Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

อะไรคือผู้จัดการมรดก? สำคัญยังไง?

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

หลายคนคุ้นเคยกับคำว่าผู้จัดการมรดก บางคนอาจจะเข้าใจความหมาย หรือไม่เข้าใจความหมายก็ดี แต่ผู้จัดการมรดกนั้นถือว่าเป็นคนสำคัญที่จะช่วยจัดการเรื่องต่างๆ ภายหลังจากที่เกิดการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักภายในครอบครัว โดยเฉพาะเมื่อผู้ล่วงลับนั้นไม่ได้จัดการสิ่งต่างๆ ไว้ให้ผู้ที่ยังอยู่ สำหรับบทความนี้จะมาอธิบายถึงความสำคัญของผู้จัดการมรดกว่ามีความจำเป็นอย่างไร ทำไมถึงต้องมีผู้จัดการมรดก และการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกสามารถทำได้อย่างไร 

ความหมายของคำว่ามรดก

ความหมายของคำว่ามรดกนั้นไม่ได้หมายถึงทรัพย์สิน เงินทอง ของมีค่า ซึ่งผู้ตายเหลือไว้ให้ทายาทเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงความรับผิดชอบต่างๆ ที่ผู้ตายได้ทำขึ้นก่อนเสียชีวิตอีกด้วย ซึ่งความรับผิดชอบนั้นยังหมายถึง หนี้สิน ภาระผู้พันทางการเงินต่างๆ ที่ยังคงมีผลอยู่เนื่องจากผู้ตายยังไม่ได้จัดการให้หมดสิ้นก่อนที่จะเสียชีวิตนั่นเอง นั่นหมายความว่ามรดกนั้นคือทุกสิ่งของผู้ตายไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน หรือหนี้สินนั่นเอง 

มรดก

ทายาทคนใดที่มีสิทธิได้มรดกบ้าง

ตามกฎหมายของประเทศไทยนั้นทายาทโดยชอบธรรมตามกฎหมายจะมีด้วยกัน 6 ลำดับ โดยความสำคัญของทายาทก็จะเรียกลำดับดังนี้ (1) ผู้สืบสันดาน หรือบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว และบุตรบุญธรรม. (2) บิดา - มารดา ในกรณีของบิดา เฉพาะบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นที่มีสิทธิรับมรดก (3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน (4) พี่น้องร่วมแต่บิดาหรือมารดาเดียวกัน (5) ปู่ ย่า ตา ยาย (6) ลุง ป้า น้า อา 
ในส่วนของสามีภรรยานั้นต้องเป็นการจดทะเบียนสมรสโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นจึงจะมีสิทธิเป็นผู้รับมรดก โดยมีลำดับเท่ากับทายาทโดยธรรมอย่างเช่นบุตรตามกฎหมายนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีทายาทโดยพินัยกรรม นั่นคือเป็นผู้ที่มีสิทธิได้รับมรดกนั้นโดยที่ผู้ตายได้กำหนดไว้ในพินัยกรรม ซึ่งทายาทโดยพินัยกรรมจะเป็นผู้ใดก็ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นทายาทโดยธรรม 

ทายาท

ผู้จัดการมรดกคืออะไร?

ผู้จัดการมรดกนั้นมีความหมายตรงตามชื่อเรียก คือผู้ที่มีอำนาจในการจัดการกับมรดกต่างๆ ที่ผู้เสียชีวิตมีอยู่ก่อนที่จะเสียชีวิต ซึ่งมรดกนั้นๆ ยังไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ หรือมอบให้กับทายาท ทำให้การจัดการทรัพย์สิน หรือการโอนกรรมสิทธิ์ต่างๆ ต้องทำโดยผู้จัดการมรดก ซึ่งการโอนทรัพย์สินต่างๆ ให้กับทายาทนั้นผู้จัดการมรดกจะดำเนินการตามพินัยกรรมของผู้เสียชีวิต หรือดำเนินการตามความถูกต้อง และเหมาะสมในด้านต่างๆ นั่นเอง 
นอกจากจัดการแบ่ง และโอนทรัพย์สินต่างๆ ให้กับทายาทแล้ว ผู้จัดการมรดกยังต้องเป็นผู้ที่จัดการกับหนี้สิน หรือภาระผูกพันทางการเงินต่างๆ ของผู้เสียชีวิตให้เรียบร้อยอีกด้วย ซึ่งหนี้สินนั้นผู้จัดการมรดกจะชำระให้หมดในทันทีโดยใช้เงินมรดกที่มีอยู่ หรือมอบให้ทายาทเป็นผู้รับช่วงต่อหนี้สินก็ได้ ส่วนหนี้สินที่มีผู้อื่นติดค้างผู้เสียชีวิตนั้นผู้จัดการมรดกก็ต้องเป็นคนจัดการให้หนี้สินเหล่านั้นได้รับการชำระคืนมาอย่างต่อเนื่อง หรือโอนลูกหนี้นั้นไปให้แก่ทายาท 

