Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

อิฐมวลเบาทางเลือกของบ้านประหยัดพลังงาน

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

วัสดุก่อสร้างประเภทอิฐมวลเบาถือเป็นสิ่งที่กำลังได้รับความนิยมมากในยุคนี้ ตอบโจทย์เรื่องความรวดเร็วในการก่อสร้างเพราะน้ำหนักเบา อีกทั้งยังราคาประหยัด จึงช่วยให้บ้านของคุณเสร็จได้ในระยะเวลาอันสั้น และอยู่ภายใต้งบประมาณที่วางเอาไว้อย่างพอดี หรืออาจจะมีงบเหลือไว้ทำส่วนอื่นของบ้านต่อ อย่างไรก็ตามบทความนี้อยากพาไปทำความรู้จักกับวัสดุประเภทดังกล่าวให้มากขึ้น เพื่อการสร้างบ้านประหยัดพลังงานและความคุ้มค่าด้านอื่นๆ

1. อิฐมวลเบาคืออะไร?

อิฐมวลเบา ชื่ออย่างเป็นทางการอีกอย่างคือ คอนกรีตมวลเบา ผลิตขึ้นด้วยส่วนประกอบหลายชนิดผสมรวมกันไม่ว่าจะเป็นปูนซีเมนต์ ผงอะลูมิเนียม ยิปซัม ปูนขาว ทรายบดละเอียด และน้ำ เมื่อส่วนผสมต่างๆ รวมกันจนกลายเป็นน้ำที่เกิดปฏิกิริยาทางเคมี ก็จะมีฟองอากาศขนาดเล็กแผ่กระจายในระดับเท่าๆ กันแต่ไม่มีความเชื่อมโยง ส่งผลให้อิฐมวลเบามีน้ำหนักเบาสมชื่อ พร้อมทั้งยังกันความร้อนไม่ให้เข้าไปถึงอีกด้านหนึ่งได้เป็นอย่างดี และเมื่อผ่านขั้นตอนดังกล่าวเรียบร้อย จะต้องทิ้งระยะเวลาไว้เพื่อให้ส่วนผสมเกิดการจับตัว แล้วจึงมีการตัดแบ่งตามขนาดที่เหมาะสม นำไปผ่านระบบไอน้ำที่มีแรงดันและอุณหภูมิสูง โดยขั้นตอนการอบนี้ใช้เวลานานระดับหนึ่งจนกว่าจะเห็นว่า อิฐมวลเบาที่ได้มีความแข็งแรงทนทานและตกผลึกจนสามารถนำไปใช้งานก่อสร้างได้

อิฐมวลเบา

2. อิฐมวลเบาต่างกับอิฐชนิดอื่นๆ อย่างไร?

เข้าใจความหมายของอิฐมวลเบากันไปแล้ว แต่เชื่อว่ายังมีอีกหลายๆ คนที่สงสัยถึงความต่างระหว่างอิฐมวลเบา อิฐบล็อก และอิฐมอญ จึงขออธิบายให้มองเห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น

  • อิฐบล็อก มักถูกผลิตในปริมาณมากๆ มีรูตรงกลางเพื่อระบายความร้อน ราคาประหยัดที่สุดในบรรดาอิฐทุกชนิด ก่อสร้างได้รวดเร็ว แข็งแรง แต่ไม่ใช้กับการเดินท่อต่าง ๆ ในผนัง เพราะเจาะเข้าไปไม่ได้
  • อิฐมอญ จะมีสีแดงโดดเด่นทำจากดินเหนียวเผา ทนทาน สร้างแล้วอยู่ได้ยาวนาน ราคาไม่แพง แต่จะมีน้ำหนักมาก จึงออกแบบต่างๆ ได้น้อย อีกทั้งยังกักเก็บความร้อนเอาไว้จึงทำให้บ้านอบอ้าว เพราะมีการถ่ายความร้อนออกสู่พื้นที่อุณหภูมิต่ำกว่าความร้อนในตนเอง

ความต่างจากอิฐมอญ

3. ประเภทของอิฐมวลเบา

หลักๆ แล้วอิฐมวลเบาจะแบ่งออกได้ 2 ประเภท คือ

  • แบบไม่ผ่านการอบไอน้ำแรงดันสูง แยกได้อีก 2 ชนิดคือ การใช้วัสดุต่างๆ เช่น เม็ดโฟม ขี้เลื่อย ชานอ้อย ขี้เถ้า ฯลฯ มาเป็นส่วนผสมทำให้น้ำหนักเบา แต่ไม่ทนทาน และการใช้สารเคมีเป็นส่วนผสม เพื่อให้เนื้อสัมผัสแตกตัว แต่มักแตกร้าวหดตัวง่าย ไม่แข็งแรงมากนัก
  • แบบผ่านการอบไอน้ำแรงดันสูง แยกได้อีก 2 ชนิดเช่นกันคือ ชนิดที่ใช้ปูนขาวเป็นส่วนผสมหลัก แต่ด้วยการที่ปูนขาวนั้นกะปริมาณได้ยากจึงมักทำให้เนื้ออิฐไม่ค่อยเรียบเนียน และไม่ดูดซึมน้ำ สำหรับอีกชนิดคือที่ใช้ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ประเภท 1 เป็นส่วนผสมหลัก ซึ่งถือว่าได้รับความนิยมสูงเพราะอิฐมีความแข็งแรง ใช้งานได้ในระยะยาวจากการตกผลึกของวัสดุ

ประเภท

4. ประโยชน์มีอะไรบ้างนะ?

ประโยชน์หลักๆ ของอิฐมวลเบาคือ นิยมนำมาใช้ในการสร้างบ้าน ทำเป็นผนังหรือรั้ว เพราะช่วยระบายความร้อนได้ดี ทำให้บ้านเย็นสบาย ขนย้ายง่าย ก่อสร้างเร็ว ประหยัดเวลา ช่วยประหยัดค่าไฟให้กับบ้านหลังดังกล่าว อีกทั้งยังเป็นฉนวนกันไฟจึงทำให้ป้องกันการเกิดไฟไหม้ หรือเหตุไฟลุกลามจากบ้านหลังข้างๆ หรือบริเวณอื่นของตัวบ้านได้เป็นอย่างดี อีกหนึ่งการใช้ประโยชน์คือ มักทำเป็นห้องหรือสถานที่เก็บเสียง เช่น ห้องซ้อมดนตรี โรงภาพยนตร์ หรือห้องประชุม ด้วยฟองอากาศที่อยู่ภายในจึงทำให้วัสดุประเภทนี้ดูดซับเสียงภายนอกเอาไว้ไม่มารบกวนคนที่อยู่ข้างใน

ประโยชน์

5. ดีอย่างไร ถึงต้องใช้อิฐมวลเบา?

อิฐมวลเบาถือเป็นดาวเด่นที่นิยมใช้กันอย่างมาก เนื่องจากคุณสมบัติที่ทนทานต่อสภาพอากาศในเมืองไทยที่ไม่ว่าจะแดดจัดหรือฝนตกหนักก็หายห่วง อีกทั้งยังเป็นฉนวนกันความร้อนและฉนวนกันไฟ จึงทำให้ภายในตัวบ้านมีอากาศถ่ายเทได้ดี กันไฟลุกลามไปส่วนต่างๆ ของตัวบ้าน  น้ำหนักเบา ขนย้ายสะดวก ก่อสร้างได้รวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีลวดลายสวยงาม สามารถออกแบบบ้านหรืออาคารในแบบต่างๆ ได้ตามต้องการ กันเสียงจากภายนอกไม่ให้สะท้อนเข้ามาด้านใน เพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับผู้อยู่อาศัยหรือคนทำงานใช้สมาธิได้ดีมากเลยทีเดียว

จุดเด่น

6. จุดด้อยก็มีนะ

ด้วยลักษณะภายในที่เป็นโพรงอากาศจึงทำให้การรับน้ำหนักมากๆ อาจทำให้วัสดุแตกร้าวพังถล่มลงมาได้หากเลือกโครงสร้างที่ไม่ดีพอ อีกทั้งอิฐมวลเบายังเป็นวัสดุที่ดูดซับน้ำได้ดีมากๆ หากนำไปใช้ทำห้องน้ำ หรือทำผนังในบริเวณที่ต้องเจอกับน้ำบ่อยๆ จะทำให้เกิดความชื้นภายในและส่งผลเสียต่อคุณภาพของอิฐมวลเบาได้ จึงนิยมใช้กับผนังหรือพื้นที่ที่ไม่ค่อยเจอน้ำมากนัก

จุดด้อย

7. เรื่องราคาว่าอย่างไร?

ในเรื่องของราคาจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่างทั้งแบรนด์ของวัสดุ ขนาด เกรด ซึ่งราคาต่อก้อนตกอยู่ราวๆ 10 บาทขึ้นไป แต่ถ้าหากเป็นแบบคุณภาพดี ก็อาจมีราคาถึงก้อนละ 20 บาท อย่างไรก็ตามในกรณีที่ใช้บริการช่างก่อสร้างส่วนใหญ่แล้วช่างมักคิดราคาเป็นพื้นที่ต่อตารางเมตร ซึ่งราคาดังกล่าวมักรวมเอาราคาของอิฐมวลเบาและค่าแรงช่างเอาไว้เรียบร้อยแล้ว ใครสะดวกแบบไหนก็ลองตรวจสอบราคาให้ดีก่อนเริ่มงาน

ราคา

8. ใช้กับปูนทั่วไปไม่ได้นะ!

ต้องเข้าใจว่าหากเลือกใช้อิฐมวลเบาในการก่อสร้าง ปูนที่ใช้ฉาบจะต้องเป็นรูปแบบเฉพาะสำหรับงานอิฐมวลเบาเท่านั้น (บางแห่งเรียกปูนกาว) เพื่อให้ยึดเกาะได้เป็นอย่างดี ไม่เกิดการแตกร้าว อย่าใช้ปูนทรายเนื่องจากแห้งเร็วเกินไป ไม่เกาะตัว โอกาสแตกร้าวมีสูง ทั้งนี้ระหว่างการฉาบไม่ต้องให้หนาเหมือนกับการใช้อิฐมอญ เนื่องจากอิฐมวลเบามีหน้าที่เรียบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพียงแค่ฉาบบางๆ ก็ได้งานที่ออกมาสวยงาม ไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากจนเกินไป

ปูน

9. ขั้นตอนการฉาบอิฐมวลเบา

  • เริ่มต้นจากการทำความสะอาดในบริเวณที่จะใช้อิฐมวลเบา ทั้งการกวาดเอาฝุ่นผงและล้างด้วยน้ำ สร้างระยะแนวการก่ออิฐให้ชัดเจน ขึงเส้นเอ็นตามแนวดังกล่าวช่วยให้ขั้นตอนต่อไปง่ายขึ้น
  • ทาปูนบนพื้นชั้นแรกที่จะก่อ แล้วนำปูนทรายมากะระดับความสมดุลอีกชั้น โดยก่อให้หนาขึ้น 2 เท่าจากความสูงที่จะทำเพื่อให้เกิดความแน่นหนาเมื่อวางตัววัสดุลงไป ทั้งนี้อย่าให้เกิน 5 เซนติเมตร เพราะจะแตกร้าวได้ง่าย
  • ป้ายปูนลงไปที่ตัวก้อนอิฐตามขนาดตามแนวด้านล่างและบริเวณที่ต้องยึดติดโครงสร้าง (แนะนำให้ฉาบปูนตรงโครงสร้างด้วย) จากนั้นจึงค่อยๆ วางอิฐซ้อนกันลงไป โดยต้องวางให้เรียบโดยเฉพาะตัวฐานล่าง
  • เคาะให้เกิดระดับที่สมดุล สังเกตระดับน้ำต้องเสมอกัน วัดความลาดเอียงตามแนวนอนและแนวขวาง ทำแบบนี้เป็นชั้นไปเรื่อยๆ จนได้ระดับต้องการ ฉาบปูนทับด้านบนอีกรอบ

ก่อผนัง

10. รักเงินในกระเป๋า เลือกอิฐมวลเบา!

ใช่แล้ว! เพราะบ้านที่สร้างด้วยอิฐมวลเบาจะทำให้สภาพอากาศภายในบ้านไม่ร้อนอบอ้าว จึงทำให้ประหยัดพลังงาน ประหยัดค่าไฟ ไม่ต้องเปิดแอร์ก็อยู่ได้สบายๆ แถมก่อสร้างได้รวดเร็วทันใจ ประหยัดเงินค่าแรงช่างได้เยอะ โดยรวมจึงถือเป็นวัสดุที่น่าลงทุนมากทีเดียว

ข้อดี

เป็นอย่างไรกันบ้างกับประโยชน์ของอิฐมวลเบา ใครที่ต้องการสร้างบ้านประหยัดพลังงานแถมต้องการประหยัดเงินในกระเป๋า คงเห็นถึงประโยชน์และความพิเศษของวัสดุประเภทนี้เป็นอย่างดี รับรองว่าคุ้มค่า ไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน!

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร