเป็นส่วนหนึ่งที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและผลักดันเมืองให้เติบโต HBG ฉบับนี้ได้พูดคุยกับ “คุณณรงค์ ตนานุวัฒน์” ประธานกิตติมศักดิ์ หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ถึงสภาวะเศรษฐกิจและทิศทางการลงทุนของจังหวัดเชียงใหม่
ภาวะเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนในจังหวัดเชียงใหม่ปี 2557 และแนวโน้มปี 2558 เป็นอย่างไร
เศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ปี 2557ชะลอตัว สาเหตุจากสถานการณ์ทางการเมืองที่กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ ส่งผลให้การบริโภคของประชาชนลดลง หลังจากปี 2556 มีนโยบายภาครัฐออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ รถคันแรกทำให้ปี 2557 ผู้บริโภคมีหนี้สินครัวเรือนและหนี้สินส่วนบุคคลมากขึ้น ประกอบกับธนาคารเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ประชาชนมีความระมัดระวังในการจับจ่ายมากขึ้น
การใช้จ่ายของภาครัฐยังเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการหนุนเศรษฐกิจของจังหวัด มีงบประมาณการพัฒนาโครงการก่อสร้างพื้นฐานปีละไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีหลายโครงการที่รออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี อาทิ โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 118 อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่-อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย, โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 11 แยกดอยติ จังหวัดลำพูน-แยกสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่, โครงการก่อสร้างสะพานยกระดับข้ามแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข 11 ตัดทางหลวงหมายเลข 121(แยกแม่โจ้), โครงการรถไฟรางคู่, โครงการก่อสร้างสนามบินนานาชาติเชียงใหม่แห่งที่ 2 เป็นต้น ซึ่งโครงการเหล่านี้นับเป็นแม่เหล็กดึงดูดผู้คนและการลงทุนเข้ามาสู่จังหวัด
ด้านการส่งออกยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยเฉพาะสินค้าเกษตรแปรรูปจากพื้นที่สูง กลุ่มหัตถกรรม ของฝากสิ่งทอ ไม้แกะสลัก นอกจากนั้นยังมีกลุ่มสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ลำไย ยางพารา ราคาต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง กลุ่มเกษตรอินทรีย์ออร์แกนิคพืชผลเมืองหนาวยังเป็นที่ต้องการของตลาด ด้านนิคมอุตสาหกรรมเริ่มมีการย้ายฐานการผลิตไปที่เวียดนามมากขึ้น เนื่องจากเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมาก ค่าแรงต่ำ โอกาสการลงทุนและเติบโตใน AEC สูง
ส่วนการท่องเที่ยวแนวโน้มทรงตัวหลังจากวิกฤติทางการเมือง นักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะกลุ่มยุโรปลดลงจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปี 2557 คาดว่าต่อเนื่องมาถึงปี 2558 โดยเฉพาะการลงทุนของภาคเอกชน โครงการที่มีศักยภาพและความพร้อมจะสามารถดำเนินต่อไปได้ ซึ่งในระยะนี้นักลงทุนยังคงรอดูสถานการณ์ของประเทศประกอบการตัดสินใจ
แนวโน้มของภาคอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดเชียงใหม่เป็นอย่างไร
การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดเชียงใหม่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจากปัจจัยหลายด้าน อาทิ ปัญหาอุทกภัยปี 2554 ทำให้พื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางได้รับผลกระทบ ผู้คนจึงให้ความสนใจซื้อบ้านหลังที่สองในจังหวัดทางภาคเหนือโดยเฉพาะเชียงใหม่ เนื่องจากเป็นจังหวัดหัวเมืองใหญ่ที่มีศักยภาพหลายด้าน
คุณณรงค์ ตนานุวัฒน์ ประธานกิตติมศักดิ์ หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่
จังหวัดเชียงใหม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี อาทิ มีการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ที่สมบูรณ์ทั้งการคมนาคมขนส่งทางบกหรือทางอากาศ มีหลายสายการบินเชื่อมต่อไปยังนานาประเทศ ทำให้ผู้คนเดินทางเข้ามายังจังหวัดได้อย่างสะดวกรวดเร็ว มีการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดมากที่สุดในประเทศไทย เป็นต้น อีกทั้งเป็นเมืองท่องเที่ยวที่น่าสนใจดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคนต่อปี
อีกปัจจัยหนึ่งคือ พ.ร.บ.ผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ที่ถูกเว้นช่วงไปก่อนประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 21พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนเร่งขออนุญาตก่อสร้างเป็นจำนวนมาก ทั้งบ้านจัดสรร, คอนโดมิเนียม, ห้างสรรพสินค้า, ร้านวัสดุก่อสร้าง, คอมมูนิตี้มอลล์ ส่งผลให้ปัจจุบันจำนวนของสิ่งปลูกสร้างโดยเฉพาะโครงการที่พักอาศัยเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก ซึ่งเป็นการซื้อเพื่อเก็งกำไรจำนวนหนึ่ง จึงทำให้การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในปี 2557 ชะลอตัว
ทั้งนี้แนวโน้มการลงทุนในจังหวัดเชียงใหม่ปี 2558 คาดว่าหากสถานการณ์ทางการเมืองเป็นปกติและเศรษฐกิจดีขึ้น การลงทุนจะกลับมาสดใสอีกครั้ง โดยเฉพาะการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์คาดว่าจะมีอยู่อย่างต่อเนื่องแต่อาจไม่คึกคักมากนัก ซึ่งภาคเอกชนยังหวังว่าเศรษฐกิจของประเทศจะกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้ง
ทิศทางการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ได้นั้นจะต้องมีการค้าชายแดนที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านได้ ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่มีสินค้าที่สำคัญอยู่ 6 หมวด ได้แก่ ด้านการเกษตร, ด้านครีเอทีฟซิตี้ เช่น หัตถกรรมและไอที, ด้านสุขภาพ การแพทย์ สมุนไพร, ด้านการท่องเที่ยว, ด้านการศึกษา หากเชื่อมกับ AEC จะมีกลุ่มนักศึกษาในประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเรียนในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นอีกปัจจัยที่กระตุ้นให้เศรษฐกิจเชียงใหม่เติบโตได้
ด้านการค้าชายแดน จังหวัดเชียงใหม่มีศักยภาพด้านการค้าชายแดนไม่แพ้ด่านชายแดนอื่น โดยเฉพาะการเชื่อมกับพม่าตอนบน ในจังหวัดภาคเหนือตอนบนจะมีจุดผ่อนปรนห้วยต้นนุ่น จังหวัดแม่ฮ่องสอนที่เชื่อมไปยังเมืองเนปยีดอ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาและบังกลาเทศได้
ส่วนในจังหวัดเชียงใหม่บริเวณช่องหลักแต่ง บ้านหลักแต่ง อำเภอเวียงแหง สามารถเชื่อมไปยังเมืองตองยีและมัณฑะเลย์ประมาณ 300 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา อีกทั้งสามารถเชื่อมไปยังประเทศจีนตอนใต้และกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ได้อีกด้วย
สำหรับอสังหาริมทรัพย์ก็จะขยายตัวตามเศรษฐกิจ เนื่องจากมีกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่มากขึ้น ทั้งนักลงทุน แรงงาน นักศึกษา นักท่องเที่ยว ทำให้เกิดความต้องการด้านที่พักอาศัยและพื้นที่การลงทุนเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ภาคเอกชนได้ผลักดันให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ เนื่องจาก 6 ปีที่ผ่านมามีการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานตามยุทธศาสตร์ของจังหวัด ทั้งการขยายถนนวงแหวนรอบที่ 1-3 และจำเป็นต้องขยายวงแหวนรอบที่ 4 เพิ่ม แต่ผังเมืองรวมที่มีการประกาศใช้กลับเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาในปัจจุบัน โดยคณะกรรมการผังเมืองได้ทำการแก้ไขและรอประกาศบังคับใช้
ปัจจุบันเชียงใหม่เป็นเมืองที่น่าอยู่อาศัย มีชื่อเสียงด้านการลงทุนและการท่องเที่ยวของโลก จึงเป็นที่สนใจของนักลงทุน เมื่อยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองเปลี่ยนแปลงไป ชาวเชียงใหม่จึงต้องมาร่วมกันกำหนดทิศทางไปพร้อมกับการอนุรักษ์เมือง ให้สอดรับกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนที่จะหลั่งไหลเข้ามาในอนาคตต่อไป