ผู้จัดการมรดกคือ

จะเป็นผู้จัดการมรดกได้อย่างไร?

การที่จะเป็นผู้จัดการมรดกได้นั้นต้องถูกแต่งตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมของผู้เสียชีวิต ที่มีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่าจะให้ผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดก ซึ่งการเป็นผู้จัดการมรดกนั้นจะเป็นทายาท หรือไม่ได้เป็นก็ได้ แล้วแต่เจตจำนงของผู้เสียชีวิต โดยที่ทายาทจะเป็นผู้ร้องต่อศาลขอให้บุคคลตามที่ผู้เสียชีวิตระบุไว้ในพินัยกรรมได้เป็นผู้จัดการมรดก แต่ในบางกรณีถ้าศาลเห็นว่าผู้ที่มีชื่ออยู่ในพินัยกรรมไม่มีความเหมาะสม และมีผู้ยื่นคัดค้าน ศาลอาจจะแต่งตั้งให้ผู้อื่นเป็นผู้จัดการมรดกแทนก็ได้ 
ถ้าเป็นกรณีที่ไม่ได้มีการระบุตัวผู้จัดการมรดกไว้ในพินัยกรรม ทางทายาทจะเป็นผู้ยื่นเรื่องขอให้บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือเห็นว่าเหมาะสมขึ้นเป็นผู้จัดการมรดกได้ ซึ่งอาจจะเป็นตัวทายาทเอง หรือบุคคลอื่นๆ ซึ่งศาลจะเป็นผู้พิจารณาในเรื่องความถูกต้อง และเหมาะสมต่อไป แต่ในความเป็นจริงแล้วถ้าศาลเห็นว่าผู้ที่มีชื่ออยู่ในพินัยกรรมไม่มีความเหมาะสม และมีผู้ยื่นคัดค้าน ศาลอาจจะแต่งตั้งให้ผู้อื่นเป็นผู้จัดการมรดกแทนก็ได้ 

เป็นผู้จัดการมรดก

ขั้นตอนในการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกต้องทำอย่างไร?

ขั้นตอนในการแต่ตั้งผู้จัดการมรดกนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนจำเป็นต้องรู้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวพันกับกฎหมายโดยตรง และเมื่อมีผู้จัดการมรดกแล้วจะช่วยให้การจัดการมรดกต่างๆ ของผู้ตายทำได้อย่างสะดวกขึ้นนั่นเอง ซึ่งขั้นตอนในการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกมีดังนี้ 

  • ยื่นคำร้องโดยผู้มีสิทธิ การยื่นขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกต่อศาลนั้นไม่ใช่ว่าใครก็จะสามารถทำได้ การยื่นขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกต้องยื่นโดยผู้มีสิทธิอันชอบธรรมเท่านั้น ซึ่งได้แก่ ทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิได้รับมรดกจริงๆ หรือผู้รับพินัยกรรม, ผู้มีส่วนได้เสียในมรดก อย่างเช่นภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส, หรือถ้าในบางกรณีที่ผู้ตายไม่มีทายาทเจ้าพนักงานอัยการก็สามารถยื่นคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกได้ 
  • ผู้จัดการมรดกคุณสมบัติต้องครบถ้วน การเลือกผู้หนึ่งผู้ใดให้เป็นผู้จัดการมรดกนั้นทางผู้ยื่นคำร้องต้องพิจารณาก่อนว่าบุคคลผู้นั้นมีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ ซึ่งคุณสมบัติของผู้จัดการมรดกได้แก่ ต้องมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ ต้องไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือบุคคลเสมือนไร้ความสามารถ ต้องไม่เป็นบุคคลคนล้มละลาย ถ้ามีคุณสมบัติครบถ้วนตาม 3 ข้อนี้ก็สามารถถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกได้ 
  • เตรียมเอกสารต่างๆ ให้พร้อม เอกสารที่ใช้สำหรับการยื่นเพื่อขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกนั้นมีค่อนข้างมาก และมีรายละเอียดที่เยอะ เอกสารที่จำเป็นต้องใช้ในการยื่นแต่งตั้งผู้จัดการมรดกได้แก่ เอกสารแสดงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ยื่นคำร้องกับผู้เสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็น สูติบัตร ทะเบียนสมรส ทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชน, มรณะบัตร, เอกสารเกี่ยวกับทรัพย์สินมรดกทั้งหมด, บัญชีเครือญาติ, หนังสือยินยอมจากทายาทว่ายินยอมให้บุคคลที่เสนอชื่อนั้นสามารถเป็นผู้จัดการมรดกได้, พินัยกรรม(ถ้ามี), หนังสือแสดงการเปลี่ยนชื่อ – สกุล(ถ้ามี) 
    จะเห็นได้ว่าเอกสารต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้นั้นมีมากมาย และมีความเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นๆ เป็นจำนวนมาก ดังนั้นการยื่นคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกจึงควรมีทนาย หรือผู้ที่มีความรู้ในด้านกฎหมายเป็นผู้ให้คำปรึกษา โดยจะจ้างทนายด้วยตัวเอง หรือไปขอคำปรึกษาที่ศาลก่อนที่จะไปยื่นคำร้อง ซึ่งศาลจะมีทนายอาสา หรือทนายฝึกหัดคอยให้ความช่วยเหลือ 
  • เตรียมค่าธรรมเนียม การยื่นแต่งตั้งผู้จัดการมรดกนั้นจะมีการเสียค่าธรรมเนียมต่างๆ ตามที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งค่าธรรมเนียมนั้นจะมี ค่าธรรมเนียมศาล 200 บาท ค่าประกาศหนังสือพิมพ์ 500 บาท ค่าปิดประกาศแจ้ง ณ ภูมิลำเนาของผู้ตาย 300 – 700 บาท 
  • เตรียมตัวไต่สวนคำร้อง เมื่อยื่นคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกเรียบร้อยแล้ว ศาลจะเว้นระยะเวลาไปประมาณ 2 เดือนจึงจะเริ่มไต่สวน ซึ่งช่วงเวลานั้นศาลจะเว้นไว้ให้ทายาทโดยธรรมคนอื่นๆ ได้รับรู้ว่ามีการขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดก ถ้ามีผู้ไม่เห็นด้วยก็ให้มายื่นคัดค้านก่อนวันนัดไต่สวนคำร้อง หรือในวันที่ศาลนัดไต่สวนคำร้อง 
    ซึ่งเมื่อถึงวันไต่สวนคำร้องแล้วไม่มีผู้คัดค้าน เอกสารต่างๆ มีความครบถ้วน ศาลก็จะสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดกตามที่มีผู้ยื่นคำร้องมาภายในวันนั้นเลย และภายหลังที่ศาลสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดกเป็นเวลา 1 เดือน ผู้ยื่นคำร้องจะสามารถคัดสำเนาคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดก พร้อมกับรับหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด เพื่อที่จะให้ผู้จัดการมรดกสามารถจัดการได้เต็มที่ตามกฎหมาย เพราะถ้าไม่มีหนังสือทั้ง 2 อย่างนี้ผู้จัดการมรดกจะยังไม่มีอำนาจใดๆ นั่นเอง 

แต่งตั้งผู้จัดการมรดก

หน้าที่ของผู้จัดการมรดกมีอะไรบ้าง?

หน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้นถ้ามองกว้างๆ ก็คือมีหน้าที่จัดการมรดกทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน หรือหนี้สินให้กับทายาทของผู้เสียชีวิต แต่ในความเป็นจริงแล้วหน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้นมีรายละเอียดปลีกย่อยลงไปอีกมากพอสมควร ซึ่งหน้าที่ต่างๆ ของผู้จัดการมรดกมีดังนี้ 

  • จัดทำบัญชีทรัพย์มรดก ผู้จัดการมรดกต้องจัดการทำบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินที่เป็นทรัพย์มรดกของผู้เสียชีวิตให้เรียบร้อยภายใน 15 วัน และต้องเรียบร้อยภายใน 1 เดือน นับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งแต่งตั้ง แต่ถ้ายังไม่เรียบร้อยก็สามารถขยายเวลาออกไปได้ และต้องมีพยานรับรองที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกนั้นเป็นผู้รับรอง 2 คน 
  • จัดการแบ่งทรัพย์ให้ทายาท ผู้จัดการมรดกต้องจัดการทำบัญชีการแบ่งทรัพย์สินต่างๆ และจัดสรรมรดกทั้งหมดให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกภายใน 1 ปี โดยการจัดสรรมรดกนั้นต้องเป็นการจัดสรรอย่างเหมาะสม ยุติธรรม โดยที่ผู้จัดการมรดกจะไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จใดๆ จากกองมรดกนั้น นอกเสียจากเป็นการทำตามพินัยกรรม หรือทายาทเสียงข้างมากในกองมรดกนั้นอนุญาต 
    นอกจากนี้ผู้จัดการมรดกยังต้องติดตามหาทายาทที่มีส่วนได้เสียในกองมรดกนั้นที่ยังไม่แสดงตัวให้พบเพื่อจัดการแบ่งทรัพย์สินให้เรียบร้อยอีกด้วย ซึ่งการจัดการทั้งหมดนั้นผู้จัดการมรดกต้องเป็นผู้จัดการด้วยตัวเอง 

หน้าที่

ผู้จัดการมรดกจะสิ้นสุดหน้าที่เมื่อไหร่?

การที่ผู้จัดการมรดกนั้นจะสิ้นสุดหน้าที่ลงได้ต่อเมื่อเป็นไปเงื่อนไขต่างๆ ดังนี้ 

  • เสียชีวิต ถ้าการจัดการมรดกยังไม่เสร็จสมบูรณ์แต่ผู้จัดการมรดกเสียชีวิตก่อน ทายาทต้องยื่นคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกคนใหม่ 
  • ลาออก ซึ่งการลาออกของผู้จัดการมรดกนั้นต้องได้รับการอนุญาตจากศาล และถ้ามีความผิดพลาดที่ก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ ต่อทรัพย์ในกองมรดกผู้จัดการมรดกต้องเป็นผู้ชดใช้ 
  • ถูกคำสั่งศาลถอดถอน ในกรณีนี้คือผู้จัดการมรดกไม่สามารถจัดการมรดกให้เป็นไปตามเจตนาของผู้เสียชีวิต หรือไม่สามารถจัดการกองมรดกนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อมีผู้ร้องต่อศาล ศาลอาจจะพิจารณาให้ถอดถอนผู้จัดการมรดกออก และตั้งผู้จัดการมรดกคนใหม่ 
  • เกิดคุณสมบัติต้องห้าม ถ้าผู้จัดการมรดกเกิดมีคุณสมบัติต้องห้ามระหว่างที่ทำหน้าที่ ความเป็นผู้จัดการมรดกถือว่าเป็นอันจบสิ้น ทายาทต้องยื่นคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกคนใหม่ ซึ่งคุณสมบัติต้องห้ามนั้นได้แก่ เป็นบุคคลล้มละลาย เป็นบุคคลวิกลจริต เป็นบุคคลเสมือนไร้ความสามารถ 
  • การจัดการมรดกนั้นเสร็จสิ้น เมื่อจัดการมรดกเสร็จสิ้นโดยที่ทายาททั้งหมดพึงพอใจ และไม่มีข้อโต้แย้งความเป็นผู้จัดการมรดกก็จะถือว่าจบสิ้นไปด้วย  

ผู้จัดการมรดกจะสิ้นสุดหน้าที่

จะเห็นได้ว่าผู้จัดการมรดกนั้นเป็นหน้าที่ซึ่งมีความสำคัญมากในการจัดการทรัพย์มรดกต่างๆ ให้เรียบร้อยตามเจตนาของผู้เสียชีวิต เพราะในการแบ่งทรัพย์สินนั้นผู้จัดการมรดกจะมีอำนาจในนิติกรรมต่างๆ ได้เสมือนผู้ตายได้ทำด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการลงนามโอนทรัพย์สินต่างๆ ที่เป็นชื่อของผู้ตาย รวมไปถึงการจัดการกับบัญชีเงินฝาก กองทุน พันธบัตร ของผู้ตาย ซึ่งถ้าไม่มีผู้จัดการมรดกทรัพย์สินเหล่านี้จะไม่สามารถโอนเปลี่ยนมือได้เลย 

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